“ในวันครบรอบ 2 ปีของการพิชิตกรุงคาบูล เราขอแสดงความยินดีกับนักรบศักดิ์สิทธิ์ (mujahid) ของอัฟกานิสถาน และขอให้พวกเขาขอบคุณอัลเลาะห์ สำหรับชัยชนะอันยิ่งใหญ่นี้” ซาบิฮุลเลาะห์ มูจาฮิด (Zabihullah Mujahid) โฆษกกลุ่มตาลีบันกล่าวในแถลงการณ์
เมื่อวานนี้ (15 สิงหาคม) นับเป็นวันครบรอบ 2 ปีที่กลุ่มตาลีบันบุกยึดอัฟกานิสถาน ซึ่งก็นับเป็น 2 ปีที่ชาวอัฟกันทั่วประเทศต้องอยู่ภายใต้การปกครองของตาลีบัน และยังเป็นเวลา 2 ปีที่ผู้หญิงในอัฟกันจำนวนมากถูกริดลอนสิทธิต่างๆ ไป
ในวันนี้ (16 สิงหาคม) The MATTER จึงอยากชวนไปดูเหตุการณ์บางส่วนที่เคยเกิดขึ้นตลอด 2 ปีภายใต้การปกครองของตาลีบัน ว่าผู้หญิงอัฟกานิสถานถูกริดลอนสิทธิอะไรไปบ้าง?
1. ด้านการศึกษา
ทันทีที่ตาลีบันขึ้นสู่อำนาจ ก็สั่งปิดโรงเรียนมัธยมสำหรับผู้หญิง ก่อนจะเปิดอีกครั้งในช่วงมีนาคม 2022 แล้วประกาศปิดอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังจากประกาศ
อีกทั้ง 1 ในคำสัญญาของตาลีบันคือจะ ‘อนุญาต’ ให้ผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัยได้ ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้หญิงจะต้องใส่นิกอบ (ผ้าปกปิดใบหน้าเห็นเฉพาะดวงตา) เอาไว้ รวมถึงห้ามชาย-หญิงนั่งเรียนและไม่ให้ใช้ชีวิตด้วยกัน ทั้งยังกำหนดให้อาจารย์ผู้สอนเป็นชายสูงวัยหรืออาจารย์เพศเดียวกับผู้เรียนเท่านั้นอีกด้วย
ต่อมาในช่วงกันยายน 2022 ก็มีการเพิ่มข้อกำหนด ห้ามผู้หญิงลงทะเบียนเรียนในหลายสาขาวิชา อาทิ สัตวแพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เกษตรศาสตร์ และสื่อสารมวลชน
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2022 ตาลีบันก็ประกาศห้ามผู้หญิงเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ซึ่งช่วงนั้นก็เป็นช่วงเวลาแห่งการสอบปลายภาคของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย นั่นจึงทำให้นักศึกษาหญิงในระดับปริญญาตรีที่กำลังศึกษาในภาคเรียนสุดท้ายและกำลังจะจบการศึกษาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าสอบ และไม่ได้รับอนุมัติให้รับปริญญาหรือเป็นผู้สำเร็จการศึกษา
โดยทางตาลีบันอ้างว่า เพราะนักศึกษาหญิงไม่ยอมแต่งกายให้เหมาะสม และมาตรการแยกชายกับหญิงไม่สามารถปฏิบัติได้จริง ทั้งยังระบุอีกว่าผู้หญิงควรได้เรียน แต่ไม่ใช่ในวิชาที่ขัดแย้งกับหลักอิสลาม
2. การประกอบอาชีพ
วันที่ 25 สิงหาคม 2021 ไม่นานนักหลังจากตาลีบันยึดครองอัฟกานิสถานได้ ก็ออกคำสั่งให้ผู้หญิงชาวอัฟกันทำงานอยู่บ้านชั่วคราว เพื่อความปลอดภัยของผู้หญิงทำงานชาวอัฟกันเอง เนื่องจากกองกำลังบางส่วน ยังไม่ได้รับการฝึกอบรมว่าควรจะปฏิบัติต่อผู้หญิงอย่างไร หรือควรจะพูดจากับพวกเธออย่างไร
หลังจากนั้นไม่นาน ตาลีบันก็ออกประกาศในช่วงกันยายน 2021 ว่าผู้หญิงไม่มีสิทธิเรียนหรือทำงานภายในสถานที่เดียวกันกับผู้ชาย ไม่มีสิทธิทำงานร่วมกับผู้ชาย โดยข้อกำหนดนี้จะถูกบังคับใช้ในเกือบทุกอาชีพ รวมถึงภาคธนาคารและสื่อมวลชน
ข้อกำจัดด้านการประกอบอาชีพยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะยังคงสั่งห้ามให้ผู้หญิงที่เป็นครู-อาจารย์ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศกลับเข้าทำงาน มีการขอให้สถานีโทรทัศน์ของอัฟกานิสถานหยุดฉายละครที่มีนักแสดงหญิง เรียกร้องให้นักข่าวโทรทัศน์หญิงสวมผ้าโพกศีรษะขณะนำเสนอข่าว และยังห้ามผู้หญิงทำงานในองค์กรด้าน NGO ที่อยู่ในอัฟกานิสถานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่างชาติ หรือในประเทศ
อีกทั้งยังออกคำสั่งปิดร้านทำผมและร้านเสริมสวยในอัฟกานิสถาน ซึ่งมีผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 60,000 คนอีกเช่นกัน
3. การคุมกำเนิด
กลุ่มตาลีบันออกคำสั่งให้ยุติการขายยาคุมกำเนิดในเมืองหลัก 2 แห่งของอัฟกานิสถาน ทั้งพวกเขายังออกไปตามบ้านเรือนของประชาชน เพื่อข่มขู่ผู้หญิง รวมทั้งยังสั่งให้ร้านขายยางดการจำหน่ายยาคุม และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุมกำเนิดทั้งหมด โดยเขาอ้างว่าการคุมกำเนิดเป็นแผนการสมรู้ร่วมคิดของชาติตะวันตก เพื่อควบคุมประชากรชาวมุสลิมให้น้อยลง
“พวกเขามาที่ร้านของฉัน 2 ครั้ง พร้อมกับเอาปืนมาขู่ฉันอีกว่า ห้ามขายยาคุมกำเนิดเป็นอันขาด และพวกเขายังตรวจสอบร้านขายยาทุกแห่งในกรุงคาบูลเป็นประจำ ดังนั้น ในตอนนี้เราจำเป็นต้องหยุดขายสินค้าประเภทนี้แล้ว” เจ้าของร้านขายยารายหนึ่งกล่าว
4. การเดินทาง
ตาลีบันออกกฎไม่ให้บริการขนส่ง ให้บริการผู้หญิงที่จะเดินทางไกลกว่า 72 กิโลเมตร หากเธอไม่ได้มาพร้อมกับสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด และญาติที่ใช้ชิดนั้นต้องเป็นผู้ชายด้วย
อีกทั้งยังเรียกร้องให้เจ้าของรถขนส่งทุกคันให้บริการเฉพาะผู้หญิงที่สวมผ้าคลุมศีรษะหรือผ้าคลุมหน้าแบบอิสลามเท่านั้น ยังห้ามประชาชนเปิดเพลงบนรถด้วย
นอกจากนี้ ตาลีบันมีคำสั่งห้ามผู้หญิงเข้าสวนสาธารณะ, งานรื่นเริง, ยิม และโรงอาบน้ำสาธารณะ โดยอ้างว่าที่ต้องออกคำสั่งดังกล่าว เป็นเพราะผู้หญิงอัฟกันไม่ยอมสวมผ้าคลุมหน้าตามที่มีคำสั่งออกมาและยังเพิกเฉยต่อนโยบายที่ห้ามชายหญิงอยู่ด้วยกัน
5. การแต่งกาย
ตาลีบันออกประกาศควบคุมการแต่งกายของผู้หญิง ระบุว่าต้องคลุมผ้าแบบปิดมิดชิดตั้งแต่ดวงตาจรดปลายเท้า ทั้งเสื้อผ้าที่สวมใส่ยังต้องไม่รัดรูปจนเห็นสัดส่วนของร่างกาย และไม่บางจนเห็นเนื้อตัวด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การแต่งกายดังกล่าวก็ไม่ใช่การแต่งกายตามวัฒนธรรมเดิมของชาวอัฟกานิสถาน เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา [หลังตาลีบันกลุ่มเดิมหมดอำนาจ และก่อนหน้าที่ตาลีบันชุดใหม่นี้จะขึ้นสู่อำนาจ] ผู้หญิงอัฟกันมักจะสวมผ้าถักลายสีสันสดใส ประดับด้วยเครื่องประดับที่ทำจากกระจก
รวมไปถึง พวกเธอก็อาจจะเลือกใช้ผ้าสีดำ ห่มร่างกายท่อนบน และใส่กางเกงขายาวหรือยีนส์ในท่อนล่าง เพื่อเดินทางไปไหนมาไหนในประเทศของพวกเธอก่อนหน้านี้อีกเช่นกัน
โดยตาลีบันระบุว่า การแต่งกายสีสันสดใสดังกล่าวนั้น ผิดไปจากกฎทางศาสนาอิสลามและยังได้รับอิทธิพลจากต่างชาติ ซึ่งไม่ได้เป็นภาพแทนของหญิงชาวอัฟกานิสถานที่แท้จริง
สถานการณ์ด้านสิทิสตรีในตาลีบันยังคงน่าเป็นห่วง โดย มาห์บูบา เซราจ (Mahbouba Seraj) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีชาวอัฟกันและผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 2023 ก็กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิสตรีใต้การปกครองของตาลีบันว่า “ไม่มีเสรีภาพของผู้หญิงอีกต่อไป…ผู้หญิงในอัฟกานิสถานกําลังถูกลบออกจากสังคมอย่างช้าๆ จากชีวิต จากทุกสิ่ง – ความคิดเห็น เสียงของพวกเขา สิ่งที่พวกเขาคิด พวกเขาอยู่ที่ไหน”
อ้างอิงจาก