เมื่อสัญญาณบอกถึงฤดูหนาวไม่ใช่ซานต้าหรือเพลงแม่มารายห์ แต่เป็นการที่เราหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่ป้าที่ตบหน้าเด็กนักเรียนกางเกงน้ำเงินท่ามกลางบรรยากาศคริสต์มาสที่คลอด้วยเพลง Joy to the World
เรื่องราวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ที่จู่ๆ คลิปเด็กบู๊กับอาม่ากลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ โดยสถานการณ์เริ่มต้นจากการที่อาม่าคุยโทรศัพท์เสียงดังรบกวนเด็กๆ ที่กำลังสอบหรือติวหนังสืออยู่บริเวณนั้น เด็กกางเกงน้ำเงินจึงเข้าไปตักเตือน แต่อาม่ากลับตบหน้าเด็ก จนเด็กคนนั้นตบกลับพร้อมกับถามว่า “มึงมาตบหน้ากูทำไม?” แบบที่มีเพลง Joy to the world หรือเพลง ‘พระทรงบังเกิด‘ เปิดคลอเป็นแบ็คกราวด์มิวสิก
คลิปนี้กลายเป็นมีมสร้างเสียงหัวเราะและชวนให้เราตั้งคำถามกับระบบอาวุโสในสังคมไทย อย่างไรก็ดี หากเรามองให้ไกลกว่าความขบขัน คลิปนี้อาจสะท้อนถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กในสังคมไทยได้อย่างดีเยี่ยม
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้เอ็กซ์ (ทวิตเตอร์) รายหนึ่งมาแสดงตัวตนว่าเป็นน้องกางเกงน้ำเงินในเหตุการณ์ และเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า อาม่าคุยโทรศัพท์ด้วยคำหยาบเสียงดัง จนผู้ปกครองแถวนั้นให้ลูกตัวเองปิดหู อาม่าจึงหันไปด่าผู้ปกครองก่อน จนเขาที่นั่งฟังอยู่ตลอดเข้าไปพูดกับอาม่า และเหตุการณ์ก็จบลงอย่างที่เห็นในคลิป
เหตุการณ์ผ่านมา 4 ปีแล้ว น้องนักเรียนทุกวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง The MATTER ติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าตัวผ่านเอ็กซ์ ว่าด้วยประเด็นความรุนแรงต่อเด็กในสังคมไทย
‘เอ้บ‘ คือนามสมมติที่เด็กในคลิปบอกกับเรา ปัจจุบันเอ้บเพิ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้หมาดๆ มีงานอดิเรกคือการเต้น ร้องเพลง และวาดรูป เขาบอกว่าตัวเองเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่มีความฝันและความสุขไม่ต่างจากใคร
เมื่อถามว่า มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกเช่นไร เอ้บตอบกลับว่า หากย้อนเวลากลับไป เขาคงเลือกปกป้องตัวเองเหมือนเดิม
“ถ้ามองย้อนกลับไป เอ้บก็คงเลือกปกป้องตัวเองเหมือนเดิมครับ .. เอ้บไม่ยอมก้มหัวให้เพียงเพราะโตกว่า ไม่ได้ตอบโต้ด้วยความสะใจ แต่ต้องการที่จะปกป้องสิทธิ์ในตัวร่างกายของเองครับ“
“แต่ก็มีส่วนที่รู้สึกผิด มันมีหลายวิธีมากในการจัดการปัญหาที่ดีกว่าการใช้ความรุนแรงต่อกัน เอาจริงๆ ก็ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องยอมให้ใครก็ตามมารุกล้ำเราแบบนี้” เอ้บ ระบุ
เราชวนเจ้าตัวมองเหตุการณ์นี้ว่ามันสะท้อนสังคมไทยอย่างไรบ้าง เอ้บตอบว่า เหตุการณ์คริสต์มาสครั้งนั้นสะท้อนปัญหาได้หลายมิติ โดยเฉพาะปัญหาระบบอาวุโสที่ผู้ใหญ่มักใช้ทำร้ายเด็กผ่านการพร่ำสอนว่า ‘ผู้ใหญ่ถูกเสมอ‘
“ปัญหามาจากการที่ผู้ใหญ่บางคนคิดว่าตัวเองโตกว่าและสามารถจะทำอะไรก็ได้ และจริงๆ ก็ไม่ได้มีแค่การทำร้ายร่างกาย แต่มีเรื่องการทำร้ายทางจิตใจผู้ที่ด้อยกว่าด้วย“
“ถ้าไม่มีพี่ที่ถ่ายคลิปวันนั้น ไม่มีทุกคนบนโลกออนไลน์ในวันนั้น เอ้บอาจจะโดนลงโทษจากผู้ใหญ่ในสังคมบางคนที่คิดเอาตัวเองเป็นใหญ่ มันอาจจะส่งผลกับเอ้บมาก” เอ้บ ระบุ
แล้วจากวันนั้น สิทธิเด็กในไทยพัฒนาขึ้นไหมในสายตาเอ้บ? เอ้บมองว่า ผู้คนเริ่มตระหนักถึงเรื่องสิทธิเด็กมากขึ้น มีการออกมาปกป้องเด็ก เริ่มกล้าตำหนิสิ่งที่ผู้ใหญ่ก็ผิดพลาดได้ และหลายคนก็เริ่มกล้าต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้องมากขึ้น
ท้ายที่สุด เราถามเอ้บว่ารู้สึกอย่างไรที่ได้กลับมาเป็นมีมในทุกๆ ปี เขาตอบว่า ดีใจที่สังคมตระหนักถึงความถูกต้องมากขึ้น ดีใจที่ทำให้คนกล้าปกป้องสิทธิตัวเอง และดีใจที่ได้เป็นเสียงหัวเราะ
“เอ้บโอเคที่ได้เห็นมัน (คลิป) อีกครั้งนะ ขอบคุณทุกคนจริงๆ ที่ถามถึงความรู้สึกว่าโอเคไหมที่ถูกพูดถึง หรือเป็นมีมต่างๆ เพราะมันก็ได้กลับมาเตือนทุกคนอยู่เสมอว่า เราไม่ควรเมินเฉยต่อการกระทำที่ไม่ถูกต้อง“
เหตุการณ์ครั้งนี้คงให้บทเรียนที่หลากหลายต่อสังคม และสิ่งหนึ่งที่มั่นใจได้แน่ คือ เหตุการณ์นี้ทำให้ใครหลายคนฟังเพลง Joy to the World เหมือนเดิมไม่ได้อีกต่อไป