ครบรอบหนึ่งเดือนและอีกสิบกว่าวัน หลังจาก ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ กระบะทรายท่องเที่ยวไทยเริ่มต้นไปเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ชีพจรภูเก็ตเป็นยังไงบ้าง?
ถ้านับรวมจริงๆ ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ก็ครบรอบวันที่ 42 วันแล้ว กับการเป็นโปรเจกต์นำร่องท่องเที่ยวที่แรกของไทย ที่เมืองภูเก็ตร่วมผลักดันกับรัฐบาล เปิดประตูพื้นที่แรกรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ตอนที่คิกออฟครบหนึ่งเดือน มีตัวเลขจาก ททท. สรุปจำนวนนักท่องเที่ยวทะลุ 1.4 หมื่นคน และทำรายได้รวมกว่า 800 ล้านบาท ขณะที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อจากโครงการรวม 32 คน ซึ่งรวมกับผู้ติดเชื้อในพื้นที่เทียบกับอัตราประชากรภูเก็ต ก็ยังถือว่าอยู่ในจังหวะที่รับมือได้เมื่อผู้ว่าฯ ภูเก็ตสั่งยกระดับมาตรการและล็อกดาวน์บางกิจการ
ตัวเลขนักท่องเที่ยวภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ 10 สิงหาคม พ.ศ.2564 เข้ามา 512 คน นักท่องเที่ยวสะสมรวม 19,166 คน และมียอดจองห้องพักรวมกัน กรกฎาคม–กันยายน 360,599 คืน จากจำนวนนัดท่องเที่ยวทั้งหมด
“ในวันนี้ความสำเร็จมันอาจจะวัดไม่ได้ด้วยตัวเลข แต่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์คือประกายความหวังของคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว วันที่นักท่องเที่ยวมา ทั้งคนที่มาต้อนรับ ทั้งนักท่องเที่ยว น้ำตาไหล เพราะทุกคนดีใจว่านี่มันคือแสงสว่าง มันกลับมาแล้ว” ธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวกับ ‘Tourism Voice: เสียงท่องเที่ยวไทย’ แพลตฟอร์มสื่อของอุตสาหกรรมคนท่องเที่ยว เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
“และเศรษฐกิจในเกาะเองก็พยายามขับเคลื่อน แต่ด้วยตัวเลขขณะนี้ มันไม่มีวันที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งเกาะได้ แต่มันก็บรรลุวัตถุประสงค์ของมันไปแล้วในการเปิดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและสร้างความหวังให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว” เขากล่าวเสริม
ทว่าเป้าหมายของแซนด์บ็อกจริงๆ คือนักท่องเที่ยว 100,00 คน ใน 3 เดือน และรายได้ 8.9 พันล้านบาทที่จะเข้ามาหมุนเวียน
ดังนั้นตอนนี้ ถ้าเทียบกับเป้าหมาย 100,000 คน ก็ดูเหมือนจะยังเป็นการวิ่งระยะไกลอยู่เลยทีเดียว
ท่ามกลางข้อห้ามต่างๆ ในพื้นที่ที่รัดกุมขึ้น สั่งปิดสถานที่ในเวลา 3 ทุ่ม สั่งปิดผับ/บาร์, สายการบินในประเทศปิดให้บริการตลอดเดือนสิงหาคม และตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แตะ 20,000 คนทั่วประเทศ ทำให้คำถามถึงความสำเร็จของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในฐานะพื้นที่ทดลองยังคงมีต่อเนื่อง
แม้ว่าจากข้อความของธเนศจะดูไปในทิศทางบวก และยอมรับความเป็นจริง แต่ก็อาจจะครอบคลุมเสียงรวมทั้งเมืองภูเก็ตไม่ได้ The MATTER เลยไปคุยกับผู้ประกอบการหลายระดับในภูเก็ต ว่าวันนี้สำหรับพวกเขา ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เป็นความหวัง หรือเป็นจุดสตาร์ทของพวกเขาด้วยหรือไม่
กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 14 วันแรก แต่ระยะยาวไม่แน่ใจ
“วันนี้มันครบรอบหนึ่งเดือนกว่า ก็ต้องยอมรับว่ามันดีขึ้นจริงๆ เพราะว่าจากที่เราเปิดร้านเป็นเสื้อผ้ามัลติแบรนด์สโตร์สองที่ในห้างฯ ภูเก็ต และร้านขายผลไม้ จากยอดที่มันตกลงก่อนหน้านี้ ที่คนกลัว COVID-19 และคนกำลังซื้อน้อยลง พอมีแซนด์บ็อกซ์ขึ้นมา ยอดมันก็ขึ้น แต่อาจจะไม่ได้ขึ้นเยอะมาก แต่เราคิดว่าแซนด์บ็อกซ์มันกระจายรายได้ให้กับทุกในพื้นที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม เหมือนเงินมันหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มน่ะ”
‘แพรว—ชาลินี เตียงทอง’ เจ้าของร้าน Fys.findyourstyle และ Refresh.tropicalcafe บอกให้ฟัง เธอบอกว่า นักท่องเที่ยวมาซื้อเสื้อผ้าในจำนวนยอดบิลหลักพันบาทขึ้นไป กำไรเพิ่ม 20–30% ขณะที่ร้านผลไม้ขายดี ยอดสั่งเดลิเวอรีเพิ่ม ทั้งหมดทั้งมวลเธอคิดว่า การเปิดแซนด์บ็อกซ์ทำให้คนในภูเก็ตกล้าใช้เงินมากขึ้น บางส่วนกลับมามีรายได้ จากก่อนหน้านี้ที่พยายามเก็บออมเพราะรายได้ไม่เข้ากระเป๋า มันดูไปในทิศทางที่ดี แต่ …
“ในเดือนแรกมันมีแนวโน้มจะขึ้นเรื่อยๆ แต่ช่วงนี้มันดูมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ”
ชาลินีมองว่า ตัวเลขที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ มาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะตัวเลขผู้ติดเชื้อภาพรวมในประเทศ หรือในภูเก็ตเองที่ทำให้ผู้ว่าฯ ออกคำสั่งล็อกดาวน์ปิดบางสถานที่เร็วขึ้นปิดที่ 3 ทุ่ม ทำให้นักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์เข้ามาลดลง
แน่นอนการที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์ลดลง เป็นเรื่องที่ไม่ดีอย่างยิ่ง เพราะก่อนหน้านี้หลายโรงแรม ธุรกิจ ลงทุนกลับมาเปิด จ้างพนักงานอีกครั้ง แต่ก็ใกล้จะเลิกจ้างอีกหน
“มันอาจจะกลับมาวนลูปเดิม และมันอาจจะแย่ทวีคุณด้วยซ้ำ เพราะคนรู้สึกแล้วว่ามันไม่ได้มีหวังแล้วนะ ก่อนหน้านี้แซนด์บ็อกซ์คือความหวัง” ชาลินีบอก
“แซนด์บ็อกซ์มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ แต่จะทำยังไงให้มันไปได้ในสถานการณ์ที่ COVID-19 ระบาดแบบนี้ ส่วนตัวเราคิดว่ามาตรการแซนด์บ็อกซ์รองรับนักท่องเที่ยวโอเค แต่ตอนนี้ปัญหามันดูเหมือนนโยบายทั้งประเทศมันเปลี่ยนไปมา อยู่ๆ ไฟลต์บิน [ในประเทศ] ปิด จะมากรุงเทพฯ ต้องนั่งรถทัวร์ ทำให้คนที่มาในโครงการแซนด์บ็อกซ์ไม่แน่ใจในมาตรการนัก”
“และจำนวนคนติดเชื้อทั่วประเทศมันสูง ต่อให้ในภูเก็ตน้อย แต่นักท่องเที่ยวเขาก็ดูภาพรวม เขาก็อาจจะเกิดความไม่มั่นใจ” เธอทิ้งท้าย
คล้ายกันกับความเห็นของ ‘ปิ๋ม—พรรณนารี ณ นคร’ เจ้าของ Kim’ Massage & Spa ที่มีราว 10 สาขาทั่วภูเก็ต เธอมองว่าแซนด์บ็อกซ์เป็นโครงการแห่งความหวังของคนภูเก็ต ในช่วงที่มีการผลักดันแซนด์บ็อกซ์และให้คนในเมืองเตรียมตัว ทุกคนร่วมมือกันไปฉีดวัคซีนเต็มที่แม้ตอนนี้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนจะยังมีความน่าสับสน แต่เพราะทุกคนอยากให้เศรษฐกิจท่องเที่ยวกลับมาเดินหน้า และช่วงเปิดเมือง ก็ได้รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากรับแต่คนในพื้นที่มากว่าหนึ่งปี
“วันแรกเราไม่คิดว่าจะมีนักท่องเที่ยวแซนด์บ็อกซ์เข้ามาถึงเรา แต่ก็มีมาถึงใช้บริการ เขามากัน 4 คน 2 คู่ พี่ตื่นเต้นมาก รีบบอกให้ลูกน้องไปซื้อพวงมาลัยมาต้อนรับเขาเลยหลังจากให้บริการเสร็จ” เธอบอกว่าอยากสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
สำหรับพรรณนารี เธอคิดว่าแซนด์บ็อกซ์เป็นโครงการเริ่มต้นที่ดีกว่าไม่เริ่มอะไรเลย และคาดหวังว่ามันจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทว่าตอนนี้ก็เข้าใจสถานการณ์ภาพรวมประเทศที่วิกฤติ แต่ส่วนตัวคิดว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์สามารถไปต่อได้เพราะภูเก็ตขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวเองมาโดยตลอด
“ดังนั้นอยากให้ทางรัฐ ถ้าเมืองภูเก็ตขับเคลื่อนอะไรก็ช่วยอนุมัติให้เร็วน่าจะดีกว่า” เธอบอก
ไนต์ไลฟ์ที่หายไป : หนึ่งในเรื่องที่นักท่องเที่ยวตัดสินใจจะเดินทาง
“นักท่องเที่ยวยังบางตาอยู่นะ และนักท่องเที่ยวที่มาก็ยังคอมเพลนเยอะ ทั้งที่กลับไปหรือยังอยู่ในภูเก็ต เขาบอกว่า เมืองภูเก็ตยังไม่ได้เปิด 100% อย่างร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ผับ/บาร์) ตอนนี้ต้องปิดกันหมด เวลานักท่องเที่ยวมาเที่ยวมาเขาก็สงสัยว่า ชวนเขามาเที่ยวแต่มาถึงร้านพวกนี้ก็ปิด หรือบางร้านแอบเปิด นักท่องเที่ยวมานั่งก็โดนตำรวจลงจับกุม ซึ่งเป็นภาพที่สะท้อนต่อความเชื่อมั่น ผมไม่ได้กล่าวอ้างนะ คุยกับนักท่องเที่ยวมาเขาก็พูดแบบนี้จริงๆ”
“ในอนาคต ภาพข้างหน้ามันอาจจะกลายเป็นว่า นักท่องเที่ยวไม่มีความมั่นใจจะกลับมาเที่ยวอีกครั้ง”
‘โอ๋—วีรวิชญ์ เครือสมบัติ’ ประธานชมรมสถานบันเทิงหาดป่าตองให้ความเห็นกับเรา เขามองคล้ายกับชาลินีว่า มันคือจุดเริ่มต้น ‘ที่ดี’ แต่จะดีกว่านี้ ถ้าภูเก็ตและประเทศไทยพร้อม การเปิดแซนด์บ็อกซ์จะไปได้สวยมาก แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นติดขัดกับมาตรการหลายอย่าง
สิ่งที่ตามมาเขามองว่า พอนักท่องเที่ยวไม่ถึงเป้า (ซึ่งควรแตะวันละ 1,000 คน) ประชาชนที่เป็นระดับรากหญ้าจึงยังไม่ได้อะไรจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เท่าไหร่นักในความคิดเห็นของเขา
ในฐานะประธานชมรมหาดป่าตอง วีรวิชญ์มองว่า ไนต์ไลฟ์ภูเก็ตก็เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว นอกเหนือไปจากธรรมชาติและกิจกรรมทางทะเลต่างๆ ซึ่งตอนนี้ถูกสั่งปิดทั้งหมด และมักถูกปิดก่อน เปิดหลัง กิจการอื่นๆ ขณะที่ร้านอาหารเปิดได้แต่ห้ามขายแอลกอฮอล์
“การเปิดแซนด์บ็อกซ์มันไม่ควรมาจำกัดในเรื่องนักท่องเที่ยว ในเรื่องของการเปิดร้าน มันไม่ควรทำให้เป็นภาพและผลปากต่อปาก เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ไม่ดี”
โดยความเห็นส่วนตัวของวีรวิชญ์ เขามองว่าคำสั่งในจังหวัดบางส่วนไม่ไปกับบริบทแซนด์บ็อกซ์
“ในส่วนภูเก็ตเอง ผมมองว่าการป้องกันไวรัสยังไม่ค่อยยากสักเท่าไหร่ การเดินทางสัญจรเข้ามาในจังหวัดมีแค่ทางอากาศ ทางบก ทางเรือ ซึ่งเราเป็นเกาะมันควบคุมง่ายกว่า ถ้าเราจะเปิดพื้นที่ของเราจริงๆ คงต้องเคลียร์ในสะอาด 100% ก่อน นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเขาตรวจเข้มมาอยู่แล้วแล้ว จากนั้นเราก็อาจจะจำกัดพื้นที่แค่ในภูเก็ตเท่านั้น ซึ่งมันจะทำให้เมืองของเราเดินไปได้ ตอบโจทย์กว่านี้ เราเปิดแซนด์บอกซ์แต่ปิดเมืองมันไม่ตอบโจทย์อะไร” วีรวิชญ์ เสนอแนะ “ภูเก็ตมันเป็นพื้นที่ดูแลตัวเองได้อยู่แล้ว มีไฟลต์ต่างประเทศบินตรงอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องพึ่งพื้นที่อื่นในประเทศไทย”
เขายังบอกด้วยว่า ตอนนี้ภาพรวมของประเทศไทยตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงมากๆ และต้องมีการปิดไฟลต์บินในประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวต่อนอกพื้นที่ได้ยาก ซึ่งคำว่า ‘ภาพรวม’ พอสื่อสารออกไป มันดูเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้นการประชาสัมพันธ์ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ รัฐบาลควรตีโจทย์โปรโมตแค่พื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ให้เห็นสถานการณ์แซนด์บ็อกซ์ปลอดภัย ควบคู่ไปกับการทำมาตรการสมเหตุสมผลที่ดึงดูดคนเข้ามาในภูเก็ตได้
ข้อสรุปหลักๆ จากผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต มองตรงกันว่าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นจุดเริ่มต้น ‘ความหวังที่ดี’ ของคนในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากถึง 90% มาอย่างยาวนาน
ทว่ามาตรการบางอย่างในพื้นที่ยังไม่สมเหตุสมผลในการจัดการ COVID-19 ทำให้ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับภาพรวมของประเทศไทยยังมียอดผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้เกิดการปิดไฟลต์บินในประเทศ การที่นักท่องเที่ยวจะเดินทางต่อในจังหวัดอื่นตามเป้าหมาย ก็เป็นไปได้ยาก
และตอนนี้ก็มีหลายประเทศที่ถอดประเทศไทยออกจาก ‘ประเทศสีขาว’ ปลายทางการท่องเที่ยวปลอดภัย เพราะสถานการณ์ COVID-19 ทั่วประเทศหนักหนาขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา อาจจะเป็นความยากยิ่งขึ้นไปอีกสำหรับท่องเที่ยวไทย
การออกแบบแซนด์บ็อกซ์ หรือ ‘กระบะทรายทดลองการท่องเที่ยว’ จึงอาจจะต้องทบทวนใหม่ กลับไปปักหมุดแค่ภายในจังหวัด โปรโมตสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวด้วยคำว่า ‘ภูเก็ต’ เพียงเมืองเดียว ไม่เช่นกันกระบะทรายแห่งความหวังอาจถูกทิ้งร้างไว้ริมชายหาดอีกครั้ง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart