“ทีป๊อปไม่ไปไหนสักทีเพราะมัวแต่ลอกเคป๊อปอยู่” เรามักได้ยินความเห็นรูปแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง
ความรู้สึกต่อความเห็นนั้นๆ ขึ้นอยู่กับเราแต่ละคนว่า เรามองแนวเพลงที่ผลิตจาก 2 ภูมิภาคเป็นยังไง เหมือนต่างยังไง ความหมายของการลอกคืออะไร ฯลฯ การยกตัวอย่างความเห็นนี้ขึ้นมาไม่ได้หมายความว่า บทความนี้จะตอบคำถามความเห็นนี้ต่อเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจนฟันธง แต่สิ่งที่อยากเสนอคือมุมมองของคนไทยจำนวนมากต่อทีป๊อป (T-POP) นั้นไม่ได้เป็นไปในทางบวกเสียหมด แม้จะเป็นดนตรีที่ฟังติดหู บ้างมองว่ามันขาดตัวตนของตัวเอง หรือมองว่ายังไล่หลังดนตรี ‘ประจำชาติ’ ของประเทศอื่นๆ อยู่ในแง่ของการยอมรับโดยสากลโลก ไปจนถึงด้านความสำเร็จเชิงธุรกิจ หรือการเป็นสินค้าทางวัฒนธรรม
มุมมองแบบเดียวกันโผล่ขึ้นมาในทุกที่เมื่อพูดถึงวัฒนธรรม กีฬา ศาสนา สถาปัตยกรรม ฯลฯ เคยหรือเปล่าเมื่อเราเห็นข่าวเกี่ยวกับความสำเร็จของบางพื้นที่ แล้วความคิดแรกเข้ามาในหัวบอกเราว่า “ไทยมันช่างห่วยจริงๆ?” มากเสียจนมีกระแสโต้กลับออกมาในอีกทางว่า คนไทยควรจะชาตินิยมมากกว่านี้หรือไม่? และหากเราชาตินิยมมากกว่านี้ หลายสิ่งในประเทศของเราอาจไปได้ไกลกว่าที่มันเป็น นั่นรวมไปถึงทีป๊อปด้วย
ที่ทีป๊อปยังไปไม่ไกลเท่าเคป๊อป (K-POP) นี่เกิดจากความกดตัวเองต่ำของเราจริงหรือเปล่า? เพียงเราทั้งชาติยืนดันหลังทีป๊อป เราจะเปลี่ยนให้มันเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่แหลมคมได้จริงๆ หรือ? การคุยกันเรื่องนี้อาจต้องพาอ้อมเข้าสู่ประเด็นนั้นประเด็นนี้มากมายกว่าที่คิด เริ่มจากคำถามแรกคือ มันหมายความว่าอะไรที่เราจะเรียกดนตรีแบบใดแบบหนึ่งว่าเป็นดนตรีแบบของชาติเรา?
‘ที’ ใน ‘ทีป๊อป’ แปลว่าอะไร?
อ่านโจทย์แล้วทุกคนคงยกมือตอบอย่างรวดเร็วว่า ก็ย่อมาจากไทยน่ะสิอย่างรวดเร็ว แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เรากำลังถาม คำถามจริงๆ คือตรงไหนของทีป๊อปที่แสดงถึงความเป็นไทย? จำเป็นหรือเปล่าที่ทีป๊อปต้องแสดงถึงความเป็นไทย? และหากไม่ได้แสดงความเป็นไทย ทำไมต้องใช้ที? นั่นคือใจกลางคำถามเกี่ยวกับตัวตนของอุตสาหกรรมดนตรี ที่ตั้งอยู่บนสัญญาของการต้องข้องเกี่ยวกับชาติ โชคดีที่เรามีกรณีศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ จากอุตสาหกรรมดนตรีที่สร้างปรากฏการณ์ระดับโลกมาแล้วอย่างเคป๊อปนั่นเอง และหากเรารู้แล้วว่า ‘เค’ ของเคป๊อปคืออะไร บางทีมันอาจจะพาเราเข้าใกล้คำตอบมากขึ้นก็เป็นได้
บทความวิชาการ K-pop Trans/Nationalism โดยคยองยูน (Kyong Yoon) ศาสตราจารย์สาขาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัย British Columbia Okanagan ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมป๊อปเกาหลี เขียนถึงการที่เคป๊อปกลายเป็นวัฒนธรรมที่ข้ามขอบชาติไปยังเวทีโลกได้ ทั้งๆ ที่เคป๊อปเป็นดนตรีประเภทที่ตีตราตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า นี่คือดนตรีที่มาจากประเทศประเทศหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็พูดถึงแรงผลักดันชาตินิยมเบื้องหลังมันไปพร้อมๆ กันด้วย
หนึ่งในสิ่งที่คยองยูนพาเราไปคิด คือความหมายที่แท้จริงของดนตรี ศิลปิน ค่ายเพลง ฯลฯ ถูกตั้งอยู่ใต้ร่มของความเป็น ‘เคป๊อป’ โดยเขาเขียนไว้ว่า “เคในเคป๊อปไม่จำเป็นต้องแปลว่าเกาหลี” แม้ว่าเคป๊อปจะเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่เกาหลีส่งออกไปอย่างกว้างขวาง ลักษณะของดนตรีที่ส่งออกไปนั้นกลับห่างไกลจากสิ่งที่เราจะเรียกได้ว่า เป็นดนตรีที่ถือกำเนิดโดยมีรากมาจากวัฒนธรรมเกาหลี หากแต่คือส่วนผสมระหว่างดนตรีหลากหลายแนวจากหลากหลายวัฒนธรรม
นั่นหมายความว่าดนตรีเหล่านี้แตกต่างจากการพยายามนำโขน หรือละครคาบูกิออกไปยังชาติอื่นๆ เพื่อโฆษณาความเป็นชาติไทยของเรา แต่คือทางกลับกันต่างหาก “คำว่าเคป๊อปหมายความถึงดนตรีที่ส่งออกได้ มันไม่ได้หมายความเพียงว่านี่คือเพลงเกาหลี แต่คือดนตรีประเภทหนึ่งที่ผลิตในเกาหลี ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อต่างชาติโดยเฉพาะ” เรียกง่ายๆ ว่ามันคือดนตรีที่ทำหน้าที่บอกกลายๆ ว่า “ดนตรีของเรามีศักยภาพทัดเทียมกับดนตรีชั้นนำของโลก” ในบริบทนี้คือดนตรีตะวันตก เนื่องจากจักรวรรดินิยมไม่เคยทิ้งเราไปไหนจริงๆ นั่นเอง
มากไปกว่านั้น บทความนี้ยังมีแง่คิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเห็นตอนเปิดบทความเรื่องว่า หากคนในชาติเป็นชาตินิยมมากกว่านี้ ดนตรีและวัฒนธรรมของชาติเราจะประสบความสำเร็จมากขึ้น ซึ่งจากการสังเกตกรณีศึกษาของเคป๊อปของคยองยูน สิ่งตรงข้ามต่างหากที่เกิดขึ้น
“ปรากฏการณ์ (เคป๊อป) ทำหน้าที่ชุบชีวิตความเป็นชาตินิยมทางวัฒนธรรมด้วย เพราะมันทำให้เรื่องของชาตินิยมไม่ติดอยู่กับเพียงวัฒนธรรมประเพณีพื้นบ้าน แต่เป็นชาตินิยมที่เยาว์วัย ร่วมสมัย และเกิดในวัฒนธรรมดิจิทัล” คยองยูนเขียน เคป๊อปไม่ได้ไปไกลขึ้นเพราะวัยรุ่นเกาหลีชาตินิยม แต่เวฟใหม่ของความภูมิใจในความเป็นชาติของวัยรุ่นเกาหลีนั้นเกิดขึ้นจากความสำเร็จของเคป๊อปต่างหาก
ซึ่งวกกลับมาหาประเด็นของเรา ไม่ว่าก่อนคำว่า ‘ป๊อป’ จะเป็นตัวอักษรอะไร จะเคหรือจะที ตัวอักษรเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องนำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นที่นำเสนอตัวอักษรเหล่านั้น แต่มันเป็นเหมือนฉลากส่งออกสินค้ามากกว่า และความเป็นที่นิยมมากขึ้นเพื่อผลักดันทีป๊อปนั้น ก็อาจเป็นการนำผลมาก่อนเหตุอยู่เล็กน้อย
เล่ามาทั้งหมดแปลว่าเราต้องทำตามเกาหลีหรือเปล่า? ไม่เสมอไป เพราะหากดูผ่านบริบทของเวลา การพัฒนาเทคโนโลยี และการพัฒนาของอุตสาหกรรมดนตรี แนวคิดการสร้างอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปี 1990 แตกต่างจากปัจจุบันอย่างมาก ทั้งในแง่โลกเราที่เชื่อมต่อกันมากขึ้น เราต่างเห็นว่ามีศิลปินที่มีฝีมือผลิตดนตรีอยู่ในทุกท้องที่ และสำหรับมุมมองเกี่ยวกับชาตินิยมในศิลปะ และการส่งออกวัฒนธรรมในปัจจุบันก็หลากหลายมากขึ้น
‘ป๊อป’ ใน ‘ทีป๊อป’ แปลว่าอะไรได้บ้าง? เมื่อการสร้างตัวตนชาติในศิลปะไม่เหมือนเดิม
อย่างที่เราคุยกันไปก่อนหน้า อุตสาหกรรมเคป๊อปวางอยู่บนฐานที่เรียกว่า Outside-in ซึ่งควบรวมวัฒนธรรมจากภายนอก เพื่อจะบอกว่าเราทำได้เหมือนกันให้ชาวโลกเห็น แต่เมื่อพูดถึงการสร้างตัวตนทางวัฒนธรรมของชาติเพื่อส่งออกดนตรี เราเองก็มีทางเลือกมากกว่านั้น นั่นคือการส่งออกจากในสู่นอก หรือการแสดงออกตัวตนและเรื่องราวของ ‘ชาติ’ นั้นๆ ให้ไปถึงผู้อื่น หนึ่งในตัวอย่างสำคัญคือวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลต่อดนตรีป๊อปทั่วโลก และหากพูดชื่อจะเข้าใจว่าเหตุใดถึงต้องใส่เครื่องหมายคำพูดให้กับคำว่า ‘ชาติ’
ดนตรีและวัฒนธรรมฮิปฮอปถูกคนทั่วโลกหยิบยืมไปใช้ มากเสียจนเราเกือบลืมไปแล้วว่ารากของมันวางอยู่บนวัฒนธรรมที่เก่าแก่โบราณของแอฟริกา ผสมเข้ากับประสบการณ์ร่วมการใช้ชีวิตในร่างของคนผิวดำเมื่อเข้าไปสู่ชายขอบของสังคมต่างๆ ซึ่งในห้วงเวลาราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา ดนตรีหลากหลายแนวจากหลากหลายวัฒนธรรมดึงชิ้นส่วนเล็กๆ น้อยๆ จากวัฒนธรรมฮิปฮอปเข้ามาใช้ เนื่องจากภาพจำที่มันนำเสนอ ขบถ ห้าวหาญ อันตราย ภาพจำที่มองคนผิวดำเป็นวัตถุ และนั่นเป็นเรื่องตลกร้ายที่แม้ฮิปฮอปจะมีอิทธิพลมากขนาดไหน แต่อำนาจต่อรองเชิงระบบของคนผิวดำกลับยังไม่สูงขึ้น ซึ่งแตกต่างจากชาติที่หยิบยืมมันไปโดยไม่สนใจบริบทของการกำเนิดมันขึ้นมา
เหตุที่เราต้องยกฮิปฮอปมาเป็นตัวอย่าง เพราะว่าในแง่หนึ่งมันคือวัฒนธรรมที่ได้รับความสนใจจากการเป็นตัวของมันเองอยู่แต่ต้น การแร็ปที่มีรากมาจากประเพณีการ Signifyin หรือการต่อสู้กันผ่านถ้อยคำนั้นไม่ใช่ของใครอื่น แต่หยั่งรากอยู่ในความเป็นชาติของคนแอฟริกัน และหลังปี 2020 จากการเคลื่อนไหว Black Lives Matter เราก็ได้เห็นการงอกเงยของการพยายามทวงคืนดนตรีฮิปฮอป ให้ถูกมองว่าเป็นของกลุ่มคนผู้สร้างมันขึ้นมามากขึ้น อาจจะไม่ถึงขั้นของการห้ามนำไปใช้ แต่เป็นไปในแง่ของการได้รับการยอมรับ
“ผมว่าการได้เข้าชิงรางวัลในหมวดแร็ปมันแทบจะเหมือนให้แบบขอไปที” ไทเลอร์ โอโคนม่า (Tyler Okonma) หรือฉายา Tyler, The Creator กล่าวในการสัมภาษณ์ที่เขาชนะรางวัลแกรมมี่ปี 2020 จากอัลบั้ม IGOR เขามองว่าอัลบั้มของตัวเองไม่ใช่อัลบั้มเพลงแร็ป แต่กลับถูกรวมไปอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับอัลบั้มเพลงดังกล่าวเพียงเพราะสีผิวของเขา และ “ทำไมเราเป็นป๊อปบ้างไม่ได้?” เขาตั้งคำถาม ซึ่งเมื่อมองไปยังเพลงป๊อปมากมายที่ได้รับอิทธิพลจากฮิปฮอปจนแทบแยกไม่ออก คำถามนี้ก็น่าคิดยิ่งขึ้นไปอีก
แล้วเกี่ยวยังไงกับทีป๊อป? หากจะตั้งชื่อตามแบบแผนที่เราใช้มาตลอด ดนตรีฮิปฮอปจะคืออะไรหากไม่ใช่ African American-Pop? แนวดนตรีที่นำความเป็น ‘ชาติ’ หรือตัวตนร่วมกันของคนในชาติขายส่งออกไปยังโลก จนกลายเป็นวัฒนธรรมป๊อปในตัวของมันเองก็เป็นหนึ่งหนทางที่ทำได้เช่นกัน แต่นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถหยิบยกสูตรสำเร็จจากใครมาได้ หากแต่ต้องวาดมันจากความเป็นชาติของเรามากกว่าใช่หรือไม่?
นั่นต่างหากที่อาจเป็นปัญหาใหญ่ อะไรคือความเป็นชาติไทย?
‘ไทย’ ใน ‘ที’ คืออะไร?
‘ไทยแท้’ เป็นคอนเซ็ปต์ที่เมื่อเรายิ่งโตขึ้น เรายิ่งไม่รู้ว่าคืออะไรกันแน่ เราเห็นสิ่งที่รัฐพยายามนำเสนอให้เห็น เช่น วัดวาอาราม ลายไทย โขน ฯลฯ แต่เมื่อยิ่งหาข้อมูล เราก็ยิ่งรู้ว่าหลายๆ อย่างคือวัฒนธรรมที่เรามีร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และแม้เราจะโอบรับสิ่งเหล่านั้นเพื่อจะได้นำมันมาใช้ หลายต่อหลายครั้งมันกลับติดกำแพงของการเซนเซอร์ และข้อจำกัดที่ต้องเชิดชูบูชาสิ่งเหล่านั้นจนไม่อาจดัดแปลงมันไปได้
ความเก่งกาจและความสามารถของศิลปินไทยนั้นไม่เป็นรองใครในโลกนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่การพัฒนาการส่งออกวัฒนธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ศิลปินหรืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งสามารถแบกเองได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ตัวตนความเป็นชาติและวัฒนธรรมแตะต้องยาก
คงไม่มีคำตอบที่ตอบได้ครอบจักรวาลว่า ทีป๊อปต้องเดินไปในทิศทางใดจึงจะรุ่งกว่าที่มันเป็นในปัจจุบัน ในแง่หนึ่งมันอยู่ในขาขึ้นของมันอยู่แล้ว แต่หากต้องการเปลี่ยนเสียงที่เรียกร้องให้มีตัวตนเฉพาะตัวมากขึ้นให้กลายเป็นเสียงสนับสนุน เราอาจต้องอาศัยการเจาะลึกลงไปในการสร้างภาพใหญ่ของความเป็นไทยอย่างจริงจังและจริงใจ ตั้งแต่การโอบรับประเพณีท้องถิ่นที่มักถูกมองว่าโลว์คลาส และไม่เหมาะควรจะเป็นหน้าตาของเรา หรือการเปิดรับคนมีฝีมือจากสายดนตรีที่ดังอยู่ในกลุ่มกลุ่มเดียวแล้วขยายเสียงมันออกไปภายนอก ทว่าในความไม่ชัดเจนในคำตอบก็มีแง่มุมที่ดี คือเรามีตัวเลือก
เราอาจต้องพัฒนาและค้นหาตัวตนทางวัฒนธรรมของชาติเสียก่อนหรือเปล่า เราจึงจะชาตินิยมกันได้?
อ้างอิงจาก