‘ซอฟต์พาวเวอร์’ กับ ‘นโยบายทางการเมือง’
ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นคำที่ถูกพูดถึงบ่อยในช่วงหลังมานี้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้ง แต่จริงๆ แล้วมันคืออะไรกันแน่? มีหลายคนเข้าใจว่ามันก็คือศิลปวัฒนธรรม ซึ่งไม่ผิด แต่ก็คงไม่ถูกซะทีเดียวตามนิยามของพจนานุกรมแคมบริดจ์ “Soft Power คือการใช้อำนาจหรืออิทธิพลทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของประเทศหนึ่ง เพื่อโน้มน้าวให้อีกประเทศหนึ่งทำบางอย่างแทนที่จะใช้อำนาจทางการทหาร (Hard Power)” ในภาษาไทยเราอาจไม่คุ้นกับคำว่า ‘อำนาจละมุน’ และ ‘อำนาจแข็ง’ เราจึงนิยมใช้ทับศัพท์เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ และ ‘ฮาร์ดพาวเวอร์’ เสียเลยดีกว่า
ถ้าตามคำนิยามดังนี้ มันจึงไม่ใช่เพียงแค่การพยายามใช้ซอฟต์พาวเวอร์โดยภาครัฐต่อประชาชนในประเทศของตนเองเท่านั้น แต่มันต้องหมายถึงการนำเอาอำนาจนี้ไปเผยแพร่หรือสร้างให้เกิดในต่างประเทศด้วยนั่นเอง ตัวอย่างอันโด่งดังก็คือ แร็ปเปอร์สาวสุดฮอต มิลลิ – ดนุภา คณาธีรกุล กับการกินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลก Coachella Valley Music and Art Festival ที่สหรัฐอเมริกา ในช่วงเวลานั้นเกษตรกรไทยที่ขายมะม่วงกำลังลำบาก มะม่วงถูกเททิ้งไปมากมาย แต่เพราะมิลลิจึงทำให้ใครหลายคนออกไปตามหาข้าวเหนียวมะม่วงมากิน ที่เจ๋งกว่านั้นคือคนต่างชาติเองก็อยากมาลองชิมข้าวเหนียวมะม่วงที่ไทย หลักฐานอย่างหนึ่งที่พิสูจน์เรื่องนี้ได้อย่างดีคือ ลองเข้าไปค้นหาในกูเกิลแล้วพิมพ์คำว่า Milli Mango Sticky Rice จะพบยอดค้นหาเยอะไปหมด
ข้อสังเกตที่ถูกพูดถึงบ่อยและเป็นมานานมากแล้วก็คือ แล้วการที่คนเก่งๆ อย่างมิลลิและอีกหลายต่อหลายคนในประเทศนี้ จะสามารถสร้างชื่อเสียงหรือมีส่วนร่วมในการสร้างอิทธิพลแบบซอฟต์พาวเวอร์ได้ขนาดนั้น คำถามคือรัฐบาลไทยมีส่วนช่วยส่งเสริมผลักดันอะไรพวกเขาบ้าง? เราสามารถย้อนไปดูตั้งแต่ศิลปินแห่งชาติในแต่ละสาขา ทั้งช่างวาดภาพ ช่างปั้น ฯลฯ ในยุค 20-30 ปีก่อน หรือนักฟุตบอลทีมชาติชื่อดังที่ไปเล่นในต่างแดน หรือนักแสดงอิสระมากมาย และอีกหลายคนที่มีศักยภาพแต่ยังไม่มีชื่อเสียงในตอนนี้ พวกเขาได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐมากแค่ไหนเชียว หรือเขาเพิ่งได้รับการสนับสนุนในตอนที่เขามีชื่อเสียงแล้ว?
นี่เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่ง อันที่จริงปัญหาในเรื่องนี้มีอีกเยอะมาก อาทิ ไม่ใช่เพียงการสนับสนุนศิลปิน นักแสดง หรือนักกีฬา แต่ก็ยังมีช่างภาพ ไกด์นำเที่ยว เชฟ เกษตรกร ช่างศิลป์ และหมอนวด อุตสาหกรรมบันเทิงสมัยนี้ก็ยังมียูทูบเบอร์ อินฟลูเอ็นเซอร์ สแตนอัปคอมเมเดี้ยน (นักแสดงตลกเดี่ยวไมค์) ช่างภาพดิจิทัล แดร็กควีน และอีกมากมายจะได้รับการสนับสนุนด้วยหรือไม่?
นอกจากการสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ก็ยังต้องสนับสนุนการดูแลรักษาผลงานให้พวกเขาด้วยอีก ทั้งในแง่การให้โอกาส ให้พื้นที่เพื่อเข้าถึงผลงานทั้งฝ่ายผู้สร้างและฝ่ายผู้เสพ ซึ่งย่อมสัมพันธ์ถึงเรื่องค่าแรงและเศรษฐกิจ ดังคำกล่าวว่า “เมื่อท้องอิ่ม จึงมีเวลาเสพศิลป์” เพราะไม่ใช่ทุกคนจะสามารถจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงศิลปะได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ไหนจะเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก มีภาพยนตร์กี่เรื่องที่ถูกเซ็นเซอร์โดยภาครัฐ? กระบวนการเซ็นเซอร์เหล่านั้นน่าเชื่อถือแค่ไหน สร้างผลดีหรือผลเสียแก่สังคม? เหล่านี้จะกลายเป็นการบีบให้ผู้ผลิตผลงานต้องลดทอนความคิดสร้างสรรค์เพื่อเซ็นเซอร์ตัวเองมากเกินไปรึเปล่า?
ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยว แต่ก็เป็นประเด็นสำคัญอย่างการจราจรเลย มีกี่ครั้งที่เราสูญเสียโอกาสดำรงชีวิตในประเทศนี้ด้วยเหตุผลว่า “เดินทางไม่สะดวก” ช่างเป็นเหตุผลที่ไท๊ยไทยจริงๆ เลย
ก่อนที่เราจะไปส่องดูนโยบายของพรรคการเมืองไทยแต่ในละพรรค อันดับแรกเราคงต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การนำเสนอนโยบายของพรรคกับการนำไปปฏิบัติทำจริงนั้นเป็นคนละส่วนกัน ถึงเวลาจริงพรรคที่ได้จัดตั้งรัฐบาลอาจเจอปัญหาบางอย่างที่ทำให้นโยบายที่หาเสียงไว้ไม่ไปต่อ ทั้งสุดวิสัยบ้างหรือจงใจบ้างก็สุดแต่จะพิจารณา ขณะเดียวกันสิ่งที่เราพอจะดูได้เรื่องหนึ่งก็คือ การจัดสรรงบประมาณ เพราะทุกนโยบายต้องใช้เงิน ทว่าเงินนั้นจะมาจากไหนนั้น แต่ละพรรคจะต้องนำเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งมันจะสะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังของพรรคต่อประเด็นนั้นๆ
นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของแต่ละพรรคการเมือง
พรรคพลังประชารัฐ ได้นำเสนอไอเดียนโยบายในชื่อ From Farm to Table ใจความก็คือการนำสินค้าเกษตรกรรมมาแปรรูปและส่งตรงถึงโต๊ะอาหาร เป็นแนวคิดที่สนับสนุนเกษตรกรโดยตรง นอกจากนั้น สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง ก็มองว่าเป็นนโยบายที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนไปในตัวด้วย ทั้งยังพ่วงเรื่องพลังงานเข้ามาเกี่ยวคือ ต้องการผลักดันพืชเศรษฐกิจให้เป็นไบโอเจ็ท (BIO-JET) ที่สามารถนำไปทำน้ำมันก็ได้ แนวคิดนี้อาจซื้อใจกลุ่มเกษตรกรและแรงงานในภาคเกษตรได้
พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำเสนอนโยบายเรื่อง กองทุนไอเดียสร้างสรรค์ หรือบางทีก็เรียกว่า กองทุนไอเดียหมื่นล้านบาท หัวข้อนี้น่าสนใจตรงที่ เดียร์—วทันยา บุนนาค ประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมือง นำเสนอว่ากองทุนไอเดียนั้นอาจไม่ต้องพึ่งงบประมาณแผ่นดินเลยก็ว่าได้ กองทุนที่ว่านี้จะพึ่งพานวัตกรรมเข้ามาส่งเสริม คุณเดียร์ได้ยกตัวอย่างอาชีพหมอนวด โดยผลักดันให้เข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมบันเทิง เช่น ภาพยนตร์ ละคร และจะมีทุนมนุษย์ที่จะใช้เพื่อพัฒนาทักษะต่ออาชีพโดยตรง สนับสนุนเม็ดเงินผ่านกองทุนไอเดียสร้างสรรค์ ซึ่งอาจมาในรูปแบบธุรกิจสตาร์ทอัป เป็นต้น ควบคู่ไปกับการปรับภาพลักษณ์สถานท่องเที่ยวอย่างพัทยาให้ดูดีขึ้นอีกด้วย
พรรคเพื่อไทย นอกจากเรื่องกระเป๋าเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่สร้างเสียงฮือฮาด้วยแล้ว ก็ยังมีนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ที่นำเอาความรู้สึกแบบเดียวกับโอทอป (OTOP) กลับมาได้เลย อุ๊งอิ๊ง—แพทองธาร ชินวัตร ได้รับแรงบันดาลใจจากการที่มีดีไซน์เนอร์ไทยวัย 10 ปี ไปโผล่ถึงนิวยอร์กแฟชั่นวีกนั้นเป็นไปได้ก็เพราะพ่อแม่ของน้องสนับสนุนอดิเรกของน้องและพัฒนาต่อยอดจนถึงพร้อม จากจุดนี้จึงเป็นแนวคิดในการสร้างบรรยากาศที่จะพัฒนาทักษะ ส่งเสริมศักยภาพของผู้คน ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ตำบล อำเภอ โดยจะชูจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีความพร้อมด้านทรัพยากร บุคลากร และวัฒนธรรม ให้ไปถึงระดับเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และงานออกแบบระดับสากล นอกจากนั้นก็ต้องปลดล็อกอุปสรรคด้านกฎหมาย และจัดแจงงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกันไปด้วย
พรรคชาติพัฒนากล้า นำเสนอนโยบาย Spectrum Economy เป็นรูปแบบแพลตฟอร์มเศรษฐกิจใหม่ที่จะนำเอาซอฟต์พาวเวอร์มานำทางในการสร้างเศรษฐกิจ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรค นำเสนอเป้าหมายสำคัญของนโยบายนี้ เช่น หาเงินใหม่ให้ประเทศ 5 ล้านล้าน ลดภาษีบุคคล รื้อโครงสร้างธุรกิจพลังงาน นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในระบบราชการ รื้อระบบสินเชื้อ สนับสนุนเด็กไทยให้ได้ภาษาต่างชาติและภาษา Coding เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวถึง 2 เท่า ให้ทุนกับธุรกิจ และสร้างงานให้ผู้สูงวัย เป้าหมายเหล่านี้จะสอดคล้องไปพร้อมกับการนำเอาซอฟต์พาวเวอร์มาร่วมผลิต ทั้งด้านอาหาร การท่องเที่ยว ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ ซึ่งจะเป็นตัวนำเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างรูปแบบเศรษฐกิจใหม่
พรรคก้าวไกล จุดเด่นที่พวกเขาชูมาโดยตลอดคือ การกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ และนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อันหนึ่ง จึงใช้ชื่อว่า 1 เมือง 1 พิพิธภัณฑ์ เพื่อให้มีพื้นที่บอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของชุมชนท้องถิ่น และจะบริหารโดยกลไกท้องถิ่น จัดสรรงบโดยรัฐส่วนกลาง ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ยังนำเสนอนโยบายด้านเศรษฐกิจซึ่งต้องเริ่มต้นจากพื้นที่สุด นั่นคือเรื่องของการสร้างสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปรับโครงสร้างอำนาจ ให้พื้นที่และอิสระแก่ผู้ผลิตในการสร้างสรรค์มากขึ้น ทลายทุนผูกขาด และเติมตลาดให้ผู้ประกอบการ ในรายละเอียดยังมีเรื่องการสนับสนุนเยาวชนเปิดโลกเรียนรู้นอกห้องเรียน การลดใบอนุญาตในการถ่ายทำในไทย ปรับสัดส่วนรายได้ให้เหมาะสมกับผู้ผลิตหน้าใหม่และแรงงาน เพิ่มพื้นที่ผลิตและโชว์ผลงาน และทุกอาชีพต้องสามารถเรียกร้องรวมตัวตั้งสหภาพขึ้นมาได้
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงนโยบายคร่าวๆ จากพรรคการเมืองบางส่วน ในรายละเอียดของนโยบายก็ยังมีให้ติดตามอีกมาก และยังมีนโยบายอื่นๆ ของแต่ละพรรคอีกหลายอย่างที่ไม่ได้พูดถึง แต่อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการออกแบบนโยบายของแต่ละพรรคอาจจะพอนำเสนอวิธีมองของพรรคได้ว่า พวกเขาใช้แว่นตามองจากชุมชนใดในสังคมไทย แต่ละกลุ่มสังคมอาจเห็นความสำคัญของแต่ละนโยบายไม่เท่ากัน แต่อย่างน้อยการออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้ง ก็เป็นการแสดงออกถึงการตอบรับหรือปฏิเสธของแต่ละคน
ขอเชิญชวนทุกท่านออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ด้วยนะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก