วันนี้ (12 มกราคม) ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับคำขอพิจารณาคดีใหม่ของ ป.ป.ช. ในคดีที่มีสื่อมวลชนฟ้องขอให้เปิดเอกสารผลสอบคดีนาฬิกายืมเพื่อน เนื่องจากไม่อยู่ในเกณฑ์รับพิจารณา
จากกรณี เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ ป.ป.ช. เปิดเผยผลสอบคดีนาฬิกายืมเพื่อนให้กับผู้สื่อข่าวที่ยื่นขอไปตั้งแต่ปลายปี 2561 หลังจากที่ประชุม ป.ป.ช. มีมติไม่ไต่สวน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในข้อหา ‘แจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ’ กรณีใส่นาฬิกาหรูกว่า 20 เรือนซึ่งไม่ได้อยู่ในบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเชื่อคำอ้างที่ว่าเป็นนาฬิกาที่ “ยืมเพื่อนมาใส่” ไม่ได้เป็นเจ้าของเองนั้น
ศาลมีคำสั่งให้ สำนักงาน ป.ป.ช. / เลขาธิการ ป.ป.ช. / คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้อง) เปิดเผยข้อมูลให้แก่ผู้ฟ้องทั้งสิ้น 2 รายการ
– รายงานสรุปผลการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งคณะทำงานรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุม
– คำชี้แจงของ พล.อ.ประวิตร ในคดีนี้ทั้ง 4 ครั้ง
ต่อมา ทาง ป.ป.ช.ยื่นคำขอพิจารณาคดีใหม่ อ้างว่า
1. ผู้ฟ้องคดีมิใช่ผู้เสียหาย แต่ศาลมิได้พิจารณาวินิจฉัยสถานะความเป็นผู้เสียหาย
2. พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ห้ามมิให้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลรายงาน เอกสาร และสำนวนการตรวจสอบ การสอบสวน การไต่สวน ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจนกว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้พิจารณาและมีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว เว้นแต่จะเป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในการไต่สวนหรือไต่สวนเบื้องต้น
กล่าวคือ เป็นความลับของราชการ จึงไม่อาจนำกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปมาใช้ได้
3. การไต่สวนของผู้ถูกฟ้องของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นการใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญ และเป็นการดำเนินงานทางอาญา จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครองตามคำวินิจฉัยของศาล
อย่างไรก็ดี ศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำขอดังกล่าวไว้พิจารณาเนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะขอพิจารณาคดีใหม่ได้ โดยต่อมา ศาลปกครองสูงสุดก็มี ‘คำสั่งยืน’ ตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง ระบุ ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้
สำหรับรายละเอียดนั้น ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า
1. ความเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาล ซึ่งศาลปกครองชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวในชั้นตรวจคำฟ้อง ก่อนที่จะมีคำสั่งรับคำฟ้องไว้พิจารณาแล้ว
แม้ประเด็นการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีหรือไม่ เป็นเงื่อนไขการฟ้องคดีปกครอง จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และแม้คู่กรณีไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุด ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามข้อ 92 ประกอบข้อ 116 แห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
แต่เมื่อคดีนี้ไม่มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามเองก็มิได้ยกขึ้นโต้แย้งทั้งในกระบวนพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ประกอบกับมาตรา 69 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว มิได้บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีของศาลจะต้องระบุถึงความเป็นผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย โดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใด
เมื่อคดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามไม่ได้โต้แย้ง การเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวมา ศาลจึงไม่จำต้องยกขึ้นวินิจฉัยและระบุไว้ในคำพิพากษา กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่า คำพิพากษาของศาล มีสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกัน ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกล่าวอ้าง ซึ่งจะทำให้ศาลฟังข้อเท็จจริงผิดพลาดหรือมีพยานหลักฐานใหม่ อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ หรือมีข้อบกพร่องสำคัญในกระบวนพิจารณาพิพากษา ที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุติธรรม ตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง (1) และ (3) แห่ง พ.ร.บ. ข้างต้น
2. ส่วนกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามอ้างว่า เอกสารที่ผู้ฟ้องคดีมีดำขอให้เปิดเผยเป็นข้อมูลข่าวสารที่ห้ามเปิดเผย และการไต่สวนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดไว้นั้น ศาลเห็นว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้แล้ว กรณีจึงเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน การพิจารณาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลเท่านั้น
“จึงไม่อาจถือได้ว่ามีข้อบกพร่องสำคัญในกระบนการพิจารณาพิพากษาที่ทำให้ผลของคดีไม่มีความยุดิธรรม…ดังนั้น คำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรับไว้พิจารณาได้”
อ้างอิงจาก