หลังจากเกิดเหตุการณ์ยิงที่พารากอนเมื่อวานนี้ (3 ตุลาคม) จนนำมาซึ่งความเห็นของผู้คนในสังคม ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในหลากหลายมุมมอง วันนี้ (4 ตุลาคม) The MATTER จึงได้สรุปความเห็นบางส่วนที่กำลังเป็นที่ถกเถียงมาไว้ให้ทุกคนแล้ว
1. คำถามถึงการมีระบบเตือนภัย
ในปัจจุบัน การกระจายข่าวสารเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติหรือเหตุอื่นๆ อย่างกรณีมีการยิงกัน หรือพบวัตถุระเบิด ก็มักจะกระจายข่าวผ่านทางโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ทำให้ผู้ที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวอาจไม่สามารถหลบหนีได้ทัน หากไม่ได้ติดตามข่าวในโซเชียลมีเดียขณะนั้น
นั่นจึงเกิดเป็นข้อสังเกตตามมาว่า ประเทศไทยก็ควรจะมีระบบเตือนภัยอย่าง ‘Emergency Alert’ หรือเซลล์บรอดแคสต์ (Cell Broadcast) ที่รัฐบาลสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านทางโทรศัพท์ของผู้ที่อยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุได้เลย อีกทั้งยังไม่ควรจะมาในรูปแบบของข้อความในโทรศัพท์ แต่ก็ควรจะเป็นสัญญาณเตือนภัยที่ไม่ว่าจะปิดเสียงโทรศัพท์ไว้ หรือกำลังใช้งานแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ก็จะสามารถได้รับการเตือน
ประเด็นดังกล่าวนี้ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.จากพรรคก้าวไกล ได้ส่งข้อเสนอไปยังหน่วยงานรัฐ ผ่านที่ประชุม สภาฯ วันนี้ว่า “ขอให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยของรัฐแบบ cell broadcasting ที่จะเป็นการส่งข้อความเข้ามือถือทุกเครื่องบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ เนื่องจากในเหตุการณ์เมื่อวาน เป็นอีกครั้งที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนด้วยข้อความ SMS จากหน่วยงานรัฐ แต่ต้องอาศัยระบบแจ้งเตือนแบบ SMS ของเอกชนหรือการค้นหาข้อมูลกันเองในสื่อโซเชียลเป็นหลัก”
รวมไปถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ก็ยังได้ให้สัมภาษณ์วันนี้ ที่พารากอนว่า “ได้มีการคุยกับ รมต.ดีอี เรียบร้อยแล้วครับ มันไม่ใช่แค่ระบบเตือยภัยทาง SMS อย่างเดียว เป็นระบบเตือนภัยทั้งหมด ระบบการกระจายข่าวเพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง คงไม่ใช่เหตุการณ์นี้แค่เหตุการณ์เดียว”
นอกจากนี้ ก็ยังมีคำถามถึงการเตือนภัยในที่เกิดเหตุ ที่มีคนมองว่าควรจะประกาศเป็นภาษาต่างประเทศ เพื่อให้ชาวต่างชาติในบริเวณที่เกิดเหตุรับทราบข้อมูลอีกเช่นกัน
2. ข้อสังเกตเรื่องการนำเสนอข้อมูลส่วนตัวผู้ก่อเหตุ
ระหว่างการรายงานข่าวเรื่องการจับกุม มีการเผยแพร่ภาพจากกล้องวงจรปิดของผู้ต้องสงสัย กระทั่งเมื่อมีรายงานว่าสามารถจับกุมได้แล้ว และมีข้อมูลออกมาว่าผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุ 14 ปี ก็ยังคงปรากฏคลิปวิดีโอที่เปิดเผยใบหน้า รวมถึงภาพบัตรประชาชน และข้อมูลส่วนตัวอื่นๆ เผยแพร่บนโลกออนไลน์ จนนำมาสู่คำถามเรื่องการคุ้มครองผู้ต้องหาที่เป็นเด็ก
ต่อมา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ว่า กรณีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้น อาจนำไปสู่ ‘การตีตรา’ และ ‘สร้างความเกลียดชัง’ ในสังคม โดยมิได้คำนึงถึงสิทธิในความเป็นส่วนตัว และสิทธิในชื่อเสียงเกียรติยศของบุคคลตามที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 32 ประกอบพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
อีกทั้งทาง กสม.ระบุว่ายังขัดต่อหลักอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ที่ระบุว่า เด็กมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในความเป็นส่วนตัว ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรูปพรรณสัณฐาน ชื่อ และห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด
รวมไปถึง ทาง กสม.ยังเรียกร้องให้สังคม “หยุดเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นการเปิดเผยอัตลักษณ์และข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กผู้ก่อเหตุและครอบครัว” และหลีกเลี่ยงการนำเสนอรายละเอียดขแงเหตุรุนแรง หรือข้อมูลที่เป็นไปในลักษณะของการซ้ำเติมความสูญเสียของผู้เสียหาย
3. ความกังวลเรื่องพฤติกรรมเลียนแบบ
สืบเนื่องมาจากการเปิดเผยข้อมูลผู้ก่อเหตุและรายละเอียดเหตุการณ์ ทางคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยแพร่ข้อมูลจากการถอดบทเรียนเมื่อปี 2563 ที่ระบุว่า การนำเสนอข่าวในลักษณะการเปิดเผยชื่อ ภาพ เครื่องแบบ อาวุธ เรื่องราวส่วนตัว ประวัติ และแรงจูงใจในการก่อเหตุ ทำให้คนที่กำลังไขว้เขว จะสามารถรับรู้ถึง ‘ความคล้ายคลึง’ ของตนเองกับผู้ก่อเหตุ และยึดเป็นตัวเปรียบเทียบ
อีกทั้ง การนำเสนอประเด็นดังกล่าว ทางคณะจิตวิทยา ยังระบุว่า จะทำให้ผู้ที่จะกระทำความผิด มองเห็นถึง ‘รางวัล’ ที่จะได้รับ ก็คือการได้มีตัวตน มีพื้นที่ข่าว เพราะอาจทำใหเผู้ก่อเหตุรู้สึกว่าพวกเขามีตัวตน
เช่นเดียวกับทางพริษฐ์ ที่ระบุเช่นกันว่า ต้องการให้หน่วยงานรัฐเร่งสร้างความเข้าใจกับสังคมในการ ‘งดการประโคมข่าว’ หรือแชร์เรื่องราวเกี่ยวกับตัวตนและประวัติของผู้ก่อเหตุ เพื่อลดความเสี่ยงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ และเพื่อเป็นการส่งสัญญาณ ว่า ‘การกระทำอันอำมหิต’ ต่อเพื่อนมนุษย์แบบนี้ จะไม่มีวันทำให้คุณได้แสงหรือความสนใจ จากใครสักคน แม้แต่นิดเดียว
4. คำถามถึงการครอบครองปืน
หลังจากที่มีการนำเสนอถึงอาวุธที่ใช้ในการก่อเหตุ ก็มีการตั้งคำถามถึง ‘การเข้าถึง’ อาวุธดังกล่าวที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่ง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.พรรคเพื่อไทย ได้ให้ความเห็นไว้บน X (ทวิตเตอร์) ไว้เช่นกันว่า “สิ่งที่พวกเราต้องให้ความสำคัญต่อจากนี้ คือ…มีปืนได้อย่างไร…”
อย่างไรก็ดี พริษฐ์ก็ยังเสนอให้ “หาแนวทางปรับปรุงกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธมากขึ้นและมีกระบวนการที่รอบคอบมากขึ้น” และปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางค้าขายปืนนอกระบบ รวมถึงประเทศไทยยังจำเป็นต้องทบทวนเรื่องการครอบครองปืนทั้งระบบอีกเช่นกัน
5. ข้อถกเถียงเรื่องกฎหมายเด็ก
หลังจากที่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่สังคมสนใจก็คือ ผู้ก่อเหตุจะได้รับโทษอะไรบ้าง ซึ่งก็มีข้อมูลในเรื่องของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 วางหลักว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้
สังคมบางส่วนก็ตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายดังกล่าวอ่อนแอเกินไปหรือไม่ เพราะในกรณีนี้ แม้ผู้กระทำผิดจะเป็นเด็กอายุ 14 ปี แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนอารมณ์คนในสังคม สร้างความวิตกกังวล และความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิต ทั้งยังมีผู้ที่ต้องสูญเสียคนที่พวกเขารัก ทั้งยังมีคนที่ได้รับบาดเจ็บอีกเช่นกัน
ในขณะเดียวกัน คนบางส่วนที่ออกตัวว่า ไม่ได้ต้องการเข้าข้างเด็กผู้กระทำความผิด แต่่แสดงความเห็นในมุมมองว่ากฎหมายเด็กก็ควรจะต้องช่วยให้เด็กได้เรียนรู้จากการกระทำ และพฤติกรรมของตนเอง ถึงแม้จะตัดสินโทษให้หนักขึ้นก็อาจไม่ได้ช่วยป้องกันเหตุที่ตามมา ทั้งยังควรจะเป็นกรณีที่เป็นไปเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในสังคม รวมไปถึงเพื่อให้มีการป้องกันเหตุที่จะเกิดในอนาคตอีกด้วย
6. คำถามถึงการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิต
แม้ยังไม่มีการยืนยันว่าผู้ก่อเหตุมีอาการป่วยทางจิตเวชหรือไม่ แต่ก็เกิดเป็นการตั้งข้อสังเกตที่มองว่า โรงเรียนควรจะจัดให้มีบริการให้คำปรึกษาแก่เด็กนักเรียน ทั้งยังตั้งข้อสังเกตไปถึงเรื่องสภาพแวดล้อมที่เด็กอาศัยอยู่ ทั้งที่โรงเรียน และครอบครัว
ในวันนี้ มีรายงานว่า ห้างสรรพสินค้ายังเปิดเป็นปกติ พนักงานหลายคนยังคงต้องไปทำงาน ซึ่งก็มีความเห็นว่า น่าจะต้องให้พนักงานได้รับการตรวจสุขภาพจิตก่อนกลับมาทำงานตามปกติ และประชาชนผู้อยู่ในเหตุการณ์เอง ก็น่าจะมีการช่วยเหลือเรื่องบริการการให้คำปรึกษาด้วยเช่นกัน
รวมถึง ประชาชนผู้ติดตามข่าวสารเอง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ก็เริ่มแสดงความเห็นว่า เมื่อติดตามข่าวสารแล้ว ก็มีอาการวิตกกังวล หรือเครียดจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย โดยลิณธิภรณ์ ยังระบุเช่นกันว่า หนึ่งในประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญต่อจากนี้ คือผลกระทบที่จะส่งต่อสุขภาพจิตของคนในสังคม
อ้างอิงจาก
twitter.com(2)(3)(4)(5)(6)(7)(8)(9)(10)(11)(12)(13)(14)