“ไม่มีทหารราบ ไม่มีผู้บังคับบัญชา ไม่มีผู้นำพลเรือน ไม่มีใครหน้าไหนที่จะสามารถกระทำความผิดโดยไม่ต้องรับโทษได้” คือถ้อยคำจากแถลงการณ์ของ ICC ในการขอออกหมายจับผู้นำอิสราเอล และผู้นำฮามาส
กว่า 7 เดือนแล้ว นับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสเริ่มต้นขึ้น เมื่อ 7 ตุลาคม 2566 โดยล่าสุด เมื่อวาน (20 พฤษภาคม 2567) คาริม ข่าน หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ขอออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาส ด้วยข้อหาก่ออาชญากรรมข้ามชาติ และเป็นวิกฤตทางมนุษยธรรม
บุคคลที่ ICC ต้องการออกหมายจับมีทั้งฝั่งอิสราเอลและฮามาส ได้แก่
– เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
– โยอาฟ กัลแลนท์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล
– ยาห์ยา ซินวาร์ ผู้นำฮามาสในกาซา
– อิสมาอิส ฮานิเยห์ หัวหน้าฝ่ายการเมืองของกลุ่มฮามาส
– โมฮัมเหม็ด อัล-มาซรี หรือเดฟ ผู้บัญชาการกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มฮามาส
จากการตั้งข้อหาทั้งสองฝ่าย ข่านระบุในแถลงการณ์ว่า “ในปัจจุบันนี้ เรายิ่งต้องแสดงให้เห็นว่ากฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นบรรทัดฐานสำหรับมนุษย์ในสถานการณ์ความขัดแย้ง จะต้องถูกบังคับใช้กับคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นี่คือวิธีที่จะพิสูจน์ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียม”
โดยข่านไม่ได้เปรียบเทียบความผิดระหว่างสองฝ่ายนี้แต่อย่างใด เพียงแต่พูดถึงข้อหาที่ทั้งสองฝ่ายได้ก่ออาชญากรรมสงครามหลายต่อหลายครั้ง โดยฮามาสทำลายล้าง ฆาตกรรม จับตัวประกัน ข่มขืน และทรมาน
ในขณะที่อิสราเอลใช้การจงใจทำให้พลเรือนเสียชีวิต การทรมาน และทำสงครามผ่าน ‘ความอดอยาก’ ของคนในฉนวนกาซา ซึ่งกัลแลนท์เคยกล่าวว่า “ผมได้สั่งปิดล้อมฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์ จะไม่มีไฟฟ้า อาหาร เชื้อเพลิง ทุกอย่างจะถูกปิดหมด เพราะเรากำลังต่อสู้กับสัตว์”
ข่านระบุในแถลงการณ์ว่า นี่เป็นการกีดกันไม่ให้พลเรือนในฉนวนกาซาเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตโดยเจตนา ทั้งนี้ อิสราเอลอ้างว่าการขาดแคลนอาหารเกิดจากการขโมยของกลุ่มฮามาส และความไร้ความสามารถของสหประชาชาติต่างหาก
อย่างไรก็ดี ไอแซก เฮอร์ซอก ประธานาธิบดีอิสราเอล ออกมาแสดงความเห็นว่า การนำสองกลุ่มนี้มาเปรียบเทียบกันเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น โดยเรียกฮามาสว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้ายที่โหดเหี้ยม’ และเรียกอิสราเอลว่าเป็น ‘รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย’
เนทันยาฮู ผู้ที่ถูกตั้งข้อหา ออกมาตอบโต้ด้วยความโกรธว่า “อิสราเอลทำสงครามอย่างยุติธรรมแล้วกับกลุ่มฮามาส เพราะฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้ายที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โจมตีชาวยิวที่เลวร้ายที่สุด” โดยเนทันยาฮู ยังเรียกข่านว่า เป็นผู้ต่อต้านยิวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน โดยบอกว่าการขอหมายจับนายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล จะเป็นการราดน้ำมันลงบนกองไฟ ให้การต่อต้านชาวยิวยิ่งลุกลามไปทั่วโลก
โดยเนทันยาฮูออกมาแถลงด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งสังเกตได้ว่ามักจะใช้ภาษาอังกฤษเมื่อต้องการสื่อสารกับชาวต่างชาติที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับเขา ในที่นี้ คือผู้คนในสหรัฐอเมริกา
จากกรณีดังกล่าว โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวในงานอเมริกันเชื้อสายยิว ที่จัดขึ้นที่ทำเนียบขาว ว่าการยื่นขอหมายจับนี้ถือเป็นเรื่องอุกอาจ เพราะมันไม่มีความเท่าเทียมอยู่ระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และอิสราเอลไม่ได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกาซาแต่อย่างใด
ด้านฮามาสก็ได้ขอให้ถอนข้อกล่าวหาเช่นกัน โดยเห็นว่า ICC กำลังมอง ‘เหยื่อ’ ผิดเป็น ‘เพชรฆาต’ พร้อมระบุว่า คำร้องขอออกหมายจับผู้นำอิสราเอลนั้นมาช้าไป 7 เดือนด้วยซ้ำ เพราะการเข้ายึดครองของอิสราเอล เป็นการก่ออาชญากรรมไปนับพันครั้งแล้ว
แม้จะมีเสียงไม่เห็นด้วย แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนกลับแสดงความชื่นชมต่อการที่อัยการจาก ICC พยายามใช้กฎหมายกับทั้งสองฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน โดย B’Tselem องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในอิสราเอลระบุว่า หมายจับนี้ได้สะท้อนว่าอิสราเอลกำลังเสื่อมถอยสู่นรกทางศีลธรรม และในคำแถลงยังเสริมว่า “ประชาคมระหว่างประเทศ กำลังส่งสัญญาณไปยังอิสราเอล ว่าจะต้องเลิกใช้ความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการทำลายล้าง โดยปราศจากความรับผิดชอบ”
ไม่เพียงแค่ส่งเสียงเรียกร้องไปยังอิสราเอลเท่านั้น นักรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนยังเรียกร้องต่อประเทศตะวันตกผู้ทรงอำนาจ ที่นำโดยสหรัฐฯ ว่าจะต้องไม่เมินเฉยต่อการที่อิสราเอลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
“อิสราเอล มีสิทธิที่จะปกป้องประชากรของตน แต่สิทธิดังกล่าวไม่ได้ทำให้อิสราเอลหรือรัฐใดๆ พ้นภาระผูกพันในการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ” แถลงจาก ICC
ขณะนี้ คณะผู้พิพากษาของ ICCกำลังพิจารณาว่าจะออกหมายจับหรือไม่ โดยมีผู้ลงนามแล้ว 124 ราย โดยที่สหรัฐฯ รัสเซีย จีน และอิสราเอลเองยังไม่ได้ลงนามแต่อย่างใด