หลังเหตุยิงที่สยามพารากอน (2 ต.ค.) ด้วย ‘แบลงค์กัน’ จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ครม.ได้มีมติควบคุมการเข้าถึงอาวุธปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนอย่างเข้มงวด และหนึ่งในนั้นที่โดนหางเลขไปด้วยคือ ‘บีบีกัน’
หลังมาตรการดังกล่าวออกมา คนในแวดวงบีบีกันต่างออกมาโพสต์แสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้ภาครัฐอย่าเหมารวมบีบีกันเป็นกลุ่มเดียวกับแบลงค์กัน โดยยืนยันว่าคนส่วนใหญ่มองบีบีกันในฐานะกีฬาชนิดหนึ่ง ที่สำคัญ ยืนยันว่าบีบีกันไม่สามารถนำไปแปลงเป็นอาวุธปืนได้
The MATTER ได้พูดคุยกับคนในแวดวงบีบีกันถึงมาตรการควบคุมปืนล่าสุด พวกเขามีความเห็นอย่างไรบ้าง ร้านค้าและสนามได้รับผลกระทบอย่างไร และพวกเขามองว่ามาตรการควบคุมอาวุธปืนที่ถูกทิศทางควรจะเป็นอย่างไรกันแน่ รวมถึงได้รวบรวมข่าวเกี่ยวกับบีบีกันจากเว็บไซต์ข่าวฉบับหนึ่งเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า บีบีกันไม่อันตรายจริงไหม
มาตรการควบคุมปืนใหม่
หลังจากเหตุยิงที่สยามพารากอน (2 ต.ค.) ผ่านมาได้ประมาณหนึ่งอาทิตย์ ครม. ได้มีมติออกมาตรการควบคุมปืนตามแนวทางของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด 5 ข้อ ได้แก่
- ให้หน่วยงานปกครองงดการออกใบอนุญาตสั่ง นำเข้า หรือค้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ชนิดแบลงค์กัน หรือสิ่งเทียมอาวุธปืนอื่นที่สามารถดัดแปลงเป็นอาวุธปืนได้โดยง่าย
- ขอความร่วมมือให้ผู้ครอบครองสิ่งเทียมอาวุธปืนมาขึ้นทะเบียนสิ่งเทียมอาวุธปืนกับเจ้าหน้าที่ปกครอง
- การขอใบอนุญาตซื้ออาวุธปืน (แบบ ป.3), ให้มีและใช้อาวุธปืน (แบบ ป.4) และ สั่งหรือนำเข้ากระสุนปืน (แบบ ป.2) สามารถมอบให้แก่สมาคมยิงปืนที่ขึ้นทะเบียนเท่านั้น และให้กวดขันว่ากระสุนปืนต้องตรงกับอาวุธปืนที่ครอบครอง
- งดการออกใบอนุญาตพกอาวุธปืนติดตัว (แบบ ป.12)
- หนังสือหน่วยงานอื่นๆ อาทิ สตช. และกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ปราบปรามการซื้อขายอาวุธปืนออนไลน์, กรมศุลกากร ให้ตรวจสอบอาวุธปืนที่นำเข้าว่ามีการดัดแปลงหรือไม่ และขอความร่วมมือการกีฬาแห่งประเทศไทยให้กวดขันผู้เข้าสนามยิงปืนอย่างเคร่งครัด โดยต้องบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล และผู้เข้าใช้บริการต้องบรรลุนิติภาวะแล้ว
สำหรับบีบีกัน ประเด็นสำคัญอยู่ที่ข้อ 1, 2 และ 5 ของมติ ครม.ดังกล่าว เนื่องจากมีการวินิจฉัยแล้วว่า บีบีกันถือเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน ทำให้ผู้ที่ครอบครองต้องขอขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานปกครอง และการซื้อขายบีบีกันทำได้ยากขึ้น เนื่องจากร้านค้าบีบีกันออนไลน์บนแพลตฟอร์มถูกระงับเอาไว้
แล้วคนในแวดวงบีบีกันได้รับผลกระทบอย่างไรจากมาตรการที่ออกมาบ้าง?
เสียงจากแวดวงบีบีกัน
“พอเขาออกมาตรการแบบนี้ บางทีผู้ปกครองที่เขาได้รับข้อมูลจากสื่อก็เข้าใจว่าบีบีกันเป็นกีฬาที่โหดร้าย รุนแรง บางคนบอกลูกห้ามเล่นเลยนะ ให้ขายปืนทิ้ง เพราะมันต้องเอาไปขึ้นทะเบียนนะ กลายเป็นว่าทุกคนเข้าใจบีบีกันผิดกันหมดเลย” ปุณยวัจน์ ชนะศรีโยธิน เจ้าของสนามและร้านค้าบีบีกันสามพรานกล่าว
“ได้รับผลกระทบเต็มๆ เลยครับ ลูกค้าที่สนามลดลงประมาณ 50% กระทบหลายขนาน ที่เหลือคือกลุ่มคนเล่นประจำอยู่แล้ว แต่กลุ่มขาจรที่จองสนามมา เขายกเลิกเลย” เจ้าของสนามสามพรานบีบีกัน กล่าว
อีกผลกระทบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นกับร้านขายบีบีกันคือ ช่องทางการขายตามแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Lazada หรือ Shopee ล้วนถูกระงับหลังมีมติ ครม.ให้กระทรวงดิจิทัลและ สตช. ควบคุมการซื้อขายอาวุธปืนและสิ่งเทียมปืนบนโลกออนไลน์ (จากการเช็กข้อมูลล่าสุดของ The MATTER เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2566 ไม่พบบีบีกันขายอยู่แพลตฟอร์มต่างๆ แต่บนเว็บไซต์ของร้านค้ายังขายได้อยู่)
“พอมีข่าวมาแบบนี้ ร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์ม เช่น Lazada หรือ Shopee จากที่เคยขายได้ก็ถูกระงับ มันไม่ควรเหมารวมกันแบบนี้” ปุณยวัจน์เล่าถึงร้านค้าบีบีกันของตัวเองบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถูกแบน ทำให้ยอดขายทางร้านลดลง
ทางด้าน โชติ (นามสมมติ) นักเล่นบีบีกันสมัครเล่นเล่าว่าคนในแวดวงบีบีกันมีหลากหลาย ทั้งกลุ่มที่เล่นเป็นกีฬา เก็บสะสม จนถึงกลุ่มนักจำลองประวัติศาสตร์ ซึ่งเขามีคนรู้จักที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และสะสมบีบีกันในฐานะอาวุธจำลองช่วงเวลานั้น ดังนั้น ในมุมของเขามาตรการที่รัฐออกมาจึง “ตีตราคนเล่นบีบีกันมากเกินไป เหมือนกับทำให้คนเล่นบีบีกันถูกมองว่ารุนแรง และสามารถใช้บีบีกันไปก่อนอาชญากรรมได้”
เขาแสดงความกังวลเรื่องการขึ้นทะเบียนบีบีกันไว้ 2 แง่มุม เรื่องแรกคือ อาจเป็นการเพิ่มภาระให้กลุ่มคนเล่นบีบีกัน ถ้าหากการขึ้นทะเบียนตามมาด้วยค่าดำเนินการหรือการขอใบอนุญาตในอนาคต เรื่องที่สองคือ อาจเปิดช่องให้ข้าราชการทุจริต โชติยกตัวอย่างการขอใบอนุญาต แบบ ป.3 และ ป.4 สำหรับซื้อและใช้อาวุธปืน ซึ่งตามกฎหมายการออกใบอนุญาตขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และถ้าบีบีกันจำเป็นต้องมีแบบดังกล่าว อาจเปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐทุจริตก็เป็นไปได้
“คนเล่นบีบีกันจะรู้ดีว่าเวลาจะขอใบ ป.3 หรือ ป.4 ขั้นตอนมันค่อนข้างนานและมีการใช้หลักดุลยพินิจ ทำให้คนเล่นปืนที่ขอใบเหล่านี้ต้องจ่ายตังให้เจ้าหน้าที่ หลายคนที่เล่นบีบีกันจึงกังวลว่าถ้าเอามาเข้าระบบแบบเดียวกัน มันจะต้องเจอเรื่องนี้เหมือนคนเล่นปืนหรือเปล่า” โชติกล่าวต่อ “ผมมองว่าถ้าเขาทำได้สำเร็จ จะย้อนกลับไปไม่น่าทำได้แล้ว เพราะมันเป็นการขัดผลประโยชน์เขา”
แล้วบีบีกันดัดแปลงได้ไหม
อีกคำถามสำคัญคือ แล้วบีบีกันสามารถดัดแปลงใช้เหมือนปืนจริงได้หรือไม่?
“ถ้าจะแปลงบีบีกันเป็นปืนจริง แทบจะต้องรื้อวัสดุทุกอย่างออกแล้วแทนที่ด้วยอุปกรณ์ปืนจริง หรือพูดง่ายๆ ว่าแทบไม่ต่างจากการซื้อปืนจริงใหม่ทั้งหมด ซึ่งปืนที่แปลงออกมานั้นก็จะไม่มีมาตรฐาน ไม่คุ้มทุนในการทำ” กิตติพงษ์ โพธิ์ทอง กัปตัน ICS ประจำประเทศไทย ผู้ผลิตบีบีกันรายใหญ่จากไต้หวันกล่าวกับเว็บไซต์ money and banking เมื่อวันที่ 10 ต.ค.
นอกจากคำให้สัมภาษณ์ของกิตติพงษ์ The MATTER ได้ลองสำรวจแท็ก ‘บีบีกัน’ ในเว็บไซต์สำนักข่าวเดลินิวส์พบว่า มีข่าวความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับบีบีกัน 15 ข่าว แบ่งเป็น
- ข่าวอาชญากรรมจากบีบีกันดัดแปลง 2 ข่าว
- ข่าวทลายผู้ดัดแปลงอาวุธปืนบีบีกัน 3 ข่าว
- ข่าวการใช้บีบีกันข่มขู่หรือสร้างความหวาดกลัว 10 ข่าว
ในยูทูป มีวีดีโอรีวิวปืนบีบีกันดัดแปลงอยู่หลายวีดีโด และบางตัวมียอดผู้ชมสูงกว่า 600,000 ครั้ง รวมถึงยังมีคลิปสอนแปลงบีบีกันที่มียอดผู้ชมกว่า 200,000 ครั้งเช่นกัน
จากข้อมูลที่ The MATTER ตรวจสอบสรุปได้ว่า ปืนบีบีกันบางชนิดสามารถแปลงเพื่อใช้กระสุนจริงได้ แต่ประสิทธิภาพจะด้อยกว่าปืนแบลงค์กันแปลงเพราะวัสดุและกลไกภายในปืนมีความแตกต่างกัน ที่สำคัญ การแปลงบีบีกันให้ใช้กระสุนจริงมีความเสี่ยงว่าปืนจะระเบิดและทำร้ายตัวผู้ใช้
หรือสรุปได้ตามคำของกัปตัน ICS ว่า ‘แปลงได้ แต่ไม่มีมาตรฐาน และไม่คุ้มทุนที่จะทำ’
ข้อเสนอควบคุมอาวุธปืน
3 จาก 4 คนที่ The MATTER ได้พูดคุยเห็นตรงกันว่ามาตรการควบคุมที่ภาครัฐออกมา ‘ไม่ตรงจุด’ เพราะนอกจากอาวุธที่ใช้ก่อเหตุที่สยามพารากอนจะไม่ใช่บีบีกันแล้ว (อาวุธก่อเหตุเป็นแบลงค์กันดัดแปลง) ตัวกลไกในบีบีกันก็ต่างจากปืนจริงจนการแปลงทำได้ยากมาก
“ขอให้ภาครัฐออกประกาศมาตรการฉบับใหม่ เอาให้ตรงจุดเฉพาะแบลงค์กันเท่านั้น โดยขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีแบลงค์กันไปขึ้นทะเบียนเพือแสดงความสุจริตใจ ต้องขออภัยวงการแบลงค์กัน แต่ต้องยอมรับว่ามันสามารถดัดแปลงทำเป็นอาวุธปืนได้จริง และทำได้ง่าย” สหรัฐ คนอยู่ เจ้าของสนามเฟรน บีบีกันกาญจนบุรีแสดงความเห็นต่อข้อเสนอควบคุมอาวุธปืน
สหรัฐเน้นว่าปัญหาเรื่องนี้อยู่ที่ความ ‘สุจริตใจ’ เพราะในมือของคนที่คิดร้าย คนกลุ่มนี้พร้อมดัดแปลงแบลงค์กันเป็นอาวุธ เช่นเดียวกับที่พร้อมใช้บีบีกันเพื่อก่ออาชญกรรม เช่นข่าวปล้นร้านทอง
เช่นเดียวกับโชติที่เชื่อว่า “ปืนไม่เคยฆ่าใคร มีแต่คนเอาปืนไปฆ่าคนอื่น” โดยเขามองว่าปัญหาอาชญกรรมจากปืนผ่านมาเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างมากกว่า เช่น คดีดาบตำรวจปล้นร้านทอง ซึ่งสาเหตุมาจากปัญหาเรื่องรายได้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและการทุจริตคอรัปชั่นของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือกรณีกราดยิงโคราชก็มีสาเหตุจากการเอารัดเอาเปรียบของผู้บังคับบัญชาในกองทัพ
“คดีจากปืนที่เกิดขึ้นบ่อยส่วนใหญ่มาจากตำรวจ เช่น ตำรวจเอาปืนสวัสดิการมาปล้นบ้าง มายิงบ้าง หนึ่งเพราะปืนสวัสดิการราคา สองตำรวจมีหนี้สิน ทุกอย่างเลยลงตัวทำให้เอาปืนไปก่อเหตุ” โชติกล่าวต่อ “ถ้าถามว่าแก้ปัญหายังไง ปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่ปืน แต่เป็นเรื่องโครงสร้าง เช่น รายได้ตำรวจที่น้อยเกินจนต้องเอาปืนไปก่อเหตุ”
อย่างไรก็ดี โชติเห็นด้วยว่าควรมีมาตรการคัดกรองการครอบครองปืนที่เข้มงวดกว่านี้ ไม่ควรใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเปิดช่องให้มีการทุจริตกว้างเกินไป
อีกประเด็นที่โชติเสริมคือ ภาครัฐควรจัดการปัญหาปืนผิดกฎหมายให้ได้ ไม่ว่าปืนไทยประดิษฐ์ หรือปืนแบลงค์กันดัดแปลง เพราะเป็นต้นเหตุของอาชญกรรมเช่นเดียวกัน
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่เห็นด้วยกับมติ ครม.ล่าสุด รัฐธนินท์ พีระพันธ์เดชา เจ้าของสนามบีบีกันและร้านขายปืน M4 ใน จ.ลำปาง ที่ขายทั้งบีบีกันและแบลงค์กันให้ความเห็นว่า ถึงแม้ร้านของเขาจะได้รับผลกระทบ แต่เขาเห็นด้วยกับมาตรการขึ้นทะเบียนสิ่งเทียมอาวุธปืนที่ออกมา เพราะมันจะช่วยลดการเข้าถึงปืนของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่ต้องการซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืนไปดัดแปลง รัฐธนินทร์ทิ้งท้ายว่า เขาเชื่อว่าแนวทางนี้จะยกระดับวงการคนชอบปืนและสิ่งเทียมอาวุธปืนให้ดียิ่งขึ้น
สุดท้ายแล้ว ต้องยอมรับประการหนึ่งว่าปืนไม่ใช่ผู้ร้ายทั้งหมดในคดีสะเทือนขวัญ เพราะเหตุผลเบื้องหลังอาชญากรรมซับซ้อนและเกี่ยวพันกับปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแยกไม่ออก ไม่ว่าเรื่องปัจเจกอย่าง หนี้สินส่วนตัว, ความสัมพันธ์ ตลอดจนปัญหาในภาพใหญ่อย่างความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาการกระจายอำนาจ
อย่างไรก็ดี การกำหนดนโยบายจากภาครัฐควรถูกต้อง แม่นยำ และไม่หว่านแหโดยรู้เท่าไม่ถึงการ เพราะทุกครั้งที่มีนโยบายหรือมาตรการสาธารณะใดๆ ออกมา มีบางกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์และบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างเหลีกเลี่ยงไม่ได้