ผ่านไปเกือบเดือนแล้ว นับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเปิดฉากโจมตีอิสราเอลครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จนขณะนี้มีผู้เสียชีวิตรวมกันทั้ง 2 ฝ่ายเกือบ 7,000 คนแล้ว อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่สงครามนี้เกิดขึ้น ผู้นำทั้งจากชาติตะวันตกและอาหรับต่างพากันออกมาแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ครั้งนี้แตกต่างกันไป ดังนั้น The MATTER จึงชวนทุกคนมาดูท่าทีของชาติตะวันตกและอาหรับว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เริ่มต้นที่ผู้นำจากชาติตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และอิตาลี ออกมาประณามฮามาสและประกาศจุดยืนเคียงข้างอิสราเอลตั้งแต่ช่วงแรกๆ อย่างสหรัฐฯ หรือผู้สนับสนุนหลักของอิสราเอล ได้ส่งกองเรือรบและฝูงบินขับไล่หนุนให้แก่อิสราเอล
นอกจากนี้ ยังมีประเทศอื่นๆ อีก อาทิ ออสเตรเลีย, นอร์เวย์ รวมถึงสมาชิกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่มีทั้งสิ้น 27 ประเทศ เช่น เบลเยียม, สเปน, ออสเตรีย และโปแลนด์ อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศข้างต้นที่เรียกร้องให้ผู้นำอิสราเอลปฏิบัติตามกฎหมายสากล และปกป้องชีวิตพลเรือนในฉนวนกาซา
ต่อมาเราจะกล่าวถึงประเทศที่ไม่สนับสนุนอิสราเอล ได้แก่ ตุรกี จอร์แดน และสมาชิกจากสันนิบาตอาหรับ (League of Arab) เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการโจมตีที่เกิดขึ้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมทั้งเรียกร้องให้คลี่คลายความขัดแย้ง
นอกจากนี้ มีประเทศที่ไม่สนับสนุนอิสราเอล แต่ในเวลาเดียวกันก็สนับสนุนกลุ่มฮามาส ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวไม่ใช่เพียงทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือทางการเงินและทางทหารอีกด้วย ได้แก่ อิหร่าน เลบานอน และกาตาร์ และยังมีบางประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับอิสราเอล พร้อมกับให้ความช่วยเหลือชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา เช่น กาตาร์, ตุรกี และจอร์แดน
ทั้งนี้ หลายวันที่ผ่านมา อิสราเอลเตรียมปฏิบัติการโจมตีภาคพื้นดินในฉนวนกาซา แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไหร่ แต่มีผู้คนมากมายออกมาแสดงความเห็นต่อความขัดแย้งนี้ว่า อาจจะยืดเยื้อไปอีกหลายเดือน เพราะตอนนี้ทางเหนือของอิสราเอล มีการปะทะกันระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นไม่ต่างกับในกาซา ไม่เพียงเท่านี้ อิหร่านยังออกมาประกาศว่าจะมาแทรกแซง ถ้าสถานการณ์ในกาซาไม่ดีขึ้น
อ้างอิงจาก
currentaffairs.adda247.com (2)