“มันดูเหมือนนักเก็ตตัวจิ๋ว”
การค้นพบสัตว์ที่คาดว่าอาจจะสูญพันธุ์ไปแล้วเป็นสิ่งน่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งก็กำลังตื่นเต้นดีใจ หลัง ‘ตุ่นทองคำ’ ที่สูญหายไปเฉียด 90 ปี ถูกพบอีกครั้ง ขณะที่มันกำลังดำเนินชีวิตอย่างแฮปปี้ในธรรมชาติ
เล่าก่อนว่า ตุ่นทองคำ (Golden Mole) ถูกพบเห็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1936 ทำให้มันถูกจัดไปอยู่ในรายชื่อสัตว์ที่คาดว่าสูญหายหรืออาจจะสูญพันธุ์ไปแล้ว โดยองค์กร รี:ไวลด์ (Re:wild) ที่เปิดตัวแคมเปญ Search For Lost Species หรือ การค้นหาสายพันธุ์ที่หายไปอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และเชื้อรา
อย่างไรก็ดี เจ้าตุ่นทองคำจะอาศัยอยู่บริเวณทรายและพุ่มไม้ที่แห้งแล้ง ตามแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกาใต้ ซึ่งการค้นพบมันนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ง่ายเลย เพราะมันถือเป็นสัตว์นักเดินทางในทรายระดับมืออาชีพ ทำให้นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังการพบมันรู้สึกดีใจอย่างสุดขีด
โดยนักวิจัยทีมนี้ได้รับมอบหมายให้สํารวจเนินทรายแถบนี้อย่างน้อยประมาณ 18 กิโลเมตรต่อวัน เพื่อตามหาตุ่นสายพันธุ์นี้ ด้วยวิธีการการตรวจสอบและแกะรอย DNA สิ่งแวดล้อม (eDNA) ซึ่งเป็น DNA ที่สัตว์จะหลั่งเมื่อพวกมันเคลื่อนที่ผ่านสิ่งแวดล้อม ที่มีทั้งเซลล์ผิว ขน และของเหลวในร่างกาย ทั้งนี้ พวกเขาระบุว่า ความรู้สึกที่เหน็ดเหนื่อยหลังจากทำงานหนักมานาน กลับหายไปเป็นปลิดทิ้ง หลังพวกเขาพบกับสิ่งที่เฝ้าตามหามาแสนนาน
“มันหายไปนานมากๆ แต่ในที่สุดเราก็เจอมัน”
อ้างอิงจาก