เมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.2022 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่ภาพชุดแรกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) ที่ทำเนียบขาวในวอชิงตัน ดี.ซี. ภาพที่ได้สร้างประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติด้วยการทำให้เห็นห้วงอวกาศส่วนลึกที่ไกลที่สุด โดยจุดที่ถ่ายได้ไกลที่สุดมีระยะทางไกลถึง 1.3 หมื่นล้านปีแสง อีกทั้งยังมีความละเอียดคมชัดมากที่สุดยิ่งกว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล และกล้องโทรทรรศน์ใดๆ ของมนุษย์ที่เคยบันทึกไว้ได้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ คืออะไร?
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ (James Webb Space Telescope) หรือเรียกสั้นๆ ว่า JWST เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนและสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ที่มีอายุการใช้งานมาสามสิบกว่าปีและใกล้ปลดประจำการเต็มที กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การนาซา (NASA) องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) และองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency) ผลิตโดยบริษัทนอร์ทธรอป กรัมแมน คอร์ปอเรชัน บริษัทเทคโนโลยีทางการทหารของสหรัฐอเมริกา จากการพัฒนามากว่า 26 ปี กับมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 366,000 ล้านบาท มันถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ.2021 และอยู่ห่างจากโลกของเราไปราว 1.5 ล้านกิโลเมตร
ส่วนประกอบที่สำคัญของมันคือกระจกเบริลเลียมเคลือบทองทรงหกเหลี่ยมจำนวน 18 ส่วน ซึ่งประกอบกันเป็นกระจกที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5 เมตร ทำให้มีความใหญ่กว่ากระจกของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลที่มีขนาด 2.4 เมตร 2.7 เท่า
เบริลเลียมเป็นวัตถุโลหะที่หายาก มีคุณสมบัติคือมีน้ำหนักเบา แต่มีความแข็งแรง ทนทานต่อการยืดขยาย และสามารถต้านทานการกัดกร่อนได้ดี เบริลเลียมส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ในส่วนประกอบของยานอวกาศ เครื่องบินความเร็วสูง ดาวเทียม และจรวดมิสไซล์
ส่วนประกอบที่สำคัญอีกชิ้นคือกล้อง Near-Infrared Camera (NIRCam) กล้องที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยที่สุดเท่าที่เคยมีมาบนโลก NIRCam มีหน้าที่หลักสองอย่าง (1) ในฐานะตัวสร้างภาพในความยาวคลื่น 0.6 ถึง 5 ไมครอน และ (2) ในฐานะเซ็นเซอร์หน้าคลื่นเพื่อให้กระจกเบริลเลียม 18 ส่วนทำงานเป็นหนึ่งเดียว
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ นั้นมีความไวต่อคลื่นแสงที่มากกว่าฮับเบิลถึงร้อยเท่า และสังเกตภาพในช่วงคลื่นอินฟราเรดด้วยความคมชัดที่มากกว่า รวมถึงเสถียรภาพและคุณภาพของภาพที่ส่งกลับมายังโลก ส่วนประกอบเหล่านี้จึงทำให้มันถ่ายภาพได้คมชัดกว่าฮับเบิลราว 2-3 เท่า และถ่ายได้ไกลยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า ด้วยประสิทธิภาพของมันและความสามารถในการสังเกตวัตถุและเหตุการณ์ที่ห่างไกลออกไปในเอกภพที่มนุษย์ไม่เคยหยั่งถึงมาก่อน จะทำให้สามารถศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้ชัดแจ้ง และอาจทำให้เข้าใจในการกำเนิดและวิวัฒนาการของอวกาศได้มากขึ้น
ทำไมต้องชื่อ ฮับเบิล และ เจมส์ เวบบ์?
กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ตั้งตามชื่อของนักดาราศาสตร์นามว่า เอ็ดวิน พาเวลล์ ฮับเบิล (Edwin Powell Hubble, ค.ศ.1889-1953) นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ชาวอเมริกัน ผู้ค้นพบและพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้วในจักรวาลของเรายังมีกาแล็กซีอื่นอีกจำนวนมาก และกาแล็กซีเหล่านี้ต่างกำลังเคลื่อนที่ห่างออกไปหรือเคลื่อนที่เข้าหากาแล็กซีของเรา ซึ่งมันได้ทำลายทฤษฎีของใครหลายคนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่นักดาราศาสตร์ต่างเชื่อกันว่า กาแล็คซีทางช้างเผือกคือสิ่งเดียวที่มีในเอกภพนี้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ถูกตั้งชื่อตามเจมส์ อี. เวบบ์ (James E. Webb) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของนาซาตั้งแต่ปี ค.ศ.1961-1968 และเป็นบุคคลสำคัญในโครงการอะพอลโล โครงการการบินอวกาศโดยมนุษย์ครั้งที่ 3 ของสหรัฐฯ ที่ประสบความสำเร็จในการนำมนุษย์ลงจอดบนดวงจันทร์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1968-1972
แต่หลังจาก ชอน โอคีฟ ผู้อำนวยการองค์การนาซาในขณะนั้น ได้ประกาศชื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวต่อไปจากฮับเบิลในปี ค.ศ.2002 ว่าจะใช้ชื่อตามเจมส์ อี. เวบบ์ มันได้ทำให้นักดาราศาสตร์บางคนรู้สึกผิดหวังที่กล้องตัวนี้จะไม่ถูกตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างเช่นฮับเบิล และตามมาด้วยคนอื่นๆ ที่คัดค้านด้วยเหตุผลที่ร้ายแรงกว่านั้น นั่นคือเหตุการณ์ที่เวบบ์จะต้องรับผิดชอบในการกระทำที่ไม่เหมาะสมในระหว่างก่อนที่เขาจะมาเป็นผู้อำนวยการของนาซา และในระหว่างที่เป็นผู้อำนวยการของนาซา
อะไรคือสิ่งที่ เจมส์ เวบบ์ ต้องรับผิดชอบ?
เวบบ์ดำรงตำแหน่ง United States Under Secretary of State ในกระทรวงต่างประเทศช่วงปี ค.ศ.1949-1952 เวบบ์มีส่วนรับผิดชอบในความพยายามกวาดล้างกลุ่มคน LGBTQ+ ออกจากงานภาครัฐทั้งหมด จากนโยบายของรัฐบาลของประธานาธิบดี แฮร์รี เอส. ทรูแมน หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ลาเวนเดอร์สแคร์’ (Lavender Scare)
The Lavender Scare คือการกวาดและล้างต่อต้านกลุ่มคน LGBTQ+ ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ระหว่างปี ค.ศ.1947-1961 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ข่มขู่และไล่ออกผู้ต้องสงสัยชาวอเมริกันอย่างน้อย 5,000 คนที่สงสัยว่าเป็นพวกรักร่วมเพศ มันคือนโยบายการล่าแม่มดเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่นำโดย สมาชิกวุฒิสภา โจเซฟ แมกคาร์ธี (Joseph McCarthy)
ในปี ค.ศ.1950 แมกคาร์ธีได้ประกาศว่า ทางภาครัฐมีรายชื่อของเจ้าหน้าที่รัฐจำนวน 200 คนที่เป็นคอมมิวนิสต์ และในปีเดียวกันนั้นเอง วาทศิลป์ทางการเมืองที่เชื่อมโยงลัทธิคอมมิวนิสต์กับการรักร่วมเพศได้กลายเป็นที่แพร่หลาย
แมกคาร์ธีและพนักงานรัฐบาลคนอื่นๆ ออกแถลงการณ์โดยกล่าวหาว่าเกย์และเลสเบี้ยนมีความอันตรายหรืออันตรายกว่าคอมมิวนิสต์ เพราะพวกเขามักถูกแบล็กเมล์ได้ง่าย ในช่วงเวลานั้นการรักร่วมเพศยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แมกคาร์ธีกล่าวว่าหากพวกคอมมิวนิสต์เจอคนเหล่านี้ พวกเขาจะถูกข่มขู่ให้เปิดเผยรสนิยมทางเพศของตนหากไม่ยอมบอกความลับทางรัฐบาล ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้จะยินดีที่จะเปิดเผยความลับของรัฐบาลเพราะไม่มีทางเปิดเผยรสนิยมทางเพศของตนอย่างแน่นอน วาทกรรมเรื่องนี้กลายเป็นความกลัวขนาดใหญ่ในหมู่ผู้คนในสหรัฐอเมริกา มันทำให้เกิดการกวางล้างองค์กรขนาดใหญ่
ภายในปี ค.ศ.1950 มีเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้รักร่วมเพศถูกไล่ออกกว่า 600 คน และเพิ่มเป็นกว่า 5,000 คนในเวลาต่อมา ทำให้กลุ่ม LGBTQ+ ไม่เพียงแต่สูญเสียงานไปเท่านั้น แต่บางคนที่ไม่สามารถรับมือกับความน่ากลัวของลาเวนเดอร์สแคร์ได้ ต่างเป็นโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1954 แอนดรูว์ เฟเรนซ์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ได้สารภาพแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางว่าเขาเป็นเกย์หลังจากการสอบปากคำเป็นเวลา 2 วัน หลังจากการสารภาพ เฟเรนซ์ถูกบังคับให้ลาออก และไม่ถึง 1 สัปดาห์ต่อมา เขาก็ฆ่าตัวตายด้วยการเปิดแก๊สจากเตาในครัวของเขา
ความหวาดกลัว การประท้วงต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศ บานปลายไปจนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1970 ในปี ค.ศ.1973 ผู้พิพากษาของรัฐบาลกลางได้ตัดสินว่ารสนิยมทางเพศเพียงอย่างเดียวไม่สามารถเป็นเหตุให้เลิกจ้างได้อีกต่อไป และในปี ค.ศ.1975 คณะกรรมการเจ้าหน้าที่แห่งรัฐได้ประกาศว่ารสนิยมทางเพศใดๆ ไม่สามารถถูกกีดกันจากการจ้างงานของรัฐบาลได้อีกต่อไป
แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีผู้ชายและผู้หญิงมากกว่า 10,000 คนถูกบังคับให้ออกจากงาน และฆ่าตัวตายนับไม่ถ้วน ในเดือนมกราคม ค.ศ.2017 จอห์น เคอร์รี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้ขอโทษอย่างเป็นทางการสำหรับเหตุการณ์การกวาดล้างลาเวนเดอร์สแคร์
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความสะเทือนใจ และยิ่งปะทุขึ้นไปเมื่อในยุคปัจจุบันที่มีความหลายหลายทางเพศที่อิสระมากขึ้น รวมถึงมุมมองที่ทุกคนไม่ควรมีคนใดคนหนึ่งถูกเลือกปฏิบัติจากความชอบที่เป็นเรื่องส่วนตัว
เรื่องราวของ เจมส์ เวบบ์ และการเรียกร้องขอเปลี่ยนชื่อกล้อง
ในปี ค.ศ.2021 นักดาราศาสตร์สี่คน ได้แก่ ลูเซียแอนน์ วัลโควิตซ์ จากชิคาโก, แชนดรา เพรสคอด-ไวน์สไตน์ จากมหาวิทยาลัยนิวแฮมป์เชียร์, ไบรอัน นอร์ด จากมหาวิทยาลัยชิคาโก และ ซาราห์ ทัทเทิล จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ทั้ง 4 คนได้ตีพิมพ์บทความคิดเห็นพิเศษใน Scientific American นิตยสารวิทยาศาสตร์ยอดนิยมของอเมริกา ในเรื่อง ‘จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์’ ในบทความมีการอ้างอิงถึงการเลือกปฏิบัติมากมายของนาซาในยุคของเวบบ์ หลังจากที่เขาได้เข้ามาเป็นผู้อำนวยการของนาซา วัฒนธรรมของลาเวนเดอร์สแคร์ยังไม่จางหายไป อาจเป็นเพราะมุมมองที่เขามองว่าความลับของเทคโนโลยีทางอวกาศในขณะนั้นเป็นเรื่องของภัยมั่นคงอย่างยิ่งในประเทศกับการแข่งขันกับคอมมิวนิสต์อย่างสหภาพโซเวียต เวบบ์ได้ไล่พนักงานออกหลายคน และหนึ่งในนั้นคือ คลิฟฟอร์ด นอร์ตัน เขาถูกไล่ออกจากองค์การนาซาในปี ค.ศ.1963 จากเหตุผลเพราะว่าเขาเป็นเกย์ และยังมีเอกสารในหน่วยงานที่อ้างอิงถึง ‘ธรรมเนียมปฏิบัติในหน่วยงาน’ ในการไล่ออกบุคคลที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศออกจากหน่วยงาน
“กล้องโทรทรรศน์ของเรา หากจะให้ตั้งชื่อตามมนุษย์ ก็ควรตั้งชื่อตามคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราเป็นตัวของตัวเองที่ดียิ่งขึ้น” ดร.เพรสคอด-ไวน์สไตน์ หนึ่งในผู้มีส่วนกับบทความคิดเห็นพิเศษกล่าว
ทว่า บิล เนลสัน ผู้อำนวยการของนาซาคนปัจจุบันและอดีตวุฒิสมาชิกรัฐฟลอริดา ได้ประกาศว่าเขาไม่เห็นความจำเป็นในการเปลี่ยนชื่อ ซึ่งทำให้นักวิจารณ์และกลุ่ม LGBTQ+ หลายคนไม่พอใจ
อีกหนึ่งหลักฐานมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ของ เดวิค เค. จอห์นสัน ซึ่งออกมาในปี ค.ศ.2006 ชื่อ The Lavender Scare ในหนังสือได้กล่าวถึงหลักฐานที่ระบุว่า เจมส์ อี. เวบบ์ ได้เป็นผู้นำในกระทรวงต่างประเทศกับการอภิปรายในวุฒิสภาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายในรัฐบาลกลางที่ทำลายล้างขับไล่กลุ่มคน LGBTQ+
Scientific American นิตยสารวิทยาศาสตร์ยอดนิยมของอเมริกา ออกความเห็นในบทความหนึ่งว่า “นักดาราศาสตร์หลายคนรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณสำหรับงานของเวบบ์ในฐานะผู้ดูแลนาซา พวกเขาอาจรู้สึกซาบซึ้งและคิดถึงช่วงเวลาของโครงการอะพอลโล แต่มันก็ไม่เพียงพอ เวบบ์อาจมีบทบาทเชิงบวกที่นาซา แต่มรดกที่เขาได้เคยกระทำเอาไว้ก็มีความเกี่ยวข้องเช่นกัน เราคิดว่าถึงเวลาเปลี่ยนชื่อ JWST แล้ว ชื่อของภารกิจอันสำคัญ ที่จะอยู่ในจิตวิญญาณควรสะท้อนถึงค่านิยมสูงสุดของพวกเรา”
อันที่จริงการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มเพศทางเลือกในหมู่กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและอาชีพของพวกเขาจนถึงปัจจุบัน ในปี ค.ศ.2016 American Physical Society ได้เผยแพร่รายงานที่ชื่อว่า ‘LGBT Climate in Physics’ โดยกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์และนักฟิสิกส์หลายคนที่เป็น LGBTQ+ ไม่รู้สึกปลอดภัยในที่ทำงาน พวกเขาต้องทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ถูกกีดกัน พวกเขารู้สึกว่าเป็นชนกลุ่มน้อย และจากการศึกษาในปี ค.ศ.2021 ที่ตีพิมพ์ใน Science Advances ก็กลับพบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน
การปฏิบัติต่อเพศทางเลือกเหล่านี้ต่อเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปถึงยุคของเจมส์ เวบบ์ แม้ว่าเขาจะพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่การกระทำเหล่านี้ยังคงหลงเหลืออยู่
Scientific American ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมในบทความหนึ่งว่า “สิ่งที่ เจมส์ เวบบ์ ทิ้งเอาไว้ คือสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับความฝันและความอิสระ ที่เราต่างได้รับแรงบันดาลใจจากการสำรวจห้วงอวกาศอันไกลโพ้น เราจะใช้กล้องโทรทรรศน์ใหม่นี้เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของกาแล็กซี ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบ และธรรมชาติของพลังงาน ซึ่งจะให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชะตากรรมที่จักรวาลมีต่อเรา และเราหวังว่าเราได้เรียนรู้บทเรียนบางอย่างเกี่ยวกับวิธีที่มนุษยชาติจะก้าวไปสู่อนาคตบนโลกนี้ แน่นอนว่ามันมีความยุ่งยากในการตั้งชื่อสิ่งต่างๆ ตามชื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่มีฮีโร่คนไหนสมบูรณ์แบบ แต่ทำไมเราไม่ตั้งชื่อให้เกียรติวีรบุรุษที่ทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อปลดปล่อยผู้อื่นให้เป็นอิสระ อย่าง แฮเรียต ทับแมน ผู้ที่เคยตกเป็นทาสและได้ใช้ดาวเหนือในการช่วยเหลือคนอื่นพาหลบหนีเพื่อนำทางพวกเขาไปสู่อิสรภาพ การตั้งชื่อว่ากล้องโทรทรรศน์อวกาศแฮเรียตทับแมน (HTST) ต่อจากฮับเบิลจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าความทรงจำของเธอจะอยู่บนสวรรค์เสมอ ซึ่งมันจะทำให้ใครหลายคนมีความหวังขึ้นมา
“นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นเครื่องเตือนใจว่าท้องฟ้ายามค่ำคืนนั้น เป็นมรดกร่วมกันของพวกเราทุกคน รวมถึงชาว LGBTQ เวลาสำหรับผู้นำที่สร้างประวัติศาสตร์ที่อันตรายได้สิ้นสุดลงแล้ว เราควรตั้งชื่อกล้องโทรทรรศน์ด้วยความรักสำหรับผู้ที่นำทางเราไปสู่อิสรภาพในอดีต และเต็มไปด้วยด้วยความรักต่อผู้ที่อยู่ในปัจจุบัน”
อ้างอิงข้อมูลจาก