“สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ งบประมาณถูกลงทุนกับสิ่งที่สำคัญกับชีวิตประชาชนจริงๆ ลงทุนไปแล้วชีวิตคนดีขึ้นอย่างจับต้องได้ ถ้าต้องใช้ 4 แสน 5 แสนล้าน ผมอยากใช้อย่างนี้ ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้คุณ”
ถ้ามีเงิน 5 แสนล้านบาทที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจสามารถบริหารจัดการประเทศไทย เขาจะใช้ทำอะไร?
วันนี้ (17 พฤศจิกายน) ที่พรรคอนาคตใหม่ ธนาธรจัดงานบรรยายสาธารณะหัวข้อ ‘ประเทศไทยควรได้อะไร หากต้องใช้ 5 แสนล้านบาท’ เพื่อเสนอแนวทางการใช้งบประมาณของประเทศอย่างคุ้มค่า สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ธนาธรเริ่มด้วยการอธิบายว่า GDP เราโตช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เราแพ้คนอื่น อย่างไรก็ดี มันก็ยังไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจเพราะ GDP ไม่ได้ติดลบต่อเนื่อง และปัญหาที่ใหญ่กว่า คือ ไทยไม่มีความสามารถในการแข่งขันกับโลก
โจทย์สำหรับเขา คือ การสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในประเทศ สร้างงานที่มั่นคง และเสนอว่า หากมีเงิน 5 แสนล้าน จะกระจายเงินไปลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5 ด้าน ดังนี้
- รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด 88,000 ล้านบาท
- ระบบแพทย์ทางไกลทั่วประเทศ 60,000 ล้านบาท
- น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ 67,000 ล้านบาท
- ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน 121,000 ล้านบาท
- จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ 120,000 ล้านบาท
“ทุกท่านครับ พูดมาทั้งหมดไม่ถึง 500,000 ล้านบาท ทำได้ รวมทุกก้อน 456,000 ล้านบาท” ธนาธร กล่าว โดยรายละเอียดแต่ละประเด็น มีดังนี้
1) การแพทย์ทางไกล (telemedicine) งบ 60,000 ล้านบาท : เป็นนโยบายสาธารณสุขที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ต้องรอคิวตรวจที่โรงพยาบาลนานหลายชั่วโมง โดยทำให้เครื่องที่สามารถตรวจวัดความดัน ค่าน้ำตาลในเลือด และสัญญาณชีพตั้งอยู่ในทุกหมู่บ้าน ทำให้สามารถพบหมอผ่านหน้าจอได้ รอรับยาที่บ้านได้ กรณีที่อาการป่วยคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก หรือหากเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะเชิญไปโรงพยาบาล
เขาเชื่อว่า นโยบายนี้จะทำให้ประชาชนประหยัดเวลา ลดต้นทุนการเดินทาง ขณะเดียวกันยังลดความแออัดในโรงพยาบาล แบ่งเบาภาระงานบุคลากรณ์ทางการแพทย์ สร้างงานให้ อสม. และสร้างฐานข้อมูลสาธารณสุขขนาดใหญ่ได้ด้วย
2) รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด งบ 88,000 ล้านบาท : เป็นนโยบายลงทุนด้านการขนส่งสาธารณะพื้นฐานที่ทั้งทำให้ลดใช้พลังงาน และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การทำงาน และการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ ธนาธรเผยว่ารถเมล์ไฟฟ้าจะมี supply chain ที่ใหญ่มาก ซึ่งหากใช้งบทำสิ่งนี้จริง จะขับเคลื่อนการจ้างงานทั้งระบบได้
ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจ 2 ข้างทางรายย่อยก็จะได้ประโยชน์มากขึ้นจากระบบขนส่งสาธารณะ ประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายการเดินทางลดลง มีโอกาสเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
3) น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ (งบ 67,000 ล้านบาท) : ธนาธรยืนยันว่า ประเทศที่เจริญแล้วล้วนมีน้ำประปาดื่มได้เพื่อลดรายจ่ายประชาชน พร้อมยืนยันว่า เราสามารถใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคุมและทำให้น้ำประปาดื่มได้จริง และเคยทำสำเร็จมาแล้วด้วย เช่น ตำบลอาจสามารถ ตำบลโพน เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังเสนอให้พัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการประปาด้วย เช่น พัฒนาระบบสมาร์ทมิเตอร์ การออก e-payment พร้อมกับเสริมสร้างอุตสาหกรรมการประปาโดยคนไทยได้อีกด้วย
4) จัดการขยะอย่างถูกสุขลักษณะทั่วประเทศ (งบ 120,000 ล้านบาท) : ธนาธรเชื่อว่า บ่อขยะในไทย 80% ไม่ได้มาตรฐานสุขอนามัย บ้านเราลงทุนกับการจัดการขยะน้อยมาก ขณะที่ต่างประเทศให้แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
ธนาธรอธิบายว่า บ่อขยะที่ถูกต้องตามสุขอนามัยต้องลงทุนเยอะมาก เช่น ขุดบ่อแล้วต้องปูสิ่งกันปฏิกูลซึมลงดิน ต่อท่อก๊าซให้มีเทนออกจากบ่อ ขุดท่อระบายน้ำเสีย ทำท่อบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น จึงเสนอให้ใช้งบประมาณจัดการ เพราะหากไม่ใส่งบประมาณ ยากที่บ่อขยะเดิมที่ไม่ถูกสุขอนามัย จะเปลี่ยนมาถูกสุขอนามัยได้
นอกจากนี้ งบส่วนนี้จะถูกนำไปพัฒนาโรงเผาขยะแปรรูปเป็นพลังงาน และงบจัดการอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยจะทำให้ทุกกระบวนการใช้วิธีทางวิทยาศาสตร์และวิชาการ
5) ลงทุนเพิ่มศักยภาพโรงเรียน (งบ 121,000 ล้านบาท) : ธนาธรยืนยันว่าการลงทุนด้านการศึกษาคือสิ่งจำเป็นและคุ้มค่าสูงสุด เพราะเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเรียนทักษะอนาคต เท่าทันเทคโนโลยี เพื่อให้เท่าทันกับ AI และระบบ automation ที่เข้ามาแทนที่มนุษย์
ธนาธรกล่าวว่า อุปกรณ์และเครื่องไม้เครื่องมือทั้งในการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม กีฬา คอมพิวเตอร์ และศิลปะ ที่รับรองกับการแสวงหาความรู้อันหลากหลาย ยังขาดแคลนในโรงเรียนไทย จึงเสนอให้เพิ่มงบทั้งในระดับอาชีวะ ระดับโรงเรียนขนาดพื้นฐาน และโรงเรียนขนาดเล็ก พร้อมกับเพิ่มงบกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา
อย่างไรก็ดี ธนาธรระบุด้วยว่า งบประมาณอาจถูกลงกว่านี้ก็ได้ เพราะโครงการและบริการสาธาณะจริงๆ แล้ว รัฐสามารถเลือกได้ว่าจะทำเอง หรือจะซื้อบริการจากเอกชน เช่น บางเทศบาลก็ไม่ได้จัดการขยะเอง แต่จ้างเอกชนมาบริหารจัดการเป็นต้น
“ดังนั้น เงินที่ต้องใช้จะแปรผันกับสมการ แต่ที่คิดคือ คิดแบบกรณีถ้ารัฐเป็นคนลงทุนเองเกือบทั้งหมด”
“มันมีทางเลือกเชิงการคลังว่าจะทำเองหรือให้เอกชนให้บริการ จะทำให้การบริหารงบประมาณยืดหยุ่นกว่านี้ อาจใช้งบน้อยกว่านี้ก็ได้ ถ้าเราเลือกที่จะดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ก็จะลดการใช้จ่ายภาครัฐ เพียงแต่ว่า การดึงเอกชนมาต้องอย่าให้การพัฒนาประเทศเป็นโอกาสในการฉกฉวยเงินรัฐและภาษีประชาชนเข้ากระเป๋านายทุนและพรรคการเมือง ต้องเป็นการพัฒนาที่เอกชนต้องกำไร แต่กำไรให้เหมาะสม ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม” ธนาธร กล่าว
ท้ายที่สุด ธนาธรบอกว่า สิ่งเหล่านี้สามารถใช้งบปกติทำได้ใน 8 ปี เพราะยังไงก็ไม่มีทางทำทุกอย่างเสร็จภายในปีเดียว
“สิ่งที่ผมอยากเห็น คือ งบประมาณมันถูกลงทุนกับสิ่งที่สำคัญกับชีวิตประชาชนจริงๆ ลงทุนไปแล้วชีวิตคนดีขึ้นอย่างจับต้องได้ ถ้าต้องใช้ 4 แสน 5 แสนล้าน ผมอยากใช้อย่างนี้ ใช้เพื่อแก้ปัญหาให้คุณ ใช้เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อให้ลูกหลานเรามีงานทำ เพื่อให้เรามีเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง” ธนาธร ทิ้งท้าย
เมื่อถูกสื่อมวลชนถามว่า คิดเห็นอย่างไรกับการแจกเงินดิจิทัลซึ่งเป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ธนาธรตอบกลับว่า ไทยวันนี้ยังไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจ จริงอยู่ที่เศรษฐกิจไม่ดี แต่หากต้องกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เขาก็ไม่เห็นด้วยและมองว่าไม่มีความจำเป็น