“คุณถามบ้าอะไร ผมคงใช้หมดก่อนที่จะมีเงินหมื่นล้าน ทะเลทรายมันแห้งแล้ง เพราะความสมบูรณ์ถูกขโมยไป มันต้องอาศัยแม่น้ำทุกสาย คนที่มีเงินหมื่นล้านมันก็แค่ขโมยมาจากคนอื่น คุณยังจะมาถามหาเรื่องดีๆ จากพวกร่ำรวยเป็นหมื่นล้าน แค่มันหยุดรวย โลกก็ดีขึ้นแล้ว”
-Pepe 2015–อดีตประธานาธิบดีแนวสังคมนิยมประเทศอุรุกวัย
กล่าวต่อคำถามว่าถ้ามีเงินหมื่นล้านคุณจะทำอะไร
เมื่อพูดถึงการจัดสวัสดิการ ระบบที่คนไทยทุกระดับจนถึงถึงรัฐบาลคุ้นเคยคือวิธีการ ‘ควานหาคนจน’ โดยการมองว่า ‘คนที่จนที่สุด’ หรือ ‘คนที่น่าสงสารที่สุด’ นั้นสมควรต่อการได้รับการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ วิธีคิดนี้ฝังรากลึกต่อการทำความเข้าใจสวัสดิการทุกระดับ ในระดับ “รัฐ” ก็มีหน่วยงานทั้งระดับกระทรวงถึงองค์การมหาชนที่ทำหน้าที่ในการพิสูจน์ความยากจนเพื่อรับสวัสดิการ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีโครงการบริจาคตามเทศกาล กลุ่มชนชั้นกลางเองก็มีการร่วมสนับสนุนการรับบริจาคอย่างแพร่หลายทั้งโดยตรงโดยอ้อม แม้กระทั่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเองก็ยังมีกลไกช่วยเหลืออุปถัมภ์กันตามสภาพทรัพยากรที่มี
ไม่เป็นการเกินเลยนักหากจะกล่าวว่าประเทศไทยนับเป็นประเทศที่มีความตื่นตัวกับ ‘ผู้ยากไร้’ มากอันดับต้นๆในโลก รายการโทรทัศน์จำนวนมากอุทิศช่วงเวลากับการสัมภาษณ์คนสู้ชีวิต ผู้คนอับโชค และการช่วยเหลือ การระดมทุนจากโรงพยาบาลรัฐเพื่อพัฒนาวัคซีน หรือทุนการศึกษานักเรียนยากจนก็ปรากฏทั่วไป ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่มีความชำนาญในการช่วยเหลือคนจนได้อย่างตรงจุดเพราะบ่มเพาะกิจกรรมเหล่านี้มามากกว่าครึ่งศตวรรษ
แต่เหตุใดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยกลับเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ความมั่งคั่งของชนชั้นนำส่วนน้อยมากขึ้นแม้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่คนส่วนใหญ่ยังต้องทำงานอย่างหนัก กลไกสวัสดิการแบบบควานหาคนจนของไทย เหตุใดถึงล้มเหลว บทความนี้จึงชวนทุกท่านร่วมพิจารณา จุดล้มเหลวสำคัญของระบบนี้ ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง
ดีกว่าไม่ทำอะไร แต่เราใช้งบประมาณกับการสงเคราะห์ไม่น้อย
ดัชนีผู้บริจาคระดับโลกชี้ให้เห็นว่า จากการสำรวจประเทศใดที่มีอัตราการช่วยเหลือระหว่างกันสูงที่สุดในโลก โดยวัดจาก การบริจาค การอาสาสมัคร และการช่วยเหลือคนแปลกหน้า ปรากฏว่าประเทศไทยติดอันดับต้นของโลกมาหลายปีติดต่อกัน โดยอันดับหนึ่งตลอดกาลที่ไทยไม่สามารถล้มได้คือ เมียนมา ประเทศเพื่อนบ้านของไทย ในปี ค.ศ.2018 คนเมียนมา กว่าร้อยละ 81 บริจาคเงิน ขณะที่ไทยมีประชากรร้อยละ 71 ที่บริจาคเงิน[1] มีหลายประเทศที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจสังคมหลากหลายปะปนมาจาจากหลายภูมิภาคในลำดับต้น
การสรุปของผลสำรวจบอกว่าประเทศที่มีรายได้สูงก็จะมีแนวโน้มบริจาค และอาสาสมัครมากกว่าประเทศรายได้น้อย แต่ดูเหมือนว่า ไทย พม่า และอินโดนีเซียจะเป็นข้อยกเว้นมาหลายปี ซึ่งผู้สำรวจพยายามใช้ปัจจัยทางศาสนาเข้ามาอธิบาย อันหมายความว่าคนไทย 7 คนใน 10 คน มีการบริจาค แต่น่าสนใจว่าสถิติการอาสาสมัคร และ การช่วยคนแปลกหน้าของไทยไม่ได้สูงเท่ากับสถิติการบริจาค ทั้งนี้ TCIJ ก็ได้รายงานในปี ค.ศ.2018 เช่นกันว่ากลุ่มคนทั่วไปในไทยในประเทศไทยบริจาค สูงถึงร้อยละ 2.69 ของรายได้[2]
หรือหากเทียบกับรายได้เฉลี่ยครัวเรือนแล้ว
อาจสูงถึง 700 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน
นอกจากในระดับปัจเจกชนแล้ว บริษัทขนาดใหญ่อย่าง CP-ALL ก็บริจาคสูงถึงปีละ 815 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย[3] จากรายงานประจำปีของเครือเซ็นทรัลพัฒนาก็มีการบริจาคในปี พ.ศ.2561 ที่เป็นตัวเงิน ไม่น้อยกว่า 28 ล้านบาท และการบริจาคที่ไม่เป็นตัวเงินอีกจำนวนมาก บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทยก็ล้วนมีงบประมาณด้านความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ต่ำกว่าหลักสิบล้านบาทต่อปีสำหรับกลุ่มที่มีความต้องการเฉพาะ
และเมื่อไล่มาถึงระดับรัฐ รัฐบาลก็มีการจัดตั้ง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จัดตั้งขึ้นตามข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา โดยปรากฎในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 54 โดยได้งบประมาณไม่น้อยกว่าปีละ 2,000 ล้านบาท โดยเป็นกองทุนที่มีระบบ Proxy-Mean-Test หรือการพิสูจน์ซ้ำความยากจนอย่างเข้มงวดเพื่อให้ได้คนที่จนที่สุดอย่างแท้จริง
พร้อมกันนั้นโครงการหลวง-โครงการพระราชดำริ (เศรษฐกิจพอเพียง) ก็ยังมีงบประมาณถึง 11,434 ล้านบาท[4] ในร่างงบประมาณปี พ.ศ.2564 เราจะเห็นได้ว่าจะ รากหญ้า เจ้าสัว รัฐบาล จนถึงพระมหากษัตริย์ ล้วนมีส่วนเกี่ยวสัมพันธ์กับงบประมาณด้านการสงเคราะห์และการบริจาคที่สูงตามอัตราส่วนรายได้ หน้าที่ และความมั่งคั่งของตน
“พวกเรา” คิดอะไรอยู่”
โจทย์นี้กลายเป็นโจทย์ของเราทั้งสังคมเพราะเสมือนว่าเราเห็นว่าเป็นฉันทามติว่า สวัสดิการและการช่วยเหลือทุกอย่างสามารถเริ่มได้ที่ ‘ตัวเราเอง’ ผ่าน งบประมาณมหาศาลที่ลงไปต่อเนื่องหลายสิบปี แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้แก้ปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ ไม่แม้แต่การช่วยเหลือในระดับปัจเจกชนที่การช่วยแบบสงเคราะห์ควานหาผู้ยากไร้ปรารถนา ก็ไม่สามารถยกระดับหรือเปลี่ยนชีวิตพวกเขาขึ้นมาได้ ซึ่งเราอาจจะสรุปฐานความคิดสำคัญที่อยู่ใน ‘พวกเรา’ ทุกชนชั้นอาจได้ลักษณะร่วมสามประการ
1.เมื่อทรัพยากรมีจำกัด ก็ต้องช่วยคนที่ลำบากก่อน ฐานความคิดนี้มาจากความเชื่อที่ว่าประเทศไทยเป็นประเทศยากจน ไม่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ไม่มีทรัพยากรเพียงพอ จึงต้องควานหาคนที่จนที่สุด และพิสูจน์ว่าพวกเขาจนจริงๆ แล้วนำทรัพยากรที่เหมาะสม เพื่อให้ประทังชีวิตต่อไปได้ ช่วยให้ความหิวหายไปในแต่ละวัน อย่างน้อยก็ทำให้เราข่มตาหลับนอนได้ว่า วันนี้เราได้ช่วยชีวิตพวกเขาไว้ แต่ความจริงเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามว่า เรามีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ที่จะทำให้ทุกคนไม่ต้องรอคอยความเมตตา
ทำให้ทุกคนตระหนักได้ว่าชีวิตที่ดีเป็นสิทธิ์ไม่ใช่เพียงแค่ความกรุณา
2.อิทธิพลแนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบเสรีนิยมกระแสหลัก ในการมองว่าสวัสดิการที่มากเกินไปจะส่งผลเสียต่อพฤติกรรมของประชาชนเช่น ขี้เกียจ ไม่ทำงาน หรือพยายามโกงสวัสดิการ แนวคิดนี้ถูกตกตะกอนในการกำหนดนโยบายของรัฐไล่มาจนถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในท้องที่ รวมถึงเจ้าหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชน ดังนั้นสวัสดิการจึงไม่ควรมากเกินไป ควรให้น้อยๆ พอดี กับคนที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งสามารถไปได้ด้วยกันกับลักษณะ ‘เวทนานิยม’ ในสังคมไทย ที่ปัจจุบันการสัมภาษณ์ทุนการศึกษาของหลายมหาวิทยาลัย ก็ใช้กระบวนการสัมภาษณ์ที่ไม่ต่างจากเกมส์โชว์ชิงรางวัลของคนคนยากจน เพราะหากให้มากเกินไป พวกเขาย่อมไม่น่าสงสาร และมีชีวิตที่เข้าใกล้คนส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังทางศีลธรรมอย่างต่อเนื่อง สำหรับการจัดสวัสดิการของผู้ยากไร้
3.สวัสดิการไม่ใช่เรื่องของทุกคน จากเงื่อนไขสองข้อด้านบนสวัสดิการจึงไม่ใช่เรื่องของทุกคน เป็นเรื่องคนยากจนผู้มีรายได้น้อย เช่นนั้นสวัสดิการที่รัฐจัดให้ หรือที่กลุ่มธุรกิจบริจาค หรือชาวบ้านจัดให้กันเองจึงมีคุณภาพที่ต่ำกว่าสิ่งที่ กลไกตลาด หรือ การที่เราบริโภคตามความพอใจ หรือกล่าวให้เห็นภาพคือโรงเรียนเทศบาลย่อมไม่มีคุณภาพเท่าโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาลชุมชนคุณภาพย่อมไม่เท่าโรงพยาบาลเอกชนราคาแพง ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้มโนทัศน์สวัสดิการในฐานะสิทธิ์จางหายและไม่เป็นที่คุ้นชินในสังคมไทย
ล้มเหลวหรือไม่
แต่สุดท้ายก็เป็นที่ทราบกันว่าระบบควานหาคนจนของไทยล้มเหลว ซึ่งปรากฏชัดในส่วนนโยบายรัฐ เดิมที่นั้นเราใช้ระบบสงเคราะห์สำหรับการรับสิทธิ์การรักษาพยาบาลโดยที่คนจนที่ไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลต้องทำการสัมภาษณ์พิสูจน์ความจน กลไกเช่นนี้กันคนที่ยากจนที่สุดออกจากการรักษาพยาบาล ไม่มีใครต้องการให้มีการพิสูจน์ความจนด้วยการพูดถึงความยากลำบากของตนเอง กลไกเช่นนี้จางหายไปเมื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก้าวขึ้นมาแทนที่ สิ่งสำคัญคือคนที่จนที่สุด สามารถเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลได้มากกว่าการควานหาพิสูจน์ความจน เช่นเดียวกันกับระบบเบี้ยผู้สูงอายุที่เคยให้เฉพาะกลุ่มคนแก่ยากจน ซึ่งมีปัญหาอย่างมากในการพิสูจน์ว่าใครควรได้และไม่ควรได้ ในชุมชนที่คนแก่ล้วนลำบากเหมือนกัน กระทั่งการปรับสู่เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ก็นับว่ากลายเป็นโครงการที่เปลี่ยนชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากจนที่สุดในชุมชนได้ แม้ไม่ได้เป็นโยบายบายพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนยากจนก็ตาม
มีงานวิจัยของ Therese Saltkjel กับ Ira Malmberg-Heimonen [5]ในปี ค.ศ.2017 ได้ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มที่มีลักษณะประชากรที่ส่งผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การมีโรคประจำตัว มีลูกที่มีโรคประจำตัว ตลอดจนการว่างงาน และไม่จบมหาวิทยาลัย
น่าสนใจว่า นโยบายสวัสดิการที่มุ่งไปที่กลุ่มคนยากจน
กลับไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับระบบที่มีสวัสดิการแบบถ้วนหน้า
ที่ให้ทุกคนสามารถมีชีวิตที่วางแผนได้มากขึ้น
เราควรทำอะไร
เราอาจจำเป็นต้องทำหลายอย่างไปพร้อมกันโดย มีเป้าระยะยาวร่วมกัน และเป้าระยะยาวที่จำเป็นต้องพูดถึงร่วมกันไม่ว่าเรามีจุดยืนทางชนชั้นรูปแบบใด แต่คือการผลักดันให้เกิด ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ ซึ่งนับเป็นอิฐก้อนแรกในการที่เราจะสามารถพูดถึงสังคมที่มีความหลากหลายและเคารพระหว่างกันได้ จริงอยู่ว่ากลุ่มคนในสังคมมีความต้องการรายละเอียดที่แตกต่างหลากหลายกัน แต่ย่อมมีสิ่งร่วมกันที่การพูดถึงสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่เป็นการคิดแทน หรือยัดเยียด เพราะเป็นสิ่งสามัญที่เราต่างต้องการร่วมกัน เหมือนดังเพลง ‘อยากมีชีวิตที่ดีกว่านี้’ ของวงสามัญชน อะไรที่ทำให้เราไม่สามารถข่มตาหลับนอนได้ในแต่ละคืน สิ่งนั้นคือความหวาดกลัวพื้นฐานในชีวิต
เมื่อช่วงสิ้นปี พ.ศ.2563 ผมมีโอกาสร่วมงานเสวนากับ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด เรื่องอนาคตเกษตรกรไทยและรัฐสวัสดิการ อ.เดชรัตน์ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า อนาคตของอาชีพเกษตรกรมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรียกว่าทุน รอบการผลิต เมล็ดพันธุ์ ตลาด วัตถุดิบ สิ่งเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จของอาชีพ แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดไม่แพ้กันที่จะทำให้คนอยู่ในอาชีพนี้ หรือเลือกอาชีพนี้ต่อไปได้ คือ “รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า” ซึ่งมันคือเรื่องพื้นฐานอย่างเงินเลี้ยงดูเด็ก การประกันรายได้ที่เพียงพอ โอกาสในการรับการศึกษาที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและเป็นที่ยอมรับ กระทั่งเงินบำนาญสำหรับพ่อแม่ของพวกเขาที่ทำให้พวกเขาไม่ต้องกังวล
น่าสนใจอีกด้วยว่า ประเทศที่คนสามารถเลือกชะตากรรมของตนเองได้ อิสระในการศึกษา รวมถึงการเลือกวิถีชีวิตในทางพหุวัฒนธรรมของตนได้ดีคือกลุ่มประเทศรัฐสวัสดิการอย่าง นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน รวมถึงเดนมาร์ก ที่มักจะติดอันดับแรกๆ ของประเทศที่คนกลุ่มที่จนที่สุดหรือกลุ่มที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากคนส่วนใหญ่มีความสุขและพอใจในชีวิตสูงกว่า กลุ่มประเทศที่สวัสดิการต่ำและผูกคุณภาพชีวิตของผู้คนที่ยากไร้ไว้กับความเมตตา
ดังนั้นหัวใจสำคัญหากเรากำลังพูดถึงวิถีชีวิตที่ทุกคนสามารถเลือกได้ ไม่ว่าในแง่มุมของอาชีพ ศาสนา วัฒนธรรม เราจำเป็นต้องขยายการมองถึงลักษณะสวัสดิการถ้วนหน้า สวัสดิการในฐานะสิทธิสำหรับประชาชนทุกคน เมื่อนั้นคนถึงจะสามารถเลือกและกำหนดชะตาของพวกเขาได้อย่างเสรีที่แท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://www.cafonline.org/docs/default-source/about-us-publications/caf_wgi_10th_edition_report_2712a_web_101019.pdf
[2] https://www.tcijthai.com/news/2019/9/scoop/9417
[3] https://www.cpall.co.th/sustain/social-dimension/social-and-community-support
[4] https://prachatai.com/journal/2020/08/89306
[5] https://onlinelibrary.wiley.com/doi/abs/10.1111/spol.12217