“การฟ้อง SLAPP ทำให้สังคมเกิดภาวะชะงักงันในการแสดงความคิดเห็นต่อกลุ่มทุนผูกขาด ที่ไม่ได้ต้องการชัยชนะ แต่เป็นเพียงการข่มขู่ กลั่นแกล้ง และปิดปาก”
เมื่อวานนี้ (27 พฤษภาคม) ยุ้ย–สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ออกมาเปิดเผยเอกสารการถูกฟ้องหมิ่นประมาทและเรียกค่าเสียหายจำนวน 100 ล้านบาท โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (Gulf Energy Development) จากกรณีถูกกล่าวหาว่าผูกขาด และในวันนี้ (28 พฤษภาคม) อ. สฤณี ก็ออกมาระบุเพิ่มว่า หมายศาลซึ่งเป็นคดีอาญามาเพิ่มอีกฉบับ ซึ่งโดยสรุปแล้ว เธอถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาททั้งในคดีแพ่งและอาญา
อย่างไรก็ดี กรณีนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการฟ้องแบบ ‘SLAPP’ หรือ การฟ้องเพื่อลดการตรวจสอบ ดังนั้น วันนี้เราจึงจะมาอธิบายการฟ้องร้องดังกล่าวกันว่า มันคืออะไรและกระบวนการยุติธรรมสามารถช่วยเหลือผู้ถูกฟ้องร้องอย่างไรได้บ้าง
ขออธิบายก่อนว่า การฟ้องเพื่อลดการตรวจสอบ หรือ SLAPP ซึ่งย่อมาจาก Strategic Lawsuit against Public Participation ถูกคิดค้นขึ้นมาโดยนักทฤษฎีกฎหมายชาวอเมริกัน โดยมันมีความหมายว่า การฟ้องร้องที่ปราศจากการแสวงหาความยุติธรรมอันเป็นสาระสำคัญ (Substantial Merit) โดยภาคเอกชน เพื่อหยุดพลเมืองไม่ให้ใช้สิทธิทางการเมือง และยังเป็นการลงโทษพวกเขาด้วยการฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งการฟ้องร้องในกระบวนยุติธรรมเหล่านั้น จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งแสวงหาความยุติธรรม แต่เป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมเพื่อกดดัน จำกัดการแสดงออก เพราะผู้ที่ถูกฟ้องจำเป็นต้องวิ่งเต้นสู้คดี รวมทั้งยังเป็นการยุติข้อเรียกร้องจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว
นอกจากนี้ วิธีการดังกล่าวยังเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศ เช่น ประเทศไทย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยส่วนใหญ่ ซึ่งการกระทำนี้ก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างบริษัทเอกชนกับภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนในหลายๆ ประเทศ มีการเสนอกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) แต่ในประเทศไทยมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. เพื่อนำมาใช้เป็นกฎหมายปกป้องประชาชน
เพราะจุดประสงค์หลักของผู้ฟ้องคดีไม่ได้มุ่งหวังในผลแพ้ชนะของคดี เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อข่มขู่ กลั่นแกล้ง หรือขัดขวางประชาชนที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการร้องเรียน แสดงความคิดเห็น หรือแจ้งเบาะแสเท่านั้น
ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก ตั้งแต่ในชั้นเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ ก่อนจะนำไปเสนอให้รัฐสภาต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นควรแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 เพิ่มเติม โดยกำหนดมาตรการหรือกลไกในการป้องกันการฟ้องปิดปาก เพื่อให้เป็นไปตามหลักการที่มีในร่างดังกล่าว
ทั้งนี้ กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งได้กำหนดให้มี ‘กฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law)’ และสอดคล้องกับมาตรา 63 ประกอบมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ท้ายที่สุดแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีบทบาทสำคัญต่อต่อกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพราะมีอำนาจในการใช้กลไกทางกฏหมาย และพิจารณาว่าบุคคลใดสมควรได้รับความคุ้มครอง และความช่วยเหลือในกรณีที่ถูกฟ้องคดีทั้งทางแพ่ง ทางอาญา รวมถึงการถูกดำเนินการทางวินัย
อ้างอิงจาก
#กลุ่มทุนผูกขาด #การฟ้องปิดปาก #การฟ้องเพื่อลดการตรวจสอบ #ปปช #SLAPP #AntiSLAPLaw #TheMATTER