อะไรที่รัฐบาลทำดีแล้ว อะไรที่ยังไม่ชัดเจน ก้าวไกลมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลอย่างไรบ้าง?
วันนี้ (15 ธันวาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงวิเคราะห์ผลงานรัฐบาลเศรษฐาในวาระ 100 วันแรก โดยระบุว่าในการบริหารประเทศปีหน้า รัฐบาลควรจะมี road map ที่ชัดเจน พร้อมทั้งยังวิเคราะห์ถึงข้อดี ข้อที่ควรปรับปรุงแก้ไขของรัฐบาลอีกเช่นกัน
พิธากล่าวว่า ใน 100 วันแรกเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาสัญญาที่มีไว้กับประชาชนก่อนที่จะมาเป็นรัฐบาล รวมทั้งยังเป็นช่วงเวลาบริหารความคาดหวัง ความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนต่างประเทศ
ทั้งนี้ พิธาระบุว่า เข้าใจเรื่องข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของงบประมาณแผ่นดินหรือเรื่องเวลา แต่เพราะข้อจำกัดเหล่านี้ จึงทำให้รัฐบาลทั่วโลกหลายๆ รัฐบาล เห็นว่าจำเป็นต้องมี road map และ 100-day agenda เพื่อที่จะสามารถบริหารติดตามงานที่สั่ง รวมถึงเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนประเทศได้
ผลงานใน 100 วันแรกของรัฐบาลนั้น พิธากล่าวว่าเป็นช่วงเวลาที่สามารถบ่งบอกได้ถึงวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และบ่งบอกได้ว่าในอนาคตเราสามารถคาดหวังอะไรกับรัฐบาลได้บ้าง
I. วิเคราะห์ผลงานรัฐบาล
พิธายังได้กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ถึงผลงานรัฐบาล ภายใต้กรอบ ‘5 คิด’s’ ได้แก่
- คิดดี ทำได้
- ช่วยตัวประกันจากสงครามอิสราเอล-ฮามาส
- ฉีดวัคซีน HPV
- หนี้ในระบบ นอกระบบ (เรื่องการพักหนี้)
- คิดไปทำไป
- ดิจิทัลวอลเล็ต
- เงินเดือนข้าราชการ
- land bridge
- คิดสั้น ไม่คิดยาว
- ค่าไฟ ค่าเดินทาง
- รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย
- คิดใหญ่ทำเล็ก
- soft power
- visa-free
- ที่ดิน สปก.
- ค่าแรง
- คิดอย่าง ทำอย่าง
- ร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติ หรือ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง
- ปฏิรูปกองทัพ
II. ประเด็นที่ส่งผลกระทบกับประชาชนและประเทศชาติที่พิธาได้หยิบยกขึ้นมาขยายความ มีทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่
1. ช่วยเหลือตัวประกัน:
พิธาระบุว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไปแล้วเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังคงอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือตัวประกันที่ยังอยู่กับฮามาสอีก 9 คน เร่งอนุมัติเงินเยียวยาให้รวดเร็ว ไม่ล่าช้า อำนวยความสะดวกให้สามารถกลับไปทำงานที่อิสราเอลได้ พร้อมทั้งดูแลแรงงานที่ยังอยู่ในอิสราเอลระหว่างช่วงสงคราม และพัฒนาระบบช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน
2. ดิจิทัลวอลเล็ต:
พิธากล่าวว่า เข้าใจว่าการทำนโยบายในบางครั้งก็อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรืออาจคิดไม่ครบในครั้งเดียว แต่สำหรับนโยบายครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีประชาชน
ก้าวไกลเห็นด้วยกับการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเห็นด้วยที่จะต้องใช้เทคโนโลยีในการทำแบบนั้น แต่งบประมาณที่ใช้ ไม่ควรกระทบพื้นที่ทางการคลัง เพื่อมาแก้ไขปัญหานี้
อีกทั้ง พิธายังเห็นว่า มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้อย่างน้อย 4 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่มาของเงิน การใช้เทคโนโลยี จำนวนคนที่จะได้ใช้ดิจิทัลวอลเล็ต และระยะเวลาการเริ่มใช้ดิจิทัลวอลเล็ต โดยสิ่งที่ทางก้าวไกลคาดหวังจากรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องนี้คือการมีแผน 2
3. ค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าขนส่งสาธารณะ:
ประเด็นค่าไฟ พิธากล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลทำแล้วคือการลดค่าไฟ แต่ต่อมา กกพ.ก็มีมติเพิ่มค่าไฟ ซึ่ง ครม.ยังไม่มีความชัดเจนถึงเรื่องนี้
“อันนี้ก็แสดงให้เห็นว่า หลายครั้งที่นายกฯ มีข้อสั่งการการประชุม ครม. แต่ไม่มีการตามงานต่อว่าการจะให้ลดให้ได้ถึงเป้าหมายนั้นต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วต้องให้ข้าราชการทำอย่างไรบ้าง” พิธากล่าว
พิธากล่าวถึงสิ่งที่คาดหวังจากรัฐบาลในเรื่องค่าไฟคือ อยากให้พูดถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และเร่งแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อลดค่าพร้อมจ่าย
ส่วนค่าโดยสาร ประชาชนไม่ได้เดินทางโดยรถไฟอย่างเดียว แต่หลายคนยังคงเดินทางด้วยวิธีอื่น เช่น รถเมล์ เรือ ดังนั้น พิธาจึงมองว่า รัฐบาลควรจะทำให้ขนส่งสาธารณะเดินทางสะดวกโดยการพัฒนาตั๋วร่วม ที่จะช่วยทำให้คนมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
แต่ถ้าจะมองแค่ในเรื่องรถไฟอย่างเดียว พิธากล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ตรงจุดก็คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่มีผู้โดยสารจำนวนมากกว่า
4. นโยบาย soft power:
พิธากล่าวว่านโยบายนี้ มีความสำคัญในการเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ และการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจไทย
พิธากล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ การตั้งคณะกรรมการ soft power การเคาะงบประมาณ การตั้งศูนย์บ่มเพาะ และจะทำเฟสติวัล ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี และคล้ายคลึงกับสิ่งที่ก้าวไกลเคยเสนอไว้
แต่สิ่งที่ควรจะเป็นที่พิธาเสนอไว้คือ ต้องสร้างเสรีภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน อย่างการเสนอแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์, ยื่น พ.ร.บ.ตั้ง THACCA , เพิ่มงบประมาณหน่วยงานเดิมที่มีอยู่, แก้กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศ เพื่อลดขั้นตอนขออนุญาตกองถ่ายหรือจัดเฟสติวัล, สนับสนุนการรวมตัวของแรงงานฟรีแลนซ์ และการแก้กฎกระทรวงสุราก้าวหน้า
5. การแก้รัฐธรรมนูญ:
พิธากล่าวถึงประสบการณ์การทำงานกับเพื่อไทยที่ผ่านมาว่า เพื่อไทยกับก้าวไกลมีแนวคิดส่วนใหญ่ที่ใกล้เคียงกัน [เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ] แต่เมื่อเพื่อไทยเข้าร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันที่ไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและไม่ต้องการปฏิรูปกองทัพ ก็เห็นถึงความไม่ชัดเจนในกรณีดังกล่าว
สิ่งที่พิธาเห็นว่าควรจะเป็นคือ มีการถามเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ, ถามว่า สสร.ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ และ สสร.ควรมีอำนาจพิจารณาแก้ร่างรัฐธรรมนูญทุกหมวดหรือไม่
ทั้งนี้ พิธายังเห็นว่าควรมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องแก้ไขทุกหมวด และ สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100%
III. ภาพต่อไปในปีหน้า
พิธายังกล่าวถึงความคาดหวังในการบริหารของรัฐบาลในปีหน้า “เราต้องการเห็น road map 1 ปีว่าวิสัยทัศน์คืออะไร เป้าหมายคืออะไร แผนในการปฏิบัติการคืออะไร”
พิธายังได้เสนออีกว่า การทำงานของรัฐบาลปีหน้าควรมี ‘Strategic Roadmap’ ที่ชัดเจน ได้แก่
1. ควรมีแผนที่ชัดเจนในการทำงาน
เริ่มจากการมาแถลงงบประมาณต่อสภาชี้แจงว่าในอีก 1 ปีข้างหน้ามีแผนจะทำอะไรบ้าง พร้อมกับตัวชี้วัดที่ฝ่ายค้านจะสามารถวัดผลได้อย่างชัดเจน
2. รัฐบาลต้องมีกระบวนการทำงานที่เป็นมืออาชีพ:
การสั่งการต้องไม่สับสน ก่อนประกาศอะไรต้องคิดถึงวิธีที่จะนำไปสู่การปฏิบัติเสียก่อนนอกจาก ‘know what’ ต้องมี ‘know how’ ด้วย ไม่ใช่คิดไปทำไป ให้ข้าราชการเสนอมาพอไม่ถูกใจก็ให้ไปแก้ใหม่โดยที่ไม่มีภาพชัดเจนเลยว่าต้องการอะไรกันแน่
3. รัฐบาลผสมต้องทำงานให้เป็นเอกภาพ:
ต้องพูดคุยกันให้ตกผลึกถึงนโยบายหรือโครงการเรือธงของตนเอง ไม่ใช่มาขัดแย้งในขั้นดำเนินการ และนายกฯ ต้องมีอำนาจนำเหนือ ครม.อย่างแท้จริง
4. ทำการศึกษาโครงการอย่างละเอียดเสียก่อนประกาศออกไป:
หากรัฐบาลจะมีโครงการอะไรที่เป็น mega project อีก เช่น land bridge ก็ขอให้ทำการศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อนประกาศออกไป
อ้างอิงจาก