“นี่เป็นก้าวสําคัญในการอนุรักษ์สายพันธุ์แรด” แรดขาวเหนือ (northern white rhinos) อาจจะตั้งครรภ์ด้วยวิธีการผสมเทียม ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถช่วยพวกมันจากการสูญพันธุ์ได้
เล่าก่อนว่า หลังจากที่แรดขาวเหนือตัวผู้ตัวสุดท้ายนามว่า ซูดาน (Sudan) ตายในปี 2018 การสูญพันธุ์ของพวกดูเหมือนจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเหลือแรดขาวเหนือตัวเมียเพียง 2 ตัวบนโลกเท่านั้น จนพวกมันจำเป็นต้องอยู่ภายใต้การคุ้มครองด้วยอาวุธ 24 ชั่วโมง ที่เขตอนุรักษ์ในเคนยา
ทว่า ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ ฟาตู (Fatu) และ นาจิน (Najin) แม่และลูกสาว แรดขาวเหนือตัวเมีย อาจมีโอกาสที่จะได้พบกับญาติๆ ของพวกมัน เพราะทีมนักวิจัยนานาชาติจากไบโอเรสคิว (BioRescue) มีเป้าหมายที่จะหยุดการสูญพันธุ์ของพวกมันไว้ให้ได้
และในเดือนกันยายน 2023 นักวิทยาศาสตร์ก็สามารถฝั่งตัวอ่อนให้แรดขาวใต้ (southen white rhinos) สำเร็จเป็นครั้งแรก สืบเนื่องจากการปฏิสนธินอกร่างกาย (In Vitro Fertiliztion) ก่อน
ดังนั้นภายในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนปีนี้ นักวิจัยคาดจะนำวิธีการดังกล่าวมาปรับใช้กับแรดขาวเหนือ โดยใช้สเปิร์มของแรดขาวเหนือตัวผู้ 2 ตัวที่ตายไปเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งแรดขาวใต้ตัวเมียจะเป็นผู้รับหน้าที่อุ้มท้องในช่วงแรก หรือ ประมาณ 16 เดือน
“เจ้าตัวอ่อนเหล่านี้คือ ข้อพิสูจน์ของทุกสิ่ง” โธมัส ฮิลเดแบรนดท์ (Thomas Hildebrandt) หัวหน้าโครงการ BioRescue กล่าว พร้อมเสริมว่า เทคนิคนี้เป็นขั้นตอนสําคัญในการช่วยแรดขาวทางตอนเหนือ
ทั้งนี้ หากความพยายามนี้ประสบความสําเร็จ ตัวอ่อนดังกล่าวจะถือเป็นแรดขาวเหนือตัวแรกที่เกิดในรอบ 20 กว่าปี นอกจากนี้ ยังสามารถปูทางสําหรับการอนุรักษ์แรดสุมาตรา (Sumatran rhinoceros) ต่อไป เพราะขณะนี้มีจํานวนเหลือเพียง 40 ตัวในโลก
อ้างอิงจาก