ในการอภิปรายนโยบายวันนี้ (11 กันยายน) ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.ก้าวไกล อภิปรายเกี่ยวกับนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล พร้อมระบุ “เสียดายที่ท่านนายกฯ ไม่ได้อยู่ฟังนะครับ แต่หวังว่าท่านคงจะได้ฟังในที่อื่น”
ชัยวัฒน์ วิเคราะห์ถึงความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจในตอนนี้ ด้วยการแจกเงิน และความเสี่ยงที่จะทำให้โครงการนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
ประเด็นแรก ชัยวัฒน์ระบุว่า สภาวะเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบัน และที่คาดการณ์ไปถึงครึ่งปีหน้า ไม่เหมาะสมที่จะต้องเร่งบริโภคด้วยนโยบายการแกเงินถ้วนหน้า
ชัยวัฒน์ อ้างรายงานสภาวะเศรษฐกิจไทยของหน่วยงานต่างๆ ทั้งแบงค์ชาติ สภาพัฒน์ฯ รวมไปถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าสภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในสภาวะฟื้นตัว ในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.2% และ ตัวชี้วัดก็บ่งบอกชัดเจนว่าการใช้จ่ายในประเทศกำลังเพิ่มขึ้น โดยดูจากอัตราการขยายตัว การบริโภค การลงทุนของเอกชน ซึ่งขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ผ่านพ้นช่วง COVID-19
ปัญหาที่กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ ชัยวัฒน์ระบุว่ามาจากภาคการส่งออก โดยครึ่งปีแรกของการส่งออก หดตัวต่อเนื่องจากปีก่อน โดยเฉพาะจากจีน
อีกทั้ง world bank และ IMF ก็ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโต GDP ในปี 2567 ของทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไทยลงไปอีก ซึ่งแนวโน้มนี้ ชัยวัฒน์ระบุว่า จะยิ่งส่งผลลบต่อการส่งออก และมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยแน่นอน
ชัยวัฒน์ระบุว่า จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ชัดว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยอยู่ที่การส่งออก ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน กำลังฟื้นตัวได้ดีอยู่แล้ว
“สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม ที่จะใช้มาตรการทางการคลังมากระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน” ซึ่งชัยวัฒน์กล่าวว่า มาจากการใช้มาตรการทางการคลัง ก็เหมือนกับที่นายกฯ ได้บอกว่าเหมือนกับการกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้น ซึ่งการกระตุ้นแบบนี้ควรต้องทำฝห้ถูกจังหวะเวลา
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ชัยวัฒน์มองว่า นโยบายแจกเงินถ้วนหน้า ควรทำเมื่อการบริโภคภาคเอกชนหดตัว ไม่ใช่ทำตอนที่การบริโภคกำลังขยายตัวเช่นนี้ โดยเขายังเทียบให้เห็นภาพอีกว่า ถ้าหัวใจไม่ได้หยุดเต้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะไม่แน่ว่าอาจจะทำให้คนที่หัวใจเต้นปกติยู่ อาจทำให้โดนกระตุ้นจนหมดสติก็ได้
สาเหตุของปัญหา ชัยวัฒน์มองว่าคือการขยายตัวการส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำลง ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งถ้ายังไม่มีการปรับโครงสร้าง ก็จะยิ่งลดลง
ทั้ง ถ้าดูข้อมูลในส่วนของบริษัท ชัยวัฒน์ก็พบว่าจะมีการกระจุกตัวสูง ซึ่งก็ควรทบทวน ว่าจะทำนโยบายแก้ปัญหาการส่งออกหดตัวต่อเนื่องอย่างไร รวมถึงทบทวนว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้คุ้มค่าเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อกระตุ้นให้ SME มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้การเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ ขยายตัวได้เร็ว แทนที่จะใช้งบประมาณเอาเงินมาแจก ที่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุด ไม่ถูกเวลา
ประเด็นต่อมา ชัยวัฒน์มองว่า คือการที่รัฐบาลคาดหวังว่าการแจกเงินจะทำให้เกิดพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้จริง เพราะการใช้จ่ายไม่ได้ขยายตัว แล้วก็ยังมีเงินรั่วออกไป อีกทั้ง ตัวคูณทางการคลัง (Fiscal Multipliers) [สัดส่วนที่บอกถึงการเพิ่มขึ้นของ GDP] ของการแจกเงิน ก็มีไม่ถึง 0.5 เท่า แต่ทางเพื่อไทยเคยบอกว่าคาดหวังให้มี ตัวคูณทางการคลัง 3-6 เท่า ซึ่งห่างไกลโลกแห่งความเป็นจริงไกลมาก
อีกทั้ง ชัยวัฒน์ยังระบุเพิ่มเติมว่า จะไม่ได้เกิดเป็นพายุหมุนทางเศรษฐกิจหลายรอบตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็น ‘พายุไต้ฝุ่น’ ที่ทำลายเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย ทิ้งซากปรักหักพังเป็นภาระการคลังของประเทศ ถ้าต้องกู้เงิน ก็จะเป็นหนี้ให้ลูกหลานมามาชดใช้ แล้วในที่สุด ลมนี้ก็จะเป็นลมพัดหวนกลับมาทำลายการบริหารของรัฐบาลเอง
การทำนโยบาบแจกเงินหนึ่งหมื่นผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ชัยวัฒน์มองว่า ไม่เหมาสมกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนี้ และผลลัพธ์ที่ได้จากการกระตุ้นก็ไม่ได้มากเหมืนอที่เคยโฆษณาเอาไว้
“อาจเป็นเทคนิคในการหาเสียงเท่านั้น แต่ที่แน่ๆ จะเป็นการเสียโอกาสในการนำงบประมาณมหาศาลนี้ ไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนอื่นๆ ที่สำคัญหว่า ทำให้ผู้เสียประโยชน์ที่แท้จริงคือประชาชน คือพวกเราทุกคน” ชัยวัฒน์กล่าว