“ไม่ใช่เพราะเราเป็นรัฐบาลจึงต้องสนับสนุน แต่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำ” อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส.พรรคเพื่อไทยกล่าว
วันนี้ (4 มกราคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ 2567 อัครนันท์ อภิปรายถึงความสำคัญของงบซอฟต์พาวเวอร์ (soft power) ในส่วนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ ระบุว่างบประมาณส่วนนี้สำคัญมาก เพราะประเทศไทยยังต้องพึ่งการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ ที่ทำให้คนอยากไปเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น
ตลอดระยะหลายเดือนที่ผ่านมาซอฟต์พาวเวอร์เป็นพูดถึงอย่างแพร่หลาย อัครนันท์ มองว่าหนึ่งในวิธีการใช้งบประมาณที่มีอย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพ สามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโต สามารถสร้างรายได้ให้มากขึ้น ก็คือนโยบาย ซอฟต์พาวเวอร์
อัครนันท์ อธิบายนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ว่า แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การพัฒนาคน และการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง 11 สาขา โดยในส่วนของการพัฒนาอุตสาหกรรมสาขาภาพยนตร์และซีรีส์นั้น เขาได้เทียบกับประเทศเกาหลีใต้ที่รัฐบาลใช้เวลาถึง 24 ปี ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ผ่านกระทรวงวัฒนธรรม ด้วยงบประมาณครั้งแรกคือ 2 หมื่นล้านบาท
ซีรีส์เรื่อง Winter Sonata, Coffee Prince จนมาถึงเรื่องแดจังกึม ทุกเรื่องที่กล่าวมา อัครนันท์ระบุว่าเป็นซีรีส์เกาหลีที่โด่งดังและทรงพลัง ซึ่งต่อมา รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังขยายการสนับสนุนไปถึงวงการ K-pop จนศิลปินเกาหลีใต้ กลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่ทรงพลัง
แล้วประเทศไทยอยู่ตรงไหน? อัครนันท์ตั้งคำถาม พร้อมระบุว่าทุกวันนี้ ขนาดเอกชนต่อสู้ตามลำพัง ท่ามกลางการแข่งขันคอนเทนต์ที่สูง ตลาดภาพยนตร์ยังมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท มูลค่าตลาดของละคร ซีรีส์ และโฆษณา ยังสูงถึง 2 แสนล้านบาท ถ้าหากไทยมีรัฐบาลที่ยื่นมาเข้าไปช่วยเหลือ อุตสาหกรรมดังกล่าวนี้ของไทยจะไปได้ไกลแค่ไหนกัน
การสร้างซีรีส์ดีๆ สักเรื่องต้องใช้เงินมหาศาล แต่บางครั้งผู้ประกอบการหรือผู้ผลิต ไม่ได้มีทุนมากในการสร้างผลงานดีๆ ดังนั้น อัครนันท์จึงไม่แปลกใจที่อุตสาหกรรมนี้ของไทย ไม่สามารถก้าวเข้าสู่ระดับโลกได้เหมือนประเทศอื่นๆ
ด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ อัครนันท์จึงเชื่อว่าถึงเวลาอันสำคัญแล้ว ที่รัฐบาลจะต้องสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ เพราะนอกจากการส่งออก ประเทศไทยยังต้องพึ่งการท่องเที่ยว ที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ ซึ่งซีรีส์และภาพยนตร์ก็มีส่วนสำคัญ
อัครนันท์ยังกล่าวอีกว่า สังคม LGBTQ+ มีความสำคัญมากในอุตสาหกรรมนี้ โดยเฉพาะซีรีส์วาย [Boy’s Love] ซีรีส์ยูริ [Girl’s Love] ก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่สร้างมูลค่าหลายพันล้านในปีที่ผ่านมา และสามารถสร้างซอฟต์พาวเวอร์ได้จากการที่เราสร้างซีรีส์ดังกล่าว
ยกตัวอย่างซีรีส์เรื่อง ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ เนื้อหาทั้งหมดถ่ายทำในภูเก็ต ซึ่งอัครนันท์ระบุว่า พอซีรีส์เรื่องนี้ดังขึ้น คนก็อยากไปเที่ยวภูเก็ตมากขึ้น และตามรอยไปยังสถานที่ที่พระเอกกับนายเอกไปเที่ยวกัน เช่นเดียวกับซีรีส์เกาหลี และที่สำคัญ ขนมหวาน ‘โอ้เอ๋ว’ ก็ดังขึ้นมากๆ จากซีรีส์เรื่องนี้
“ในฐานะที่เป็น สส.กาญจนบุรี ก็อยากเห็นซีรีส์วายไปถ่ายทำที่เมืองกาญจน์ เพื่อหวังว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กับจังหวัด เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น” อัครนันท์กล่าว
ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ อัครนันท์จึงกล่าวว่า หากเที่ยบกับสิ่งที่ประเทศไทยจะได้รับ งบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรกว่า 500 ล้านบาท กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมถึงงบอื่นๆ ของซอฟต์พาวเวอร์นั้น ไม่มากเกินไป
แล้วต่อให้จะมีการติงว่างบซอฟต์พาวเวอร์จะเน้นการจัดอีเวนต์ อัครนันท์ก็ไม่เห็นว่าจะเสียหายตรงไหน เพราะการจัดอีเวนต์ คือการจัดกิจกรรม ส่งเสริมการขายรูปแบบหนึ่ง เป็นกลยุทธ์ทางการตลาด เอาของดีของไปส่งถึงมือลูกค้า เพราะต่อให้มีสินค้าดีแค่ไหน แต่ไม่โปรโมต แล้วเราจะขายของได้ยังไง