หลังจากที่วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาระบุว่าแคนดิเดตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องแสดงวิสัยทัศน์ ก็ทำให้ประชาชนบางส่วนออกมาตั้งคำถามว่าทำไมเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยจึงไม่ออกมาแสดงวิสัยทัศน์ พร้อมยังเรียกร้องให้ว่าที่ผู้นำคนใหม่ออกมาแสดงวิสัยทัศน์อีกเช่นกัน
ในวันนี้ (21 สิงหาคม) The MATTER จึงได้ติดต่อหา โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อขอคำอธิบายว่าแล้วการให้แคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์นั้น สำคัญอย่างไร?
อาจารย์โอฬารมองว่า การแสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาชน ก็คือการ “แสดงคำมั่นสัญญากับตัวแทนประชาคมผ่านรัฐสภา” เป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของว่าที่ผู้นำผ่านเวทีที่เป็นทางการของประชาชน เป็นการแสดงออกว่าจะนำพาประเทศอย่างไร มีความคิด ความอ่านหรือแนวทางที่จะนำพาประเทศอย่างไร กระทั่งยังเป็นเวทีที่จะชี้แจงปมประเด็นต่างๆ ที่สมาชิกในสรัฐสภากังวลใจอีกเช่นกัน
แล้วการที่เศรษฐาเคยกล่าวถึงแนวทางการบริหารประเทศผ่านช่องทางส่วนตัวแล้วโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย หรือตอบคำถามนักข่าวในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมานั้นไม่เพียงพอหรือ? สำหรับดังกล่าว อาจารย์โอฬารมองว่ามันเป็นการสื่อสารกับพื้นที่สาธารณะที่ไม่เป็นทางการ ต่างกับการให้ไปแสดงวิสัยทัศน์ในรัฐสภา เนื่องจากรัฐสภาเป็นตัวแทนที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างเป็นทางการอีกที
“ถึงแม้ว่าประชาชน 60 ล้านคนไม่ได้ฟัง แต่อย่างน้อยมันเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งมาทำหน้าที่แทนในสภา ก็เหมือนกับแสดงให้เห็นว่า คุณเศรษฐาได้แสดงวิสัยทัศน์ ได้ตอบข้อซักถาม ข้อสงสัยจากตัวแทนประชาชนอย่างเป็นทางการ มันมีความหมายตรงนี้ ในเวทีของตัวแทนประชาชน ซึ่งมันเป็นทางการมากกว่าการส่งสารในเวทีสาธารณะผ่านคลิป”
อีกทั้ง อาจารย์โอฬารยังมองว่า การที่แคนดิเดตนายกฯ ไม่ไปแสดงวิสัยทัศน์ต่อรัฐสภา ด้านหนึ่งก็คือการสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่ได้ให้ความสำคัญกับรัฐสภาซึ่งเป็นสภาของตัวแทนประชาชน และยังสะท้อนเจตนาว่าเขาไม่ให้ความสำคัญกับรัฐสภา ซึ่งเป็นสภาที่มาจากตัวแทนประชาชน เหมือนกับการบอกว่าไม่ได้สนใจประชาชนเช่นเดียวกัน
อาจารย์โอฬารยังระบุอีกว่า แม้กฎหมายจะไม่ได้กำหนดว่าให้แคนดิเดตนายกฯ แสดงวิสัยทัศน์ แต่เมื่อเคยมีแคนดิเดตนายกฯ (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล) แสดงวิสัยทัศน์ของเขาในรัฐสภา ตรงนี้ อาจารย์จึงมองว่ามันคือการสร้างบรรทัดฐานในเชิงการแสดงภาวะผู้นำแบบสากล
นอกจากนี้ อาจารย์ยังเทียบกับการเมืองในต่างประเทศว่า ผู้นำในเวทีโลกจะให้ความสำคัญมากกับการแสดงวิสัยทัศน์ การพูดที่เรียกว่าปาฐกถา หรือการกล่าวสุทรพจน์ เพราะนั่นเป็นการสรุปรวบยอดวิธีคิด และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของผู้นำ
อ้างอิงจาก