ยังไม่ทันครบปีจากเหตุการณ์หนองบัวลำภู ประเทศไทยก็เกิดเหตุกราดยิงขึ้นอีกแล้ว ครั้งนี้เกิดขึ้นที่ห้างใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ แบบที่ผู้ก่อเหตุมีอายุเพียง 14 ปีเท่านั้น
การ ‘ถอดบทเรียน’ รอบนี้จึงต่างออกไป เพราะผู้ก่อเหตุไม่ใช่ทหาร ไม่ใช่อดีตตำรวจ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาเนิ่นนาน แต่เป็นเด็กอายุ 14 ที่หากอิงตามนิยามกฎหมายแล้ว เขาก็ยังมีสถานะเป็นเพียง ‘เด็ก’ ยังมีอายุไม่ถึงสถานะ ‘เยาวชน’ ด้วยซ้ำ
เป็นปกติที่สังคมจะแปรเปลี่ยนความกลัวเป็นความโกรธเคืองและไม่เข้าใจต่อเหตุการณ์ลักษณะนี้ และเป็นธรรมดาที่สังคมจะหันมาตั้งคำถามต่อเด็กผู้ก่อเหตุ ว่าทำไปทำไม เป็นเพราะอะไร ในสถานการณ์ที่ไม่อาจหาคำตอบได้โดยง่าย ทำให้บางคนสงสัยว่าเป็นเพราะปัญหาสุขภาพจิต บ้างตั้งคำถามว่าเป็นเพราะเกม ขณะที่บางคนเชื่อว่าเป็นเพราะผู้ก่อเหตุนั้น ‘เลวบริสุทธิ์’ จึงลงมือกระทำ อย่างไรก็ดี มีบางส่วนเช่นกันที่มองว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่นเดียวกับดอกไม้ที่คงไม่มีวันบานสะพรั่งหากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยเพียงพอ กลายเป็นความเห็นที่หลากหลายต่อเหตุการณ์สลดครั้งนี้
เพราะอะไรเด็กถึงตัดสินใจลั่นไก? สังคมแบบไหนสร้างคนลักษณะนี้ขึ้นมา? The MATTER ชวน นพ.เดชา ปิยะวัฒน์กูล จิตแพทย์ มาวิเคราะห์ถึงรากปัญหาที่สร้างพฤติกรรมลักษณะนี้ขึ้น ประกอบกับความเห็นในมุมการศึกษาจาก ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ครุศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทย ที่พูดถึงปมกราดยิงผ่านงานเสวนา ‘ถอดบทเรียนสังคมไทยจากกรณีกราดยิงพารากอน’
เหตุเก่าเกิดยังไม่ทันครบปี เหตุ (กราดยิง) ใหม่ก็เกิดอีกแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ระหว่างการสัมภาษณ์ว่าด้วยเรื่องการกราดยิงศูนย์เด็กเล็กฯ ที่ จ.หนองบัวลำภู นพ.เดชาเคยพูดกับเราว่า ‘เหตุกราดยิงจะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน’ แล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ โดยที่เวลาผ่านไปยังไม่ทันถึงขวบปีเต็มด้วยซ้ำ
ช่วงบ่ายของวันที่ 3 ตุลาคม เกิดเหตุกราดยิงขึ้นที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 3 คน และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 5 คน อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ก่อเหตุวัย 14 ได้ เขาถูกส่งไปควบคุมตัวที่สถานพินิจฯ ในวันต่อมา ก่อนจะถูกส่งตัวไปประเมินอาการจิตเวชที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
เราจึงเปิดบทสนากับจิตแพทย์ผู้นี้ว่า รู้สึกอย่างไรที่เคยทำนายไว้ปีก่อนแล้วดันเกิดขึ้นจริง เขาตอบกลับว่า ก็เป็นไปตามคาด ก่อนหน้านี้เคยบอกกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าให้เฝ้าระวังเดือนตุลาคม รวมถึงให้ไปตามสืบสวนและมอนิเตอร์กลุ่มลัทธิ (cult) ที่ชื่นชมผู้ก่อเหตุกราดยิงบนโลกออนไลน์ แต่ไม่มีใครใส่ใจอย่างจริงจัง
คำถามแรกๆ ในใจใครหลายคนหลังทราบเรื่อง อาจเป็นคำถามว่า นี่คือเหตุการณ์ลอกเลียนแบบ (copy cat) หรือไม่ ซึ่งจิตแพทย์คนนี้ให้ความคิดเห็นว่า นี่อาจไม่ใช่การลอกเลียนแบบโดยตรงเสียทีเดียว แต่อาจเป็นการได้รับแรงบันดาลใจจากการกราดยิงได้ เพราะปรากฏการณ์กราดยิงถือเป็นการระบาดรูปแบบหนึ่ง
“มนุษย์ที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต เห็นตัวอย่างการกระทำของผู้ร้ายและนึกชื่นชมยกย่องในใจว่าการกระทำนั้นคือทางออก ก่อนจะวางแผนกระทำตาม เป็นมนุษย์ที่มีมากมายก่ายกองในต่างประเทศ เมืองไทยไม่เคยคิดเตรียมรับมือกับสิ่งนี้” เดชา ระบุ
ในเบื้องต้น ผู้ก่อเหตุถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อ ได้แก่
1) ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
2) พยายามฆ่า
3) มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
4) พกอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
5) ยิงปืนในที่สาธารณะ
ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายอาวุธปืนและกระสุนให้ผู้ก่อเหตุถูกควบคุมตัวและฝากขังโดยไม่ได้รับอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ผู้เป็นพ่อของผู้ก่อเหตุต้องตระเวนไปขอขมาตามงานศพของผู้เสียชีวิต
เมื่อรากปัญหา คือ โครงสร้างสังคม?
“ปกติเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้ ต้องพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ จิตใจของเด็ก โรคภัยไข้เจ็บของเด็ก และสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมของเด็ก”
“เท่าที่ผมทราบ เดาว่ากรณีนี้ก็มีครบถ้วน คือ ครอบครัวอาจมีปัญหา เด็กอาจมีปัญหาทางพัฒนาการ มีปัญหาการปรับตัวเข้ากับโรงเรียน มีครบพร้อมทุกปัจจัยที่จะก่อให้เกิดฆาตรกรคนหนึ่ง” คือคำตอบของเดชา เมื่อเราถามว่า อะไรคือเบื้องหลังหรือรากปัญหาที่ส่งผลให้เด็กก่อเหตุลั่นไก
สำหรับเขา ตัวตนของผู้ก่อเหตุมีส่วนให้กระทำการจริง แต่สภาพแวดล้อมก็สำคัญเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระหว่างสนทนา เดชาย้ำบ่อยๆ ว่า สิ่งที่เขาพูดเป็นแค่การวิเคราะห์ในเชิงวิชาการเพื่อให้ความรู้สังคมเท่านั้น ไม่ใช่การฟันธงที่มีผลต่อรูปคดีแต่อย่างใด
“ผมเข้าใจว่า สิ่งแวดล้อมเองก็นำพาเด็กมาสู่จุดนี้ และในตัวเด็กเองก็มีอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาถอยหนีจากสังคมไปเก็บตัว และลามปามไปกันใหญ่จนกัดกร่อนทำลายการพัฒนาการ ทำลายความเป็นมนุษย์ และจิตวิทยาพื้นฐานในบางด้านของเขา จนเขามีพฤติกรรมต่อต้านสังคมอย่างที่เห็น” เดชา ระบุ
บางคนตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเด็กนั้นช่างเลวบริสุทธิ์เลยกลายเป็นผู้ก่อเหตุ ในประเด็นนี้เดชาอธิบายว่า คนที่เชื่อแบบนี้อาจหากำลังอะไรสักอย่างมาโทษเมื่อเจอปัญหาที่ซับซ้อนมาก แต่มนุษย์คือส่วนผสมระหว่างตัวตน จิตใจ ร่างกาย สังคม ครอบครัว และการเรียนรู้ ทุกอย่างจึงเป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
ดังนั้น การด่วนตัดสินว่าเด็กผิดปกติ หรือด่วนฟันธงต้นตอสาเหตุตั้งแต่เนิ่นๆ จึงอาจไม่ช่วยอะไร และยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายยิ่งขึ้น เพราะเดชาเชื่อว่ารัฐอาจฉกฉวยปัญหาที่ซับซ้อนมาเป็นโอกาสสร้างนโยบายครอบงำสังคมและบิดเบือนจากความเป็นจริง โดยเลี่ยงที่จะแตะสาเหตุเชิงโครงสร้าง
“เขา (รัฐ) ไม่เคยแตะโครงสร้างที่เป็นสาเหตุของปัญหานี้เลย เพราะเขารู้ว่าสังคมไม่เข้าใจ คนในสังคมไม่มีปัญญาพอจะเข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง รัฐเข้าใจแต่จะโกหกและบอกว่าไม่เข้าใจ เพราะเขาไม่อยากไปแตะโครงสร้าง เพราะเขาอยู่ได้ด้วยโครงสร้างนี้” เดชา กล่าว
สอดคล้องกับสิ่งที่อรรถพลเปิดเผยในงานเสวนา ‘ถอดบทเรียนสังคมไทยจากกรณีกราดยิงพารากอน’ ว่า เด็กไม่ได้เกิดมาพร้อมกับ DNA ของอาชญากร จึงไม่ควรมองปัญหานี้เป็นปัญหาของปัจเจกหรือครอบครัว
ในฐานะอาจารย์ครุศาสตร์ อรรถพลอธิบายว่า เด็กจะเติบโตได้โดยมีนิเวศทางสังคม หากเทียบกับไข่ดาว เด็กจะเหมือนไข่แดง ส่วนไข่ขาวที่อยู่รายล้อมจะเป็นครอบครัว เพื่อน สังคม โรงเรียน ระบบการศึกษา ยันการเมือง
อรรถพลชี้ว่า เด็กไทยต้องอยู่ท่ามกลางระบบการศึกษาที่เน้นการแข่งขัน มาจากระบบการศึกษาที่ไม่มองเด็กเป็นมนุษย์ และมาจากครอบครัวที่โดนสังคมไทยกล่อมเกลาเรื่องการแข่งขันและเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกอีกที ขณะเดียวกัน เด็กไทยก็อยู่ในสังคมที่ระบบการเข้าถึงปืนเป็นเรื่องง่ายระดับที่แค่เสิร์ชในกูเกิ้ลก็หาซื้อได้
เขากล่าวด้วยว่า “เราอย่าเพิ่งรีบโทษครอบครัวนึงเป็นจำเลยของสังคมให้รับผิดชอบเรื่องนี้ลำพัง สังคมต้องมีส่วนในการมองกัน ขนาดเด็กที่ดูจะมีความพร้อมสุด ก็ยังกลายเป็นคนที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกจูงใจให้ใช้ความรุนแรง”
“อย่าเพิ่งรีบสวมความเป็นมอนสเตอร์ (ปีศาจ) ให้ใครสักคนนึงเลย สังคมแบบไหนที่สร้างกลไกทางสังคมที่หละหลวมขนาดนี้ จนกระทั่งเด็กคนนึงสามารถเข้าถึงอาวุธได้ ปืนดัดแปลงได้ หรือสามารถเอาอาวุธไปใช้ทำร้ายคนอื่นด้วยรู้หรือไม่รู้ตัวก็ตาม”
จะป้องกันเยาวชนจากพฤติกรรมนี้ได้อย่างไร?
ประมวลกฎหมายอาญา ม.74 ระบุว่า ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิดไม่ต้องรับโทษ แต่ก็เปิดช่องให้ห้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ เพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้ เช่น ส่งตัวไปสถานฝึกอบรม กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ทุกครั้งที่เด็กหรือเยาวชนทำผิด บทลงโทษจะที่ถูกหยิบมาวิจารณ์ซ้ำๆ จากสังคมวงกว้าง โดยจำนวนไม่น้อยมักเห็นว่าควรต้องเพิ่มโทษเด็กและเยาวชนให้หนักกว่านี้ บางคนถึงกับเสนอให้ยกเลิกกฎหมายคุ้มครองเด็กเสีย แล้วให้เขาเหล่านั้นถูกตัดสินแบบผู้ใหญ่แทนไปเลย
เราจึงถามอรรถพลถึงปมเพิ่มโทษเยาวชนว่าจะช่วยแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งเขาตอบกลับว่า การเพิ่มโทษคงจัดการปัญหาไม่ได้ และอาจไม่ได้ทำให้เด็กและเยาวชนกลัวที่จะกระทำผิด นอกจากนี้ยังเสนอด้วยว่า ระเบียบที่ควรจะต้องแก้มากกว่า คือ กฎหมายเรื่องการครอบครองปืน
ในฐานะอาจารย์ด้านการศึกษา เขาเสนอว่า จะป้องกันเหตุลักษณะนี้ได้ ครูต้องฟังเด็กให้มากขึ้น ส่วนโรงเรียนต้องเปลี่ยนแปลงปรับปรุงระบบให้ครูได้รับหน้าที่ดูแลชีวิตของเด็กด้วย หรือก็คือ ให้ครูได้ใช้เวลาร่วมกับเด็ก และมีเวลาได้สังเกตเด็กมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอนอย่างเดียว ซึ่งการจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาได้นั้น จำเป็นต้องมีระบบประชาธิปไตยที่แข็งแรง
ส่วนเดชา ในฐานะจิตแพทย์ เสนอว่า ครอบครัวคือเกราะสำคัญที่จะป้องกันเด็กจากพฤติกรรมเช่นนี้ได้ จึงอยากให้ผู้ปกครองสร้างบรรยากาศที่ดีและมีคุณภาพกับครอบครัว เสริมสร้างความสุข ชวนลูกคุยอย่างสนิทสนม และไม่ทำให้โมงยามที่ใช้เวลาด้วยกันกลายเป็นชั่วโมงแห่งนรก ขณะที่สังคมก็ควรจะศึกษาทำความเข้าใจและให้ความสำคัญกับจิตวิทยาในครอบครัวและการเลี้ยงดูบุตร พร้อมกับช่วยกันอธิบายปัญหาให้ผู้คนเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ
เขาฝากเสียงเตือนถึงผู้ปกครองว่า สิ่งสำคัญสูงสุดในครอบครัว คือ ความสุข ให้ระวังอย่าหลงทางหรือถูกครอบงำจากสังคมว่าลูกต้องเป็นคนเก่ง หรือเราต้องเป็นคนรวย จนยอมแลกความสุขกับความสัมพันธ์ในครอบครัวเพราะคิดไปเองว่าหากลูกได้เรียนสูงๆ ทำงานดีๆ มีเงินและมีหน้าตา จะมีความสุขตามมาเอง เพราะนั่นไม่ใช่ความจริง
“ผมเข้าใจว่าผู้ใหญ่ก็โดนแรงกดดันว่า จะต้องเอาครอบครัวให้รอด ลูกต้องดีเด่นเก่งเกินกว่าลูกคนอื่น มันก็มากดดันลูกต่อ เป็นสังคมแห่งอำนาจบ้าๆ บอๆ มันก็กดทับกันมาเป็นชั้นๆ พูดง่ายๆ คือ เราบูลลี่กันมาเป็นชั้นๆ ตั้งแต่ยอดสุดจนล่างสุด กระทืบส่งต่อกันมา จนพ่อแม่ก็มากระทืบลูกต่อ มันก็เลยกลายเป็นสังคมป่วยไข้อยู่อย่างนี้”
“ความหวังเดียวของผม คือ ทุกคนค่อยๆ เรียนรู้ตระหนักปัญหานี้ของสังคม มองให้เห็นเหตุของปัญหา ว่าเป็นปัญหาระดับโครงสร้าง และช่วยกันมุ่งเป้าไปที่การจัดการอย่าให้โครงสร้างนี้มันดำเนินต่อไป” จิตแพทย์ กล่าว