เมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม) ไม่นานนักหลังจากที่ทราบผลการลงคะแนนเลือกนายกฯ คนที่ 30 ของประเทศไทย นอกจากเรื่อ ส.ว.งดออกเสียงแล้ว อีกประเด็นที่เป็นที่พูดถึงกันในโลกทวิตเตอร์เมื่อคืนวานนี้ ก็คงหนีไม่พ้นทวีตของ ‘ฮุน เซน’ นายกฯ กัมพูชาที่กล่าวถึงผลการโหวตของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตจากพรรคก้าวไกล ก่อนที่จะลบทิ้งไปและทวีตอธิบายอีกรอบ
ในวันนี้ (14 กรกฎาคม) The MATTER จึงอยากชวนทุกคนไปดูการเมืองบางมุมของ 4 ประเทศในอาเซียน อย่างกัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และลาว ว่าแต่ละประเทศมีลักษณะการเมืองภายในเป็นอย่างไร เพื่อช่วยตอบคำถามว่าทำไมนายกฯ กัมพูชาถึงต้องทวีตเช่นนั้น
1.กัมพูชา
ก่อนอื่น ขอเล่าถึงทวีตของฮุน เซน อีกสักรอบว่าเมื่อคืนนี้ เขาทวีตว่าอะไร?
“ผมขอประกาศในวันนี้ว่า การที่พิธาล้มเหลวได้คะแนนโหวตไม่เพียงพอต่อการเป็นนายกฯ ของประเทศไทย นับเป็นความล้มเหลวครั้งใหญ่ของกลุ่มที่ต่อต้านผมในกัมพูชา”
“นี่ไม่ได้หมายความว่า ผมกำลังแทรกแซงการเมืองภายในของไทย แต่ประเด็นของผมคือ ที่ผ่านมา พวกกบฏต่างคาดหวังว่า เมื่อพิธาได้เป็นนายกฯ ของประเทศไทยแล้ว พวกเขาจะสามารถใช้พื้นที่ชายแดนไทยในการประท้วงต่อต้านรัฐบาลกัมพูชา (Royal Government of Cambodia) ตอนนี้ความคาดหวังของพวกที่ต่อต้าน ได้หายวับประหนึ่งเกลือที่ละลายในทะเล”
ฮุนเซนยังทวีตทิ้งท้ายอีกว่า “อย่าเล่นการเมืองโดยหวังพึ่งคนอื่น นี่คือข้อความจากผม ด้วยความปรารถนาดีถึงกลุ่มหัวรุนแรงทั้งหลาย” [แปลจากทวีตภาษาอังกฤษของฮุน เซน]
ที่ผ่านมา สถานการณ์การเมืองในกัมพูชาก็ร้อนแรงไม่ต่างจากไทยกับเมียนมา และยังเป็นอำนาจนิยมไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ฮุน เซน ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่ปี 1985 ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อช่วงแรก ก็อาจเรียกได้ว่า อำนาจในการเมืองของเขาก็ไม่ได้มั่นคงมากนัก เพราะในตอนนั้น เขาเป็นรัฐบาลร่วมกับนโรดม รณฤทธิ์ กล่าวคือ ในปีนั้นเขาแพ้การเลือกตั้ง แต่ไม่ยอมรับผลแล้วใช้วิธีบีบบังคับจนได้เป็นนายกฯ ร่วมกัน
กระทั่ง เมื่อปี 1997 ฮุน เซนก็ได้ยึดอำนาจนโรดม รณฤทธิ์ แล้วจัดการเลือกตั้งในปีต่อมา ทำให้พรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเขาก็ได้กุมอำนาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้ว่าฮุน เซนจะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศหลังที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์สังหารหมู่ประชาชน (เหตุการณ์ ‘เขมรแดง’) แต่หลังจากนั้น เขาก็มักถูกกล่าวหาว่าใช้ศาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงกำจัดศัตรูทางการเมืองและกลุ่มผู้เห็นต่าง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสังหาร ทำร้าย ข่มขู่ และกักขัง
และแม้ว่ากัมพูชาจะจัดการเลือกตั้ง โดยผลโหวตของประชาชนของออกมาเขาคือผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่องค์กรและหน่วยงานหลายๆ แห่ง อาทิ EU และ Human Rights Watch ก็ระบุว่า การเลือกตั้งเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส ทั้งสถานการ์สิทธิมนุษยชนในกัมพูชาก็ถดถอยลง ท่ามกลางความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่พรรคประชาชนกัมพูชาเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งใหญ่ช่วงปี 2012-2013
ไม่ใช่เพียงแต่หน่วยงานจากต่างประเทศเท่านั้นที่ออกมาวิจารณ์ถึงสถานการณ์ความรุนแรง และตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้งของฮุน เซน แต่พรรคฝ่ายค้านของกัมพูชา ก็ยังออกมากล่าวหาว่ารัฐบาลโกงการเลือกตั้ง ทั้งยังออกมาประท้วงบนถนน ซึ่งไม่นานนัก กลุ่มที่ออกมาต่อต้านฮุน เซน ก็ถูกปราบปรามจากทหารและตำรวจอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ปี 2017 รัฐบาลยังสั่งปิดสถานีวิทยุหลายแห่งและยังเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง 6.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 220 ล้านบาท) จากหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ The Cambodia Daily ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล จนสุดท้ายก็ต้องยุติการตีพิมพ์
รวมไปถึง ระบอบการปกครองในกัมพูชาก็ยังมีกษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ซึ่งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 กัมพูชาก็ได้ผ่านกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 5 ปี ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างออกมาแสดงความกังวลว่ากฎหมายฉบับใหม่นี้จะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอีกเช่นกัน
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็มีการคาดการณ์ว่าฮุน เซนจะลงจากตำแหน่ง เนื่องจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาได้กล่าวไว้ว่า “ตอนนี้กัมพูชาเจอคนรุ่นใหม่ที่มาแทนที่พวกเราแล้ว เราควรส่งต่อ และอยู่ข้างหลังพวกเขาเสียดีกว่า”
อย่างไรก็ตาม คนที่ถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นมากุมอำนาจต่อจากฮุน เซน ก็คงหนีไม่พ้น ‘ฮุน มาเนต’ ลูกชายคนโตของเขาเอง และการคาดการณ์นี้ก็ไม่มาจากเหตุผลเรื่องระบบอุปถัมภ์ในครอบครัวเท่านั้น เพราะจริงๆ ก็อาจเรียกได้ว่า การเมืองในกัมพูชาเต็มไปด้วยระบบเกื้อกูลกัน โดยมีฮุน เซนเป็นผู้ควบคุมการเมืองภายในเอาไว้ทั้งหมด
สอดคล้องกับข้อมูลจากธีระ นุชเปี่ยม จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ที่อธิบายไว้ใน The MOMENTUM ถึงการเมืองของกัมพูชาในปัจจุบันว่า อาจเรียกว่าเป็นระบบที่ชนชั้นนำมาทำความตกลงกัน ซึ่งความตกลงนี้เป็นคือความไม่เท่าเทียม เพราะชนชั้นนำในกัมพูชาต่างอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของฮุน เซน ซึ่งอยู่บนยอดพีระมิด มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการควบคุมการเมือง
ธีระ ยังระบุอีกว่า ความตกลงที่ว่า ยังเป็นการจัดระเบียบหรือการแบ่งสรรผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นนำและเครือข่ายของฮุน เซน ซึ่งเรียกว่า “ฮุนเซนโนมิกค์” หรือก็คือกิจการที่สร้างประโยชน์ให้อย่างมากมาจากการแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติ การให้สัมปทานที่ดิน มีการขับไล่คนออกจากที่ดิน และการผูกขาดการนำเข้าสินค้าบางอย่าง
โดยเครือข่ายที่ว่านี้ ฮุน เซนสร้างขึ้นผ่านการให้ญาติเข้ามามีบทบาทด้านความมั่นคง การเมือง และธุรกิจ เช่น ให้ลูกชายคนโตเป็นนายพลกองทัพ ในหน่วยงานด้านความมั่นคง ลูกชายคนที่ 2 ให้ทำงานด้านข่าวกรองแห่งชาติและทำหน้าที่จัดการความขัดแย้งทางการเมือง ลูกชายอีกคนเป็น ส.ส. ส่วนลูกสาวเป็นเจ้าของสื่อ
เครือข่ายของฮุน เซนยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะเขายังได้สานสัมพันธ์กับนักธุรกิจด้วยการเสนอให้มีการพระราชทานยศออกญาให้กับนักธุรกิจที่บริจาคเงินหรือทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันก็มีนักธุรกิจได้รับยศออกญาอย่างน้อย 700 คน
อย่างไรก็ดีเมื่อเช้านี้ ฮุน เซน ก็ได้ทวีตถึงทวีตที่เขาลบไปว่า เมื่อคืน เขาโพสต์ข้อความว่าพิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ ไทย แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของ ‘ฝ่ายค้านหัวรุนแรง’ ในกัมพูชา เพราะคนกลุ่มนี้ใช้ชื่อพิธาและก้าวไกลในการรณรงค์ในกัมพูชา ทำนองว่า หลังจากพิธาเข้ารับตำแหน่งนายกฯ จะมีผู้นำกลุ่มหัวรุนแรงจะเข้ากัมพูชาผ่านดินแดนไทย ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ อ้างถึงชื่อพิธามาเกือบ 2 เดือนตั้งแต่พิธาชนะการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าเขาไม่ได้ต่อต้านพิธาและไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของไทย
2. เมียนมา
นอกจากประเด็นการเมืองในกัมพูชาแล้ว สถานการณ์ในเมียนมาก็ยังเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนแรงที่ถูกหยิบยกมากล่าวถึงอีกเช่นกัน เนื่องจากสถานการณ์ในเมียนมายังรุนแรงต่อเนื่อง หลัง พล.อ.มิน อ่อง หล่าย ออกมารัฐประหาร อองซาน ซูจี รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021
การจับกุมตัวผู้นำคนสำคัญในครั้งนี้ เป็นการทำรัฐประหารของเมียนมาอีกครั้ง หลังจากระบอบเผด็จการทหารเมียนมาจบลงเมื่อปี 2011 ซึ่ง ณัฐพล ตันตระกูลทรัพย์ นักวิจัยจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ กล่าวว่า ก่อนปี 2010 เรียกว่ากองทัพเป็นทุกอย่าง เป็นรัฐบาล เป็นระบบราชการด้วย จนเรียกได้ว่าทหารผูกขาดอำนาจไว้ทุกอย่าง
“ในช่วงนั้นนอกจากกองทัพแล้ว ผู้ที่มีบทบาทอีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มธุรกิจ นักธุรกิจเหล่านี้ก็เติบโตมาจากการที่กองทัพไม่มีงบประมาณเป็นของตัวเองแต่ก็ต้องหารายได้เพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับลูกน้องของตัวเอง เพราะฉะนั้น นายพลแต่ละคน ก็ต้องทำสัมปทานเหมืองสัมปทานป่าไม้” ณัฐพลกล่าว
จนต่อมา เมียนมาก็ค่อยๆ เปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยหลังจากรัฐประหารครั้งนั้นจบลง
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญของเมียนมาก็ยังให้อำนาจของกองทัพอยู่ในการเมือง ผ่านการกำหนดที่นั่งให้มีทหารจำนวน 25% ของสภา กำหนดให้รัฐมนตรีของกระทรวงด้านความมั่นคงต้องมาจากกองทัพ หรือการกำหนดให้ในกรณีที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดจะกลายเป็นผู้อำนาจเหนือประธานาธิบดีเป็นต้น
สถานการณ์ของเมียนมาในช่วงนั้นยังเป็นไปอย่างค่อนข้างปกติ กระทั่งเมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งอีกครั้งในช่วงพฤศจิกายน 2020 ซึ่งผลก็ออกมาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายอีกครั้ง และครองเสียงในสภาไปได้ถึง 83%
แต่จากผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น กลับส่งผลให้กองทัพเมียนมารู้สึกไม่มั่นคง ประกอบกับปัญหาการจัดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาระหว่างกองทัพกับรัฐบาลอองซาน อีกทั้งข้ออ้างว่าอองซาน ซูจี ล้มเหลวต่อการจัดการ COVID-19 กองทัพเมียนมาจึงเริ่มโจมตีว่า มีการโกงการเลือกตั้งถึง 8.6 ล้านกรณี
จนกระทั่งช่วงเวลาประมาณ 06.00 น. ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 ก็มีรายงานว่ากลุ่มของรัฐบาล อองซาน ซูจี ถูกจับกุมตัวเอาไว้ ซึ่งต่อมากองทัพเมียนมาก็ได้ออกแถลงการณ์ในโทรทัศน์แห่งชาติว่า ทหารได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพม่า พร้อมทั้งประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี เพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ด้วยคำกล่าวอ้างที่ว่า รัฐธรรมนูญให้อำนาจกองทัพสามารถเข้าควบคุมการปกครองของรัฐได้ หากประเทศอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นก็คือเรื่องการโกงการเลือกตั้ง และ COVID-19
โดยทันทีที่เกิดการรัฐประหาร ทั้งประเทศก็หยุดชะงัก โทรทัศน์ถูกตัดสัญญาณ อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์ใช้งานไม่ได้ รวมไปถึงเที่ยวบินทั้งหมดถูกยกเลิก
สถานการณ์ในเมียนมายังคงดุเดือดอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีรายงานออกมาเรื่อยๆ ว่าผู้ที่ต่อต้านถูกกองทัพเข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง
“ในข่าวต่างประเทศ เราไม่เห็นการประท้วงแล้ว แต่ใช่ มันยังมีการประท้วงดำเนินอยู่ ขบวนการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ก็ยังมีอยู่” จอ จอ (นามสมมติ) นักศึกษาชาวเมียนมาที่ต้องเข้ามาศึกษาในไทยกล่าว
เธอยังระบุเพิ่มเติมว่า แม้กระทั่งในวันครบรอบ 2 ปีรัฐประหารเมียนมา นักเคลื่อนไหวและผู้ประท้วงในเมียนมาก็ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการไม่เคลื่อนไหว หรือที่เรียกว่าการประท้วงเงียบ (silent strike) โดยที่ห้างร้านต่างๆ ในเมียนมาปิดตัวลง จนเมืองที่เคยเต็มไปด้วยความคึกคักอย่างย่างกุ้งก็กลายเป็นเมืองร้างไปชั่วขณะ
“หลังรัฐประหาร ความฝันของเรา – ทุกอย่างก็แหลกสลาย” พิว พิว (นามสมมติ) นักศึกษาชาวเมียนมาในไทยระบุ
3. เวียดนาม
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้ศึกษาการเมืองในประเทศแถบลุ่มน้ำโขง เคยให้คำนิยามรูปแบบความเป็นอยู่ของชนชั้นนำเวียดนามกับ The MOMENTUM ว่า เป็นการเมืองแบบอำนาจนิยม รวมศูนย์อำนาจ ผ่านการมีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นรัฏฐาธิปัตย์ “เพราะพรรคคอมมิวนิสต์สามารถกำหนดตำแหน่งต่างๆ ในรัฐ มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบาย สามารถจะติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานอื่นๆ ทุกระดับ”
อีกทั้ง ยังมีข้อมูลอีกว่า การเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามอาศัยความชอบธรรมด้านอุดมการณ์ที่อ้างถึงการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจากการเป็นอาณานิคม เปลี่ยนรูปแบบการเมืองให้เป็นแบบอำนาจนิยมรวมศูนย์อยู่ที่พรรคคอมมิวนิสต์ และแบบแผนทางเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม จนทำให้พรรคยังสามารถอยู่ในอำนาจได้อยู่นับจากได้เอกราชเมื่อปี 1945
นอกจากนี้ อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้การเมืองเวียดนามเป็นอย่างทุกวันนี้ สุภลักษณ์ ก็ระบุว่าเป็นผลจากการปฏิรูปโด่ยเหมยเมื่อปี 1986 ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง ก็คือการให้ประชาชนสามารถเข้ามาทำมาหากินในที่ดินได้ แต่ต้องเช่าจากรัฐ ออกกระจายหุ้นการถือครองธุรกิจวิสาหกิจ ก่อให้เกิดการผูกขาดในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งของเวียดนาม และยังส่งผลให้รัฐเข้ามาครอบงำระบบเศรษฐกิจผ่านรัฐวิสาหกิจ
นั่นจึงทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบพวกพ้อง “กล่าวได้ว่ากลไกการบริหารเศรษฐกิจปัจจุบันของเวียดนามไม่ได้สร้างอะไรใหม่ เพราะมันคือกลไกของรัฐและกลายเป็นแหล่งสะสมทุนให้กับชนชั้นนำ ทั้งเก่าและใหม่”
ในขณะเดียวกัน กองทัพเวียดนามก็มีลักษณะเป็นชนชั้นนำที่ควบคุมอำนาจและเศรษฐกิจเช่นกัน โดยในปัจจุบัน กองทัพเวียดนามมี 2 หน้าที่ นั่นก็คือรักษาความมั่งคงเช่นเดียวกับกองทัพทั่วไป และยังมีหน้าที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การกำหนดทิศทางจากพรรคคอมมิวนิสต์อีกเช่นกัน
สุภลักษณ์กล่าวว่า “สิ่งที่ค้ำจุ้นระบบชนชั้นนำของเวียดนาม คือระบบอุปถัมภ์และเส้นสาย การแต่งงาน และเครือญาติ ระบบอุปถัมภ์ทำงานภายใต้เครือญาติทำงานในทุกระดับ ดังนั้นหากสามารถส่งลูกหลานเข้าไปเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ก็สามารถอำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้”
4. ลาว
หากใครยังจำกันได้ เมื่อช่วงปี 2020 หลังจากที่ไทยมีการชุมนุมต่อต้านเผด็จการ ประเทศใกล้เคียงอย่างลาวก็มีแฮชแท็ก ‘ถ้าการเมืองลาวดี’ เพื่อออกมารณรงค์ให้มีการวิจารณ์รัฐบาลได้เช่นกัน
ลาวเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ ซึ่งหลังจากมีการแสดงความเห็นกันผ่านแฮชแท็กแล้ว ก็มีผู้ใช้งานรายหนึ่งระบุว่า รัฐบาลลาวก็มักจะเอาผิดโดยอ้างว่ามีกลุ่มคนพยายามเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน ถ้าหากการเมืองในลาวดีจริงๆ ทำไมถึงต้องมีคนอยากออกมาเรียกร้องในเรื่องแบบนี้ “อย่าดูถูกความรู้ของเยาวชนชาวลาว พวกเรารู้ทุกอย่าง แต่พวกเราไม่สามารถพูดออกมาได้ดังๆ เท่านั้นเอง”
ประชาไทรายงานว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตลาววิพากษ์วิจารณ์เรื่องการเมือง “ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐบาลนำภาษีไปใช้ในทางมิชอบ, ปัญหาประชาชนจำนวนมากไม่สามารถอ่านออกเขียนได้เพราะงบประมาณโรงเรียนมีน้อย ในขณะที่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองส่งลูกหลานตัวเองไปเรียนเมืองนอกได้ เรื่องปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และไม่พอใจเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่กว้างขึ้นเรื่อยๆ” จนเกิดเป็นกระแสต่อต้านจากอีกฝั่งที่เรียกตัวเองว่า ‘ลาวรักชาติ’ ระบุว่า ประณามกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่วิจารณ์รัฐบาลว่าเป็นต่างชาติ และกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มที่สร้างความไม่สงบ
จากสถิติในปี 2020 ที่รวบรวมโดย www.laoconnection.com ประชาไทรายงานว่า มีชาวลาวใช้โซเชียลมีเดียมากกว่า 40% ของประชากรลาวทั้งหมด แต่อินเทอร์เน็ตลาวก็ตกอยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งยังมีกฎหมายห้ามวิจารณ์รัฐบาลทางอินเทอร์เน็ตโดยกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 3 ปี และปรับ 4-20 ล้านกีบ (ราว 13,500 – 68,000 บาท) อีกเช่นกัน
ในส่วนของการเมืองลาว ก็มีลักษณะระบบอุปถัมภ์เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่ยกตัวอย่างมา โดยมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ชนชั้นนำ ซึ่งมีพรรคประชาชนปฏิวัติลาวเป็นองค์กรทางการเมืองหลักในการกำหนดทิศทางของประเทศ
อีกทั้ง ในการเมืองของลาว ก็ยังเป็นแหล่งรวมตัวของชนชั้นนำ ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายครอบครัวและเครือญาติ จนเกิดเป็นตระกูลการเมืองผูกขาดอยู่ไม่กี่ตระกูลเท่านั้น
“หากมองธุรกิจลาว ก็จะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมืองกับกลุ่มทุน ธุรกิจเหล่านี้รัฐบาลจะเข้าไปถือหุ้นด้วยเกือบทั้งหมด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของลาวมักจะเริ่มจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง แล้วจึงขยายไปธุรกิจอื่น ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมและธนาคาร” อดิศร เสมแย้ม จากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ระบุ
อดิศรยังระบุต่อว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จก็คือการผูกขาดสัมปทานหรือได้รับใบอนุญาตจากรัฐ เพราะฉะนั้น กลุ่มทุนเหล่านี้ก็จะเข้าไปมีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในพรรคและรัฐบาลด้วยเช่นกัน
อ้างอิงจาก