เกิดอะไรขึ้นในภูเก็ต?
ต้องเล่าก่อนว่าเรื่องชาวรัสเซียเข้าไปทำธุรกิจในภูเก็ตไม่ใช่เรื่องใหม่ ทั้งยังเคยมีรายงานกันมาบ้างแล้ว แต่ประเด็นดังกล่าวก็น่าหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง หลังสำนักข่าว Aljazeera นำเสนอประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งยังระบุอีกว่า ชาวรัสเซียจำนวนมากเข้ามาประกอบธุกิจ ทั้งยังซื้อที่อยู่อาศัย จนคนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
ในวันนี้ (7 กันยายน) The MATTER จึงได้สรุปประเด็นธุรกิจรัสเซียในภูเก็ต พร้อมทั้งยังได้พูดคุยกับสส.จังหวัดภูเก็ตเพื่อมาอธิบายประเด็นดังกล่าว
เมื่อพิจารณาสถิติการผ่าน ตม.ในภูเก็ตตั้งแต่มกราคม-สิงหาคมปีนี้ จะพบว่ามีชาวรัสเซียจำนวน 486,884 รายที่เดินทางผ่าน ตม.ภูเก็ต และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2019 จะพบว่ามีจำนวนโตขึ้นถึง 114% หรือถ้าจะอ้างอิงจาก ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาก็จะพบว่า ระหว่างเดือนมกรามคม- มิถุนายนปีนี้ นักท่องเที่ยวรัสเซียเดินทางมาไทย 791,574 คน เพิ่มขึ้น 1,000% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ซึ่งยังคงทำให้รัสเซียยังคงครองอันดับ 1 นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไปเยือนภูเก็ตมากที่สุดในปีนี้
แต่เหล่าชาวรัสเซียที่เดินทางมาไทย ก็ไม่ใช่เฉพาะมาท่องเที่ยวในระยะสั้นอย่างเดียว เพราะส่วนหนึ่งจะเข้ามาด้วยวีซ่าพำนักระยะยาว และยังคงมีชาวรัสเซียอีกจำนวนมากที่เดินทางเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์ บ้านพักวิลล่า หรือแม้แต่เรือยอร์ชในไทย
Knight Frank Thailand บริษัทที่ปรึกษาและเป็นนายหน้าซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ให้ข้อมูลว่า ยอดขายบ้านพักวิลล่าในภูเก็ตพุ่งขึ้น 338% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยจำนวนครึ่งหนึ่งของยอดขายวิลล่าทั้งหมดถูกซื้อโดยชาวรัสเซีย ส่งผลให้เกิดร้านอาหาร ร้านอบซาวน่า และคอนเสิร์ตต่างๆ เพื่อรองรับชาวรัสเซียที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ Aljazeera รายงานว่า ปัญหาหลักๆ ที่ชาวภูเก็ตกังวล คือ การที่ชาวรัสเซียแห่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ที่อยู่อาศัยในภูเก็ตแพงขึ้น และเข้ามาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ซึ่งมักจะดำเนินกิจการผ่านแอปพลิเคชันภาษารัสเซีย ทั้งยังมีการจ้างงานผิดกฎหมาย ทำธุรกิจค้าประเวณี เพื่อขายบริการทางเพศในกลุ่มคนรัสเซียด้วยกันโดยเฉพาะ
ข้อมูลดังกล่าวนี้ก็สอดคล้องกับข้อมูลจาก ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.จังหวัดภูเก็ต พรรคก้าวไกล ที่ยืนยันกับ The MATTER ว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเรื่องจริง เพราะตอนนี้จะมีชาวรัสเซียที่เข้ามาทำธุรกิจเช่นการขับแท็กซี่ เป็นช่างเสริมสวยมากขึ้น และที่ผ่านมาก็มีชาวภูเก็ตที่ได้รับผลกระทบ
กรณีร้านเสริมสวยในภูเก็ต ฐิติกันต์ระบุว่าตำรวจเข้าจับกุมเรียบร้อยแล้ว แต่ปรากฏว่า พอจับกุมเสร็จก็เปิดบริการต่อ โดยการหาพนักงานชุดใหม่ไปเรื่อยๆ และยังไม่ถูกสั่งปิดกิจการ เพราะเมื่อตรวจสอบก็พบว่า เจ้าของร้านก็เป็นคนไทยที่จดทะเบียนขออนุญาตถูกต้อง ซึ่งจะเป็นในลักษณะของการจ้างคนไทยเปิดร้าน แล้วให้เช่ากิจการ จึงผิดแค่เฉพาะตัวพนักงานเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายไทยระบุว่าอาชีพดังกล่าวเป็นอาชีพที่สงวนไว้ให้เฉพาะคนไทย
อีกทั้ง ยังมีกิจการรับแลกเงินที่ทำในหมู่ชาวรัสเซียด้วยกันเอง แต่เป็นธุรกิจที่ไม่มีหน้าร้าน ซึ่งกรณีนี้ก็ผิดกฎหมายไทยเช่นกัน
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวก็เริ่มได้รับผลกระทบแล้วเช่นกัน โดยฐิติกันต์ระบุว่า ตอนนี้เริ่มมีทัวร์ 0 เหรียญของรัสเซีย แต่ก็ยังไม่ได้เป็นปริมาณที่สูงเหมือนของทัวร์ 0 เหรียญจีน เพราะของรัสเซียจะมากันเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วก็ติดต่อกับคนรัสเซียในภูเก็ตเอง พอเจ้าหน้าที่ไปจับกุมก็อ้างว่าเป็นกลุ่มเพื่อนมาเที่ยว
ฐิติกันต์ยังเล่าถึงเส้นทางของทัวร์ประเภทนี้ว่า คนรัสเซียที่อยู่ภูเก็ตบางคนที่พอมีเงิน ก็จะเริ่มซื้อเรือ หรือซื้อรถมาบริการท่องเที่ยวในกลุ่มของเขาเอง แล้วทัวร์ก็จะพาไปที่ร้านอาหารของรัสเซียที่ไม่ได้มีพนักงานหรือลูกจ้างคนไทยเลย ทำให้ขาดการจ้างงาน
นั่นจึงทำให้ฐิติกันต์มองว่า ถึงจะมีคนมาเที่ยวมากขึ้น แต่เงินไม่ได้เข้าไทยทั้งหมด โดยคนไทยจะได้ในส่วนของวัตถุดิบ แต่ในส่วนการจ้างงานหรือภาษีที่เก็บได้นั้น ก็หายไปจำนวนมากเช่นกัน
ฐิติกันต์ยังระบุอีกว่า ตอนนี้ คนภูเก็ตก็เริ่มมีการพูดคุยถึงกรณีดังกล่าวกันแล้ว แต่ยังไม่มีการประท้วงจริงจัง เพราะติดตรงที่ว่าธุรกิจดังกล่าวแอบทำ ไม่ได้มีหลักฐานที่ชัดเจน ส่วนกรณีที่จับได้ก็คือกรณีแท็กซี่ ที่มีคนขับแท็กซี่ที่ไปรอตามสถานที่ต่างๆ แล้วจำได้ว่าทำไมรถคันนี้ [ธุรกิจรัสเซีย] มาบ่อย มาทุกอาทิตย์ จนเริ่มสังเกตได้แล้วว่าคนเหล่านั้นประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ไม่ได้มารับเพื่อนตามที่เข้าอ้าง
ส่วนประเด็นกรณีที่ชาวรัสเซียเข้าซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ต ฐิติกันต์ระบุว่าเป็นกรณีที่ ‘หมิ่นเหม่’ ว่าผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะเขาเข้ามาในลักษณะการปล่อยเช่าระยะยาวซึ่งมองว่าเป็นการลงทุน แต่สภาพความเป็นจริงคือเขาไม่ได้มีหน้าร้าน ไม่ได้มีโฆษณา ไม่มีตัวตนของทางธุรกิจที่จดทะเบียนถูกต้อง [ไม่ได้เป็นนิติบุคคล] ทำให้ในทางปฏิบัติไม่สามารถลงไปตรวจสอบได้ เพราะว่ายังไม่ได้จดทะเบียน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์นั้น ฐิติกันต์เห็นว่าสามารถมองได้ 2 มุม คือมีคนที่ได้ประโยชน์จากการที่คนรัสเซียมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ เพราะว่าช่วง COVID-19 มีเจ้าของโครงการหลายแห่งที่ขาดทุน พอมีคนรัสเซียมาซื้อก็เหมือนกับเป็นการปลดหนี้ให้หลายๆ คน ส่วนอีกมุมหนึ่งก็คือเป็นการเพิ่มคู่แข่งให้กับกลุ่มนายหน้าท้องถิ่น ทำให้พวกเขาขาดรายได้
แต่ประเด็นที่ว่าจะส่งผลกระทบให้คนภูเก็ตไม่มีที่อยู่ หรือต้องไปเช่าอสังหาริมทรัพย์จากต่างชาติในราคาแพงขึ้นไหม? ฐิติกันต์กล่าวว่า “เบื้องต้น ตอนนี้ยังไม่กระทบถึงขนาดนั้นนะครับ” เพราะช่วงก่อน COVID-19 มีจำนวนห้องพักของคอนโด อพาร์ตเมนต์มากเกินความต้องการจริงอยู่แล้ว แล้วพอช่วง COVID-19 ระบาด ก็ยิ่งทำให้ความต้องการห้องพักล้มหายไปจากตลาดมาก จึงยังไม่มีผลกระทบ
อย่างไรก็ดี ในส่วนของการดำเนินคดีกับธุรกิจดังกล่าว ฐิติกันต์ระบุว่า ตำรวจก็ยังอ้างว่าติดกฎหมายทำให้ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ นอกเหนือจากการจับกุมเป็นกรณีๆ ดำเนินคดีเป็นแค่รายบุคคล แต่ไม่สามารถแก้ไขในเชิงโครงสร้างได้ “ก็ต้องไปแก้กฎหมายเรื่องตรวจคนเข้าเมือง หรือการให้ต่างด้าวประกอบอาชีพในไทย ซึ่งกฎหมายค่อนข้างล้าหลัง”
อ้างอิงจาก