“นักท่องเที่ยวจีนลดลงเยอะมาก” ประวิทย์ อมรมธุรพจน์ มัคคุเทศก์ที่ประกอบอาชีพนี้มากว่า 30 ปีเล่าให้ The MATTER ฟังถึงสถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนในประเทศไทยตอนนี้
หากจะกล่าวถึงนักท่องเที่ยวในประเทศไทย แน่นอนว่า ‘จีน’ ก็คงเป็นหนึ่งในชาติที่ใครหลายๆ คนนึกถึงอย่างแน่นอน แต่ในวันนี้ สถานการณ์ดังกล่าวอาจไม่เหมือนเดิม
ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพบว่า ตั้งแต่ปี 2015-2018 ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวจีนในหลัก 7 ล้านกว่าคนต่อปี แต่ในช่วง 1 มกราคม – 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลับพบว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยเพียงประมาณ 3 ล้านคน คิดเป็น 12.62% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศ และยังเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซียอีกด้วย
เกิดอะไรขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่หายไป? คำถามว่าด้วยเรื่องนักท่องเที่ยวจีนจึงกลับมาเป็นที่พูดถึงกันอยู่เรื่อยๆ ในช่วงที่ผ่านมา
หนึ่งในคนที่ช่วยเรายืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ คือมัคคุเทศก์อย่างประวิทย์
เมื่อ The MATTER ได้นำข้อมูลชุดนี้ไปเล่าให้ประวิทย์ฟัง เขาก็ยืนยันว่า ถ้าเทียบกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงมากจริงๆ และยิ่งลดหนักไปอีกเมื่อเกิดเหตุยิงที่พารากอน (3 ตุลาคมที่ผ่านมา) แต่นั่นก็อาจไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเขามองว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยน้อยลง เป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่ดูทีท่าไม่ค่อยดีเท่าไรนักในตอนนี้
หรือแม้แต่กรณีทัวร์ 0 เหรียญจีนที่นักท่องเที่ยวเคยให้ความนิยม ตอนนี้เขาก็เห็นว่ามีจำนวนน้อยลง โดยนักท่องเที่ยวที่มักจะมากับทัวร์ 0 เหรียญนี้จะเป็นคนที่ไม่ได้มีเงินทองมากนัก สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าช่วงนี้เศรษฐกิจจีนน่าจะมีปัญหาจริงๆ
หลังจากฟังคำบอกเล่าของประวิทย์ ก็ชวนให้สงสัยต่อว่าแล้วเศรษฐกิจจีนตอนนี้เป็นอย่างไรกันนะ? The MATTER จึงได้ต่อสายหา ร่มฉัตร จันทรานุกูล นักวิชาการอิสระด้านจีนยุคใหม่ เพื่อขอคำอธิบายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้
สถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน
จีนตั้งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่า GDP จะอยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งในตอนนี้ก็นับว่ารัฐบาลจีนสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และยังมีแนวโน้มว่า GDP ของจีนในปีนี้อาจโตได้มากกว่านี้อีกด้วย แต่นั่นก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนอยู่ในสถานการณ์ที่ดี
ร่มฉัตรเล่าให้ฟังว่า แม้ตัวเลขของ GDP จะเกินเป้าหมาย แต่ในแง่ความรู้สึกของประชาชนเห็นว่า “เศรษฐกิจจีนไม่ได้ดีขนาดนั้น”
ปัญหาหลักของเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวอยู่ในตอนนี้ ร่มฉัตรระบุว่าเป็นผลมาจาก 3 สาเหตุด้วยกัน ได้แก่ ปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ สถาบันการเงินย่ำแย่ และหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น โดยทั้ง 3 สาเหตุ ก็เป็นเหมือนโดมิโน่ที่วางเรียงกัน พอมีสิ่งหนึ่งล้ม ก็จะกระทบต่อกันไปเป็นทอดๆ
เริ่มจากภาคอสังหาริมริมทรัพย์ที่ก่อนหน้านี้เติบโตอย่างไร้ทิศทาง สร้างโครงการหนึ่งยังไม่เสร็จ ก็เริ่มสร้างโครงการใหม่ต่อไปเรื่อยๆ โดยร่มฉัตรอธิบายว่า เป็นเพราะก่อนหน้านี้ คนจีนนิยมลงทุนด้วยการซื้ออสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองว่า “ถ้าอยากร่ำรวย อยากมั่นคง การซื้อบ้านคือการลงทุนที่ดีที่สุด” กระทั่งรัฐบาลจีนประกาศนโยบายเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาระบุว่า “บ้านมีไว้อยู่ ไม่ได้มีไว้เก็งกำไร”
ทันทีที่รัฐบาลกลางประกาศนโยบาย รัฐบาลท้องถิ่นอื่นๆ ก็ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลกลาง มีการสร้างกำแพงในการซื้อบ้านมากขึ้น ปล่อยเงินกู้ยากขึ้น ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซาลงทันที กระทบกับกระแสเงิน (cash flow) ของบริษัท ประกอบกับมาตรการการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นของจีนในช่วง COVID-19 ร่มฉัตรจึงมองว่า 2 ปัจจัยนี้ส่งผลให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ ‘ล้มลง’
เมื่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา ร่มฉัตรก็อธิบายต่อว่า ปัญหาดังกล่าวก็กระทบต่อไปยังภาคการเงินและภาคครัวเรือน เพราะบริษัทอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อสร้างโครงการ ประชาชนก็ต้องจ่ายเงินซื้อบ้านก่อน แต่เมื่ออสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นสร้างไม่เสร็จ บริษัทจึงไม่มีกำลังพอจะจ่ายเงินคืนธนาคาร ด้านประชาชนที่จ่ายเงินซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้านก็เรียกร้อง จนกระทบกันเป็นโดมิโน่ ตั้งแต่ตัวบริษัท ภาคการเงิน จนถึงประชาชน
“พออสังหาริมทรัพย์ล้ม มาถึงธนาคาร ประชาชนก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน ความเชื่อมั่นก็หายไป ทั้งอสังหาริมทรัพย์และการเงิน ก็กลายเป็นภาคที่คนมองว่าไม่ปลอดภัย คนจีนตอนนี้ก็อยากจะเก็บเงินกันมากขึ้น” ร่มฉัตรกล่าว
ไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะร่มฉัตรกล่าวต่ออีกว่า รัฐบาลท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลท้องถิ่นในเมืองชั้น 2 ลงไป [ที่ไม่ใช่เมืองที่มีสภาพคล่องทางการเงินดีเหมือนเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น ปักกิ่ง] มีรายได้หลักมาจากการให้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ประมูลที่ดินเพื่อนำไปสร้างโครงการต่อ แต่เมื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นหยุดชะงัก รัฐบาลท้องถิ่นก็ขาดรายได้หลักของเขาไป
ร่มฉัตรยังกล่าวว่า รัฐบาลท้องถิ่นเหล่านั้น ยังมี ‘หนี้สาธารณะ’ หรือหนี้จากการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟ ทั้งยังเก็บภาษีได้น้อย เมื่อให้ประมูลที่ดินไม่ได้ ก็ยิ่งทำให้เขาขาดรายได้หลักตรงนี้ไปเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ร่มฉัตรเชื่อว่า รัฐบาลกลางยังคงมองว่า หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นยังอยู่ในกรอบที่จัดการได้อยู่ โดยมีคำแนะนำให้รัฐบาลท้องถิ่นขายสินทรัพย์บางอย่างเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพราะถ้าดูหนี้โดยรวมทั้งประเทศ รัฐบาลจีนก็มองว่าหนี้ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นหนี้ที่สูงมาก
อัตราการว่างงาน อีกหนึ่งตัวชี้วัดของสถานการณ์เศรษฐกิจจีน
ในปี 2023 นี้ อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่จีน อายุ 16-24 ปี ในเขตเมือง เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน และยังนับว่าเป็นปีที่มีตัวเลขการว่างงานพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกด้วย
จากรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Statistics Bureau) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่า คนรุ่นใหม่ในเขตเมืองของจีน มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 21.3% ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากที่สุด นับตั้งแต่ที่ทางการจีนเริ่มรายงานอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาว โดยตัวเลขเหล่านี้ ร่มฉัตรมองว่าเป็นผลสะท้อนหนึ่งของเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัว
สถานการณ์การว่างงานของจีนยังคงน่าเป็นห่วง โดยร่มฉัตรกล่าวว่า ตอนนี้คนวัยหนุ่มสาวมีแนวโน้มจะลดลง ในภาพรวมของธุรกิจที่เคยมีการจ้างแรงงานจำนวนมากก็พากันลดขนาดการจ้างงานลง เพราะขายของได้ไม่ดี ซึ่งบริษัทที่ว่านี้ ก็ยังหมายความรวมถึงบริษัท e-commerce ที่ต่างพากันปลดพนักงาน อีกทั้งส่วนของข้าราชการเองก็มีแผนจะลดจำนวนข้าราชการลง แล้วเปลี่ยนเป็นพนักงานสัญญาจ้างแทน
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่ยังมีประชาชนอีกนับ 10 ล้านที่เรียนจบแล้วกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทุกปี ทำให้ร่มฉัตรมองว่าตอนนี้ประเทศจีนกำลังอยู่ในลักษณะของ ‘excess supply’ คือไม่สามารถรับคนใหม่เข้าทำงานได้อีกแล้ว
ร่มฉัตรยังยกตัวอย่างสถานการณ์ของไรเดอร์ในเมืองกวางโจว ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ที่ในตอนนี้ ทางบริษัทไม่สามารถรับพนักงานคนใหม่เข้ามาเพราะพนักงานเต็ม กลายเป็นภาพของการที่มีคนขับมากกว่าคนนั่ง และเมื่อตลาดหลายๆ ที่ไม่สามารถรับแรงงานเพิ่มได้แล้ว บางคนก็ต้องยอมกลับบ้าน หรือหาวิธีการดิ้นรนอย่างอื่นแทน อย่างกรณีของ ‘ลูกฟูลไทม์’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างเช่นกัน
อย่างไรก็ดี มีรายงานว่าตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นมา ทางการจีนประกาศยกเลิกการรายงานตัวเลขการว่างงานของคนหนุ่มสาวในเขตเมือง โดยให้เหตุผลว่า คนหนุ่มสาวในจีนไปศึกษาต่อมากขึ้น และการรายงานดังกล่าว ก็อาจทำให้สถิติคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งร่มฉัตรก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจีนจะเก็บสถิติแบบใหม่ คือจะนับคนที่ทำงาน 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ให้ถือว่าเป็นคนที่มีงานทำ ซึ่งหลังจากนี้ ก็อาจจะทำให้ตัวเลขการว่างงานน้อยลงไปอีก
ผลที่ตามมาของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว
เศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว และสถานการณ์การว่างงานของคนรุ่นใหม่จีนในตอนนี้ ก็ย่อมส่งผลต่อการใช้จ่ายของคนจีน
“ประชาชนจีนมีความกังวลค่อนข้างเยอะ แต่ในมุมของรัฐบาลจีนที่สื่อสารออกมา เขาอาจจะมองว่าปัญหานี้มันอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้อยู่” ร่มฉัตรกล่าว
ร่มฉัตรยกตัวอย่างสถานการณ์ของวันช้อปปิ้งคนโสด (11.11) ที่จะถือว่าเป็นมหกรรมการซื้อขายใน e-commerce ซึ่งปกติทางแพลตฟอร์มจะประกาศตัวเลขยอดขายสินค้าบนบิลล์บอร์ด แต่ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านั้นกลับไม่ได้ประกาศตัวเลขดังกล่าว สะท้อนจำนวนยอดขาย ที่ทำให้เห็นว่าคนจีนหลายคนเลือกซื้อของเพื่อความจำเป็น ลดการซื้อของฟุ่มเฟือย ทำให้จากมหกรรมการช็อปปิ้ง กลายเป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่งเท่านั้น
นั่นจึงทำให้ร่มฉัตรมองว่า ในตอนนี้ คนจีนเลือกที่จะ ‘play safe’ หลายคนเก็บเงินมากขึ้น ไม่นำเงินออกมาลงทุน และระมัดระวังในการใช้เงินมากจริงๆ
อย่างไรก็ดีร่มฉัตรให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวมีสัญญาณมาตั้งแต่ก่อน COVID-19 แล้วเพิ่งมาเห็นชัดช่วงที่เกิดการระบาด ซึ่งในตอนนั้น คนจีนหลายคนมองว่าถ้าสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลายแล้ว ทุกอย่างก็จะดีขึ้น แต่ในความจริงแล้วมันไม่ได้ดีขึ้นเลย เพราะเศรษฐกิจจีนก็ต้องอิงเศรษฐกิจทั่วโลกด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ร่มฉัตรมองว่า ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและรัฐบาลคือสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ในตอนนี้ ความเชื่อมั่นดังกล่าวก็ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด และนี่ก็เป็นมุมมองของคนจีนที่สัมผัสได้
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจีนเห็นปัญหาแล้วนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เพราะร่มฉัตรระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญมากสุดคือเรื่องของ ‘ความมั่นคง’ รัฐบาลจีนพยายามเข้าไปช่วยเหลือ พยายามยืดเวลาไม่ให้บริษัทหลายๆ แห่งล้มลงไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับต่างชาติที่เข้ามาลงทุนอีกเช่นกัน
ผลกระทบของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวไทย
แล้วสถานการณ์เศรษฐกิจจีนตอนนี้กระทบกับประเทศไทยด้วยไหม? ร่มฉัตรตอบได้ทันทีเลยว่า “เกี่ยวอย่างยิ่ง”
ไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้นที่จับตามองเศรษฐกิจจีน เพราะร่มฉัตรระบุว่าสื่อจีนเอง ก็ติดตามว่าคนไทยคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องที่นักท่องเที่ยวจีนไปเที่ยวไทยน้อยลง
ที่ผ่านมา เคยมีการวิเคราะห์ว่า ที่นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวประเทศไทยน้อยลงเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นจากกรณีการยิงที่พารากอน, กระแสภาพยนตร์เรื่อง ‘No More Bets’ ที่ทำให้คนจีนกลัวว่าอาจถูกลักพาตัว, เรื่องยาเสพติด และยังรวมถึงกัญชาเสรีในประเทศไทย ซึ่งร่มฉัตรก็กล่าวว่าปัจจัยดังกล่าวนี้ ก็อาจมีส่วนที่ทำให้คนจีนเที่ยวมาไทยน้อยลง แต่สาเหตุหลักๆ ที่สื่อจีนวิเคราะห์กันเลยก็คือ “คนจีนไม่ออกไป เพราะต้องประหยัดมากขึ้น”
ร่มฉัตรยังกล่าวโดยอ้างอิงข้อมูลจากสื่อจีนด้วยว่า “สิ่งที่ไทยเรากังวล มันไม่ใช่สิ่งที่ไทยเราควบคุมได้ มันคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภายในจีน และคนจีนเลือกที่จะประหยัดมากขึ้น ออกไปใช้จ่ายน้อยลง”
ทั้งนี้ จากมุมมองของร่มฉัตรเห็นว่า สิ่งที่ไทยทำได้คือการอัปเกรดการบริการ ดูแลเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว แก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปืน หรือปัญหาความไม่ปลอดภัยอื่นๆ เท่านั้น
แล้วถ้าหากจะถามว่าคนจีนยังมองว่าประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่ดีของการท่องเที่ยวอยู่ไหม ร่มฉัตรก็กล่าวว่าคนจีนยังคงมองว่าประเทศไทยคือหนึ่งในจุดหมายแรกๆ ของการท่องเที่ยวอยู่ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยจะต้องยึดติดกับนักท่องเที่ยวจีนเท่านั้น และส่วนตัวเธอเองก็มองว่ารัฐบาลควรจะกระจายความเสี่ยง มุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
“ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศไทยเราจะแก้ได้ คือการไปเที่ยวของประชาชนจีนก็ต้องไปด้วยความสมัครใจ ไปด้วยความพร้อม แต่ในเมื่อตอนนี้เขาไม่พร้อมที่จะไป เราก็ต้องปรับเปลี่ยนนโยบาย” ผู้เชี่ยวชาญด้านจีน ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Proofreader: Thanyawat Ippoodom