เวลาเรานึกถึงคริสต์มาส เรามักนึกถึงเทศกาลแห่งแสงไฟ กล่องของขวัญ วันหยุดยาวและการรวมตัวของครอบครัวหรือคนที่รัก และห้วงเวลาที่มีฉากหลังเป็นฤดูหนาวที่บรรยากาศเงียบสงบลง ผู้คนมารวมตัวกัน จะมีอะไรดีไปกว่าการเล่าเรื่องผี
ในยุควิกตอเรียน อันเป็นยุคสมัยที่เป็นเหมือนรอยต่อและรากฐานของโลกสมัยใหม่ ในสมัยนั้นในช่วงวันคริสต์มาสมีธรรมเนียมสำคัญหนึ่งคือการเล่าเรื่องผีในคืนวันคริสต์มาส ฟังดูอาจจะรู้สึกไกลตัว แต่ถ้าเราพูดถึงวรรณกรรมสำคัญของคืนวันคริสต์มาสคือ A Christmas Carol ของ ชาลส์ ดิกคินส์ (Charles Dickens) ด้วยเรื่องราวผีหลอกในคืนวันคริสต์มาสของตาเฒ่าขี้งกนี้ ดิกคินส์จึงถือเป็นหนึ่งในนักเขียนที่ทำให้เรื่องผีในคืนวันคริสต์มาสกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในยุคนั้น
ความนิยมของเรื่องผีที่เชื่อมโยงกับเทศกาลคริสต์มาสนั้นมีความเชื่อมโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าฤดูหนาวสัมพันธ์เรื่องเรื่องผีๆ สางๆ อยู่แล้ว แต่ความนิยมของเรื่องผีก็สัมพันธ์กับยุควิกตอเรียนในหลายแง่ ทั้งบริบทของสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไป การหลั่งไหลของผู้คนและการกลับบ้าน ภาวะรู้หนังสือที่ไปเกี่ยวข้องกับตลาดหนังสือในวันคริสต์มาส ธรรมเนียมการให้หนังสือเป็นของขวัญ รวมถึงความพยายามของดิกคินส์และนักเขียนคนอื่นๆ ในการปลุกธรรมเนียมและกิจการการอ่านการเขียน รวมถึงนัยพิเศษของเรื่องผีที่น่ากลัวที่ทั้งวิพากษ์โลกสมัยใหม่แต่อ่านแล้วรู้สึกดี
คริสต์มาส และประวัติศาสตร์ยุควิกตอเรียน
ทุกวันนี้คริสต์มาสเป็นสุดยอดอีเวนต์ แต่ถ้าเรามองย้อนไป การฉลองวันคริสต์มาสในฐานะวันสำคัญถือเป็นธรรมเนียมยุคใกล้ที่เพิ่งเกิดมาไม่นานโดยเฉพาะในอังกฤษรวมถึงอเมริกา การยกให้วันคริสต์มาสเป็นวันสำคัญเกิดขึ้นในยุควิกตอเรียนของอังกฤษ ก่อนวิกตอเรียนคือต้นศตวรรษที่ 19 (ยุควิกตอเรียนเริ่มนับตามการครองราชย์คือปี 1837-1901) ในยุคก่อนนั้นวันคริสต์มาสไม่นับเป็นวันที่สลักสำคัญอะไร ห้างร้านส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หยุด โดยการฉลองและการฟื้นฟูธรรมเนียมวันคริสต์มาสเกิดขึ้นในรัชสมัย รวมถึงบริบทสังคมวิกตอเรียนซึ่งการฉลองนี้เกิดขึ้นจากหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ผลักดันให้วันคริสต์มาสเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและการจับจ่ายใช้สอย
การให้ความสำคัญของวันคริสต์มาสค่อนข้างมีความซับซ้อน และเป็นความเปลี่ยนแปลงสังคมวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเร็ว ก่อนหน้านี้ที่อังกฤษยังไม่มีธรรมเนียมการตั้งและประดับต้นคริสต์มาส รวมถึงการส่งการ์ดหาคนที่รักเพื่อเป็นการส่งความสุขส่งท้ายปี หมุดหมายสำคัญคือการที่พระนางวิกตอเรียเสกสมรสกับเจ้าชายจากเยอรมนี การประดับและตั้งต้นคริสต์มาสเป็นธรรมเนียมเยอรมนีมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ในปี 1848 หนังสือพิมพ์เผยแพร่ภาพของ 2 พระองค์พร้อมโอรสธิดาโดยมีต้นคริสต์มาสเป็นฉากหลัง หลังจากนั้นครัวเรือนของอังกฤษก็เริ่มทั้งการตั้งต้นคริสต์มาสรวมถึงธรรมเนียมการเฉลิมฉลองในคืนวันคริสต์มาส
นอกจากธรรมเนียมการฉลองคริสต์มาสของราชสำนัก วันคริสต์มาสนับเป็นช่วงเวลาที่ห้างร้านพยายามกระตุ้นการจับจ่าย แน่นอนว่าทั้งต้นคริสต์มาสหรือของประดับนับเป็นการจับจ่ายและผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ธรรมเนียมใหม่ที่มาพร้อมกับการประดับต้นคริสต์มาสคือการส่งการ์ดวันคริสต์มาสที่สัมพันธ์กับบริบทวิกตอเรียน คือในยุคนั้นเกิดอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ผนวกกับบริบทสังคมที่ผู้คนเริ่มอ่านออกเขียนได้กันมากขึ้นจากการปฏิวัติและกระจายการศึกษา มีการเดินทางเพื่อเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่
ธรรมเนียมการส่งการ์คริสต์มาสสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมกระดาษที่ผลิตการ์ดที่มีความสวยงามและมีสีสัน แนวคิดของการ์ดคริสต์มาสเริ่มต้นในปี 1843 โดย จอห์น คอลคอตต์ ฮอร์สลีย์ (John Callcott Horsley) นักวาดภาพประกอบที่ลองวาดภาพคนเฉลิมฉลองและวางขายในปี 1846 ตอนแรกขายไม่ดีเพราะแพง ใช้การพิมพ์แล้วมาลงสี จนช่วงทศวรรษ 1850-1860 การส่งการ์ดคริสต์มาสถึงได้รับความนิยมขึ้นเพราะราคาการ์ดที่ถูกลง พร้อมกับการเกิดขึ้นของบริการไปรษณีย์ราคาถูกคือ Penny Post ที่ทำให้จดหมายและพัสดุขนดส่งได้ในราคาเพียงหนึ่งเพนนี
เรื่องผีกลางฤดูหนาว อุตสาหกรรมหนังสือและเทศกาลของขวัญ
ในวัฒนธรรมและบริบทฤดูหนาวของตะวันตก เรื่องผีกับหน้าหนาวถือเป็นของคู่กัน ซึ่งนักวิชาการก็ตอบไม่ได้ว่าธรรมเนียมเรื่องผีในฤดูหนาวมาจากไหน แต่มีเค้ามูลว่าหน้าหนาวกับเรื่องผีเป็นของคู่กันเช่นใน The Winter’s Tale ของเชกสเปียร์มีคำพูดของตัวละครว่า หน้าหนาวนั้นเหมาะแก่เรื่องโศก และเรื่องเศร้าที่จะเล่านั้นก็เกี่ยวข้องกับก็อบลินและผีสาง
อันที่จริงหน้าหนาว ยิ่งในดินแดนอันหนาวเหน็บ ป่าสนหนาทึบ สุสานที่วังเวงและรัตติกาลที่ยาวนานขึ้น ในยุคที่ผู้คนกลับบ้านจากการทำงานในไร่นาไวขึ้น ใต้แสงตะเกียง สิ่งที่จะจับใจผู้คนก็ย่อมเป็นเรื่องของผีสางนางไม้ นอกจากนี้ช่วงเวลาปลายปียังเป็นช่วงเวลาของการสิ้นสุด จึงไม่แปลกที่เราอาจจะนึกถึงผู้คนที่จากไป ใคร่ครวญเรื่องคนตายและความตายบ่อยครั้งกว่าฤดูกาลอื่นๆ
ความเฟื่องฟูของเรื่องผีในคืนวันคริสต์มาสมักได้รับการยกย่องให้กับ ชาลส์ ดิกคินส์ จากเรื่อง A Christmas Carol ตีพิมพ์ในปี 1843 ความสำเร็จของคริสต์มาสแครอลเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์วรรณกรรมและอุตสาหกรรมหนังสือนิตยสารในยุคนั้น ในสมัยวิกตอเรียนที่เทคโนโลยีการพิมพ์เติบโต มีแท่นพิมพ์ มีนิตยสาร พอหนังสือและนิตยสารมีราคาถูก ผู้คนอ่านออกเขียนได้ ก็เลยเกิดตลาดของการอ่านและอุตสาหกรรมหนังสือเกิดขึ้น
โดยสังเขป แม้เราจะมองว่ายุกวิคตอเรียนหรือการเข้ามาของยุคสมัยใหม่จะเปลี่ยนความคิดของคนเราให้เป็นวิทยาศาสตร์ แต่ทว่าคนในยุควิกตอเรียน กระทั่งเราในยุคนี้ก็ยังหลงใหลกับเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่ร่ำไป ข้อสังเกตหนึ่งคือเมื่อคนอ่านหนังสือออก เกิดตลาดหนังสือ หนึ่งในเรื่องราวที่ถูกนำกลับมาตีพิมพ์คือเรื่องผี คนชนบทที่มาทำงานเมืองเองก็ยังอยากอ่านเรื่องราวสยองและเรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องผีในยุควิกตอเรียนบางส่วนเล่าเรื่องบ้านในชนบท บางเรื่องกลับไปสู่บริบทของยุคสมัยก่อนหน้า
นอกจากนี้ตลาดหนังสือและวันคริสต์มาสยังมีความเกี่ยวข้องกัน คล้ายๆ กับการมีงานหนังสือเป็นหมุดหมายของการผลิตงาน ด้วยบริบทในยุคต้นวิกตอเรียน คริสต์มาสกลายเป็นช่วงเวลาของการจับจ่ายและการให้ของขวัญ ดังนั้นวงการสิ่งพิมพ์ นิตยสารที่เคยออกรายเดือนหรือรายสัปดาห์ ก็จะมีการตีพิมพ์เล่มพิเศษในช่วงปลายปีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลของขวัญ มอบให้กันในวันหยุด และบางครั้งมีการอ่านเรื่องราวนั้นร่วมกัน ตัวอย่างเช่น A Study in Scarlet ก็ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารฉบับคริสส์มาสของสำนักพิมพ์ Beeton ในปี 1887 ในขณะที่สำนักพิมพ์และนิตยสารผลักดันเรื่องแนวต่างๆ ก็มีชาลส์ ดิกคินส์ ที่ส่งเสริมเรื่องผีในเทศกาลคริสต์มาสและทำได้สำเร็จจนกลายเป็นหมุดหมายสำคัญทางวรรณกรรมผียุควิกตอเรียน
A Christmas Carol และความนิยมเรื่องผีคืนคริสต์มาส
A Christmas Carol ถือเป็นตัวแทนหมู่บ้านและเป็นหมุดหมายของเรื่องผีวันคริสต์มาส และเรื่องผีของยุควิกตอเรียนที่มีนัยสำคัญหลายด้าน ตัวคริสต์มาสแครอลตีพิมพ์ในวันที่ 24 ธันวาคมของปี 1843 ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์วงการหนังสือคริสต์มาสในหลายด้าน คือเป็นหนังสือที่ออกแบบเพื่อการเป็นของขวัญ เป็นการพิมพ์ที่มีราคาสูงของสมัยนั้นคือราคา 5 ชิลลิง แต่ในการวางขายครั้งแรกกลับขายได้ถึง 6,000 เล่ม
ความเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหนังสือและการมีหนังสือเป็นส่วนสำคัญเทศกาลของขวัญ คือหลังจากที่ขายดีไปในช่วงคริสต์มาส กลายเป็นว่ายอดขายของคริสต์มาสแครอลกลับพุ่งสูงขึ้นหลังจากนั้น เรียกได้ว่าในปีต่อมาจนถึงหน้าร้อนตั้งแต่มกราคมเรื่อยมาจนถึงพฤษภาคม คริสต์มาสแครอลของดิกคินส์ขายดีจนพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 7 ซึ่งนับว่าจารึกเป็นประวัติศาสตร์ และความนิยมนี้ทำให้เรื่องผีกลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมเนียมวันคริสต์มาสยุควิกตอเรียนไปโดยปริยาย
ตัวดิกคินส์เองก็ยังคงทำบรรณาธิการนิตยสารเล่มพิเศษที่เป็นเรื่องผีและเรื่องลึกลับสยองขวัญประจำช่วงคริสต์มาสต่อเนื่องมาอีก 24 ปี ซึ่งเราก็จะเห็นว่าดิกคินส์มีงานรวมเรื่องผีในช่วงต่อมาอีกเรื่อยๆ เช่น Household Words ที่รวมเรื่องสั้นสยองขวัญในช่วง 1850-1858
ในงานเขียน Told After Supper ตีพิมพ์ใน 1891 มีข้อความระบุว่า ในคืนวันคริสต์มาสอีฟจะมีการรวมตัวกันของผู้ที่พูดภาษาอังกฤษ 5-6 คนและผลัดกันเล่าเรื่องผี ไม่มีอะไรสำหรับคืนวันอีฟที่ดีไปกว่าการฟังเรื่องราวเกี่ยวกับการหลอกหลอน คริสต์มาสเป็นช่วงเวลาแห่งความเบิกบานและการเฉลิมฉลอง และเรา(ชาวอังกฤษ)ก็มอบความบันเทิงแก่กันด้วยเรื่องราวจากหลุมศพ การฆาตกรรม และการหลั่งเลือด
ผีของความคิด เรื่องสยองฟีลกู้ด และข้อวิจารณ์โลกสมัยใหม่
ความน่าสนใจของคริสต์มาสคารอลมีความน่าสนใจหลายด้านที่อาจตอบความสำเร็จที่สะท้อนความซับซ้อนและสังคมยุคเปลี่ยนผ่านได้ ผีหลอกของมิสเตอร์สครูจอันที่จริงมีนัยของนิทานคุณธรรม พูดเรื่องการสำนึกผิดที่สอดคล้องทั้งกับค่านิยมของคริสเตียนที่ดี วิพากษ์วิจารณ์และลงโทษนายทุนขี้งก ในเรื่องก็มีนัยของความไม่เชื่อเรื่องผีสางและอำนาจที่มองไม่เห็น แต่ในทางกลับกันเรื่องผีนั้นกลับนำพาเรื่องดีๆ หรือผดุงคุณธรรมให้กับสังคม
ถ้าเรามองบริบทสังคมวิกตอเรียน สังคมวิกตอเรียนเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ กระทั่งในงานเรื่องอื่นๆ ของดิกคินส์ก็เต็มไปด้วยเด็กที่ถูกกดขี่ ปัญหาความยากจนที่กำลังถ่างขยายขึ้นจากโลกแห่งเงินตรา อันที่จริงดิกคินส์เองก็ดูจะต้องการใช้เรื่องผีและผลักดันประเพณีการเล่าเรื่องผีในช่วงคริสต์มาสอย่างมีนัยสำคัญ ในบทนำของคริสต์มาสแครอล ดิกคินส์พูดถึงเรื่องผีของเขาว่าอยากจะสร้าง ‘Ghost of an Idea’ ให้กับผู้อ่าน การหลอกหลอนของผีในช่วงเทศกาลแห่งความสุขจึงดูจะมีนัยที่สัมพันธ์กับสังคม ไม่ใช่แค่ความหลอกหลอนสยองขวัญ อันที่จริงเรื่องผีของมิสเตอร์สครูจก็นับเป็นเรื่องผีฟีลกู้ดที่จบสวยมีความสุข ซึ่งก็อาจจะสะท้อนความนิยมเรื่องบันเทิงที่เราเองก็อาจจะยังชอบอยู่ในทุกวันนี้
ในการพูดถึงธรรมเนียมเรื่องผีในวันคริสต์มาส อันที่จริงคริสต์มาสแครอลโด่งดังมาจนถึงอเมริกาด้วย แต่ธรรมเนียมเรื่องผีไม่ติดมาด้วย นักวิชาการสันนิษฐานว่าอาจเป็นเพราะเรื่องผีในอเมริกาผูกพันธ์กับฮาโลวีนอย่างแน่นแฟ้นไปแล้ว ซึ่งอันที่จริงนักเขียนสยองขวัญอเมริกันก็ได้เขียนเรื่องผีวันคริสต์มาสไว้ในช่วง 1820 ก่อนดิกคินส์จะสร้างกระแสในอังกฤษ
เรื่องผีหรือเรื่องสยองในวันคริสต์มาส นอกจากธรรมเนียมยุคเก่า บรรยากาศโลกก่อนไฟฟ้าที่ทำให้เราหวนนึกถึงความตายและการหลอกหลอนช่วงปลายปี เรื่องสยองช่วงคริสต์มาสอันที่จริงเป็นเหมือนเงาหรือเหรียญอีกด้านของบรรยากาศรื่นเริงของโลกปัจจุบัน ในโลกที่เต็มไปด้วยความขมขื่น เราอาจนึกภาพเด็กขายไม้ขีดไฟหรือเรื่องของมิสเตอร์สครูจที่กดขี่คนอื่นอย่างไม่เป็นธรรม เรื่องสยองขวัญจึงมีนัยที่ซับซ้อนและสัมพันธ์กับเราในหลายแง่ ทั้งความน่าหลงใหลของเรื่องลึกลับ รวมถึงบทบาทของเรื่องเล่าที่สัมพันธ์กับความยุติธรรมในสังคมที่มีเรื่องเหนือธรรมชาติเข้ามาร่วมสร้างความถูกต้องในโลกสมัยใหม่
ดังนั้น ในค่ำคืนหนาวๆ บรรยากาศเงียบสงบ จริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดามากที่เราเอง อาจจะเลือกดูหนังผีที่สัมพันธ์กับเทศกาลสักเรื่อง อ่านเรื่องสยองและลึกลับก่อนนอนบิ้วความรู้สึกสักนิดหน่อย
อ้างอิงจาก
darkworldsquarterly.gwthomas.org