ช่วงปลายปีแบบนี้ แม้ว่าอากาศหนาวจะยังไม่มาตามนัด และแม้จะเป็นคนไทย แต่เราก็ยังสนุกกับต้นคริสต์มาส เราเริ่มมีสิ่งของในการเฉลิมฉลอง เริ่มกินอาหารตามเทศกาล จิบโกโก้อุ่นๆ เริ่มใส่ถุงเท้าสีสันน่ารัก ใช้ชีวิตอยู่บนที่นอน (และอาจจะเปิดแอร์) ดูหนังเทศกาล เป็นช่วงเวลาที่เริ่มผ่อนคลายในกรณีที่เราเคลียร์งานส่งท้ายปีไปแล้วเรียบร้อย
บรรยากาศอบอุ่นช่วงท้ายปีแบบนี้ ส่วนหนึ่งเราอาจมีภาพวันพักผ่อน และบรรยากาศจากวัฒนธรรมตะวันตก Cozy Culture กับการซุกตัวบนโซฟาสัมพันธ์กับบรรยากาศฤดูหนาวที่ผู้คนเริ่มอยู่ติดบ้าน หรือครอบครัวกลับมารวมตัวกัน เป็นวัฒนธรรมความอบอุ่นที่มาจากทั้งความอบอุ่นทางกาย เช่น การใส่เสื้อผ้าอบอุ่น ซุกตัวอยู่ในผ้าห่มหนักๆ ในความเงียบของฤดูหนาว เราอาจจุดเทียนหอมจางๆ ในขณะเดียวกันความอบอุ่นช่วงปลายปี ก็อาจเป็นความอบอุ่นที่เพื่อนฝูงและครอบครัวได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง
เวลาที่เรามีภาพความอบอุ่นและการใช้ชีวิตสบายๆ นอกจากการมาถึงของคริสต์มาสแล้ว อีกส่วนอาจมาจากการที่วัฒนธรรมแบบสแกนดิเนเวียเริ่มเข้ามาลงหลักปักฐานในไทย ล่าสุดก็คือ อีเกีย (IKEA) สาขาสุขุมวิท ที่ถ้านับปีแล้ว คนไทยเราก็ได้ไปเดินอีเกีย ได้รับรู้บรรยากาศความเป็นบ้านอันอบอุ่น ไปจนถึงการได้เห็นปรัชญาบางอย่างที่มาจากอีเกีย เช่น การพักจิบกาแฟ มีการแนะนำให้รู้จักคำสำคัญๆ เช่น ฟีกา (Fika) การหยุดพักเป็นช่วงๆ ทั้งพื้นที่บ้าน เฟอร์นิเจอร์ และวิถีชีวิต ที่ต่างก็สัมพันธ์กับปรัชญาในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของชีวิตและการทำงาน
ท่ามกลางบรรยากาศที่เรากำลังสร้างความอบอุ่นในช่วงปลายปีแบบนี้ การได้ย้อนกลับไปดูแนวคิดแห่งความอบอุ่นหัวใจ และปรัชญาในการดำเนินชีวิตแบบชาวสแกนดิเนเวียน ก็อาจเป็นทั้งการได้หยุดพักในช่วงปลายปี พักและทบทวนชีวิตที่เร่งรีบมาทั้งปี การค้นพบความคิดหรือมุมมองใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ชีวิต จึงอาจนำไปสู่การวางหมุดหมายใหม่ของชีวิตและการงานที่ช้าลง สมดุลขึ้น มีความหมายขึ้นในปีหน้าจากคำสำคัญ เช่น ฮูกะ (Hygge) คำโบราณจากภาษานอร์ดิกเก่า ไปจนถึงคำว่า ฟีกะ การหยุดพักในชีวิตประจำวัน และลาก็อม (Lagom) อันหมายถึงความไม่มากไปไม่น้อยไป
ทำไมชาวสแกนดิเนเวียนถึงแสนชิล
ต้องออกตัวก่อนว่าทุกประเทศมีบริบทการเติบโต และมีปัญหาของตัวเอง ประเทศเขตสแกนดิเนเวียเองก็เช่นกัน ด้วยบริบทการพัฒนา การเป็นประเทศมั่งคั่ง ไปจนถึงประเทศที่อยู่ในภูมิอากาศหนาวเหน็บ และยากลำบากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แต่ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียก็คงเป็นกลุ่มประเทศต้นๆ ที่เราจะนึกถึงในฐานะประเทศสุดชิล เป็นประเทศที่มีสวัสดิการ การออกแบบเมือง และวิถีชีวิตที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
เวลาที่เรามีการจัดอันดับเมืองปลอดภัย เมืองที่มีความสุขของโลก เมืองที่ชีวิตและการทำงานสมดุล ไปจนถึงการวางแนวทางเมืองสวัสดิการ คุณภาพการศึกษา อัตราการรู้หนังสือ การสนับสนุนของรัฐต่อผู้คน หรือการสนับสนุนของสังคมที่มีซึ่งกันและกัน ประเทศที่เราจะได้ยินชื่อติดอันดับก็มักเป็นประเทศอย่างฟินแลนด์ ที่ขึ้นแรงก์ประเทศที่มีความสุขที่สุด เฮลซิงกิ เมืองหลวงที่มีเวิร์กไลฟ์บาลานซ์สูงที่สุด ในขณะเดียวกัน นอร์เวย์ก็ขึ้นตำแหน่งประเทศที่โปรดักทีฟที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์ ติด 4 อันดับประเทศแรกที่มีความเท่าเทียมทางเพศสูงที่สุด
ในภาพรวม มุมมองของประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียจะมีจุดคล้ายๆ กัน เช่น แนวคิดที่เรียกว่า Janteloven การคิดถึงส่วนรวม คิดถึงความสำเร็จร่วมกัน มากกว่าการดิ้นรนหรือชื่นชมเป็นรายบุคคล เวลาการทำงานถือว่าน้อยกว่าส่วนอื่นๆ มีบริการดูแลสนับสนุน เช่น การดูแลเด็ก ไปจนถึงวันลาที่เกี่ยวข้อง และการบังคับลาหยุด ไม่ลาไม่ได้ การให้ความสำคัญกับครอบครัวมากกว่างาน เน้นสมดุลของการใช้ชีวิต นอกจากนี้วัฒนธรรมสแกนดิเนเวียยังค่อนข้างโดดเด่นในแง่ความสัมพันธ์กับธรรมชาติ มองเห็นมิติของมนุษย์ที่สัมพันธ์กับธรรมชาติ และการอยู่ตามลำพังในธรรมชาติ
แนวคิดการใช้ชีวิตทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราพอสัมผัสได้ และสะท้อนออกมาตั้งแต่การออกแบบ การจัดวางเฟอร์นิเจอร์ ความคิดเรื่องความอบอุ่นและความสบาย เริ่มตั้งแต่คอนเซ็ปต์ที่เป็นวัฒนธรรมของแกนของการใช้ชีวิต ใน 2-3 ปีที่ผ่านมาโลกตื่นเต้นกับคำว่า ฮุกกะ การเรียนรู้วิชาชิล และการสร้างสมดุลและปรับมุมคิดในการใช้ชีวิต เราอาจรู้จักจากคำ 3 คำคือฮุกกะ ลากอม และฟีกะ ซึ่งจริงๆ ด้วยความที่ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียมีหลายประเทศ แต่ละประเทศก็จะมีคอนเซ็ปต์ของตัวเอง เช่น ฟีกะและลากอมที่มาจากสวีเดน (ทำให้เจอได้ในอีเกีย) และฮุกกะที่อาจจะสัมพันธ์กับนอร์เวย์และเดนมาร์ก
ฮุกกะ ปรัชญายอดฮิตจากปี 2017
คำว่า ฮุกกะ เป็นคำที่แพร่หลาย ซึ่งในคอนเซ็ปต์นี้เป็นอีกคำที่แปลออกเป็นภาษาอื่น เช่น ภาษาอังกฤษ ที่ได้เนื้อความครบก็ถือว่าทำได้ยาก นัยของคำว่าฮุกกะนอกจากจะเป็นภาพของความอบอุ่นที่สบาย (Coziness) แล้ว มันยังสัมพันธ์กับความรู้สึกปลอดภัยจากอันตราย ความเรียบง่าย ไปจนถึงนัยที่สัมพันธ์กับความเป็นชุมชน (Community) คำนี้ค่อนข้างมีที่มาจากวัฒนธรรมเดนมาร์ก และส่งอิทธิพลไปยังนอร์เวย์ ผ่านภาษาอังกฤษที่สัมพันธ์และอาจพอให้ภาพได้คือ คำว่า กอด หรือ hug
ทีนี้ถ้ามองย้อนไป คำว่าฮุกกะเริ่มมีบทบาทสำคัญตั้งแต่ราวทศวรรษ 1800s เป็นช่วงเวลาที่เริ่มเกิดแนวคิดเรื่องความสุขในระดับชาติ และมีศูนย์วิจัย แต่คำว่าฮุกกะนั้นเก่าแก่ย้อนกลับไปได้ถึงภาษานอร์สโบราณ เป็นภาพชาวไวกิ้งซึ่งก็ดูจะสัมพันธ์กับการสร้างความอบอุ่น ความเป็นชุมชนในบรรยากาศที่หนาวเหน็บ และการเร่ร่อนได้ โดยในภาษาโบราณคำว่าฮุกกะ มีความหมายในทำนองของการปกป้องจากโลกภายนอก (“protected from the outside world”)
ด้วยนัยและความซับซ้อน คำว่าฮุกกะจึงค่อนข้างหมายถึงการที่เราหยุดจากโลกที่เร่งรีบ พักจากชีวิตประจำวัน มาใช้เวลาที่เฉพาะเจาะจง กลับไปสู่ครอบครัว คนที่รัก หรือกระทั่งตัวเราเอง ฮุกกะค่อนข้างให้ความสำคัญกับบ้าน กับการสร้างพื้นที่บ้าน และการถักสานความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนกับครอบครัว นอกจากนี้ฮุกกะยังสัมพันธ์กับกิจกรรมที่เกี่ยวกับเวลา การใช้เวลาและเพลิดเพลินไปกับสิ่งเล็กๆ ในชีวิต เช่น การพักดื่มชาในตอนบ่าย การอ่านหนังสือเงียบๆ การปรับมุมมองต่อเรื่องธรรมดาที่เราทำในทุกๆ วัน และกลับไปเพลินเพลินกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่สุดท้ายอาจกระทบกับชีวิตของเราอย่างสำคัญขึ้น
ลากอมและฟีกะ ความพอดีและการหยุดพัก
จากฮุกกะ ถ้าเราไปเดินอีเกีย เราอาจจะเจอคำอีก 2 คำที่น่าสนใจและอาจนำมาใช้ได้คือ คำว่าลากอมและฟีกะ โดยลากอมฟังดูมีความหมายเอเชียมาก เพราะหมายความถึงความสมดุล ความพอดี ความไม่มากไปไม่น้อยไป ศิลปะของการใช้ชีวิตดังกล่าว คือการที่เราหาตรงกลางของสิ่งต่างๆ เช่น การหาสมดุลของการเล่นและการทำงาน หาตรงกลางของการใช้เวลากับคนอื่น และการอยู่ตามลำพัง ความพอเหมาะ ความสมดุลอาจสะท้อนจากการใช้ชีวิต และอาจมองเห็นได้ในการออกแบบต่างๆ เช่น การออกแบบภายในของสแกนดิเนเวียที่เน้นสมดุลของสี การผสมผสานของสัมผัส และการอยู่ร่วมกันของธรรมชาติ
แนวคิดสุดท้าย ซึ่งจริงๆ เป็นเหมือนภาคปฏิบัติที่เราอาจพบได้ในชีวิตประจำวันของคนสวีเดนในทุกๆ วัน คือคอนเซ็ปต์การพักที่เรียกว่าฟีกะ ถ้าพูดอย่างทั่วไป ฟีกะเป็นการพักเบรก พักไปกินขนม ดื่มกาแฟเพื่อเพิ่มพลังให้กับบางช่วงเวลาของวัน แต่จริงๆแล้วฟีกะคือการพักเพื่อหยุด และรีเซ็ตความคิดหรือจิตใจของเราในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของวัน เป็นการกดรีเซ็ตโดยเชื่อว่า หลังจากนี้จะช่วยทำให้ศักยภาพของเราเด่นชักขึ้น ฟีกะจึงเป็นการทบทวนช่วงเวลา สร้างความรู้สึกดีๆ ให้กับตัวเอง และนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้น มีสติขึ้น เป็นการพักหายใจ หาบรรยากาศดีๆ และเดินหน้าต่อ
ฟีกะ หรือการพักไปดื่มกาแฟ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ดูเรียบง่าย ทว่าเต็มไปด้วยอิสระของคำ ฟีกะอาจใช้ได้ในบริษัท เป็นการหยุดพักดื่มกาแฟ หรืออาจเป็นการชวนกันไปดื่มกาแฟของเพื่อนที่ไม่เจอกันนาน ไปหาขนมหวานๆ โดยเฉพาะซินนามอนบันคู่กับกาแฟ พร้อมกับพูดคุยหลังจากที่ไม่เจอกันนาน ซึ่งฟีกะจะทำที่ไหนก็ได้ เป็นคำนามหรือคำกิริยาก็ได้ จะนั่งในมุมสบายๆ หรือนั่งในสวน ทั้งนี้คำว่าฟีกะยังเชื่อกันว่า เป็นการสลับพยางค์ของคำว่า kaf-fi ที่เกิดขึ้นในยุคของขนมเพสตรี้ (Pastry) ขนมอบต่างๆ และการที่ผู้คนจะไปกินขนมและดื่มกาแฟร่วมกับเพื่อนฝูงหรือคนที่รัก
ส่งท้ายปีด้วยบรรยากาศอบอุ่น แนวคิดเรื่องความอบอุ่นจึงอาจไม่ได้จบลงแค่ในฤดูหนาว แต่ความอบอุ่นอาจขยายพื้นที่ไปสู่ความรู้สึกปลอดภัย การมีพื้นที่พักผ่อนจากโลกภายใน การได้กลับไปหาตัวเอง ไปเชื่อมต่อกับคนที่รัก ไปใช้เวลากับสิ่งอื่นๆ ไปจนถึงการหาตรงกลางของสิ่งต่างๆ หาเวลาจัดการที่อาจหมายถึงการหยุด พัก และเริ่มใหม่ที่เกิดได้ในทุกๆ วัน การหาพื้นที่ปลอดภัยเล็กๆ ความสุขเล็กๆ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งแนวทางการใช้ชีวิตในปีต่อๆ ไป
อันที่จริงแนวคิดต่างๆ จากสแกนดิเนเวียยังมีอีกหลายแนวคิด เช่น friluftsliv แนวคิดที่ย้อนกลับแม้ว่าประเทศเขตหนาวจะไม่น่าออกไปใช้เวลาข้างนอก แต่คำว่า friluftsliv หมายถึงการออกไปใช้ชีวิตในเวลากลางแจ้ง ซึ่งแนวคิดที่เป็นนามธรรมในที่สุดอาจกลายเป็นภาคปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เช่น การจิบกาแฟเพื่อหยุดพัก การออกแบบบ้าน ไปจนถึงแนวคิดเรื่องพื้นที่ภายนอก ทำให้พื้นที่เมืองเน้นเปิดพื้นที่ให้ผู้คนออกไปใช้เวลากับธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับการเดิน ไปจนถึงการเปิดสระว่ายน้ำอุ่นกลางแจ้ง และวัฒนธรรมการอบซาวน่ากลางหิมะ
อ้างอิงจาก