วงการดาราศาสตร์ทำให้ชาวโลกอย่างเราอึ้งอีกแล้ว เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์สามารถตรวจจับสัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์หนึ่งที่อยู่ห่างจากเรา 120 ปีแสง โดยถือเป็นการค้นพบที่สำคัญต่อวงการดาราศาสตร์หรือผู้ที่สนใจในประเด็นที่ว่าจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้ไม่ได้มีเพียงแค่เรา
เมื่อไม่นานมานี้ นาซา (NASA) เพิ่งรายงานว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (The James Webb Space Telescope) อาจค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับสัญญาณของสิ่งมีชีวิตซึ่งก็คือ โมเลกุลที่เรียกว่า ‘ไดเมทิลซัลไฟด์ (DMS)’ บนดาวเคราะห์ที่มีชื่อว่า K2-18b ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 120 ปีแสง
เล่าก่อนว่า ไดเมทิลซัลไฟด์ถูกผลิตโดยสิ่งมีชีวิตเท่านั้น “ไดเมทิลซัลไฟส่วนใหญ่อยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกเรา โดยมันถูกปล่อยออกมาจากแพลงก์ตอนพืชในทะเล” NASA กล่าว และก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2019 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (The Hubble Space Telescope) ตรวจพบไอน้ำในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นี้ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจที่จะศึกษาดาวเคราะห์นี้ต่อ
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยยังจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการมีอยู่ของมัน นอกจากนี้ พวกเขายังค้นพบก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งอาจหมายความว่ามีมหาสมุทรอยู่บนดาว K2-18b เท่ากับว่ายิ่งเพิ่มเปอร์เซ็นต์ของการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากคาร์บอนถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งมีชีวิต เช่น สิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา
ทั้งนี้ นักวิจัยยังจำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการมีอยู่ของไดเมทิลซัลไฟด์ และที่สำคัญถึงแม้ว่า นักวิทยาศาสตร์จะยืนยันการมีอยู่ของสารดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ที่นั่นจริงๆ “การค้นพบของเราถือเป็นก้าวสำคัญในการทำความเข้าใจดาวเคราะห์ไฮเชียน (Hycean Planet) หรือดาวเคราะห์ร้อนที่มีน้ำ ซึ่งอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอยู่ได้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น” นิกกุ มทุสุธาน (Nikku Madhusudhan) ศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์ฟิสิกส์ฯ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุ
นอกจากนี้ ซาฟวาส คอนสแตนตินู (Savvas Constantinou) นักดาราศาสตร์สาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวเสริมว่า “นี่เป็นเพียงการสาธิตเบื้องต้นว่ากล้องเจมส์ เว็บบ์สามารถสังเกตเห็นสิ่งต่างๆ บนดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจจะอาศัยได้”
อ้างอิงจาก