“หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 (พิธาและพรรคก้าวไกล) กระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่า การเสนอแก้ไขและยกเลิกกฎหมาย ม.112 โดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล ถือเป็นการใช้เสรีภาพในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำนั้น
ศาลวินิจฉัยอย่างไร The MATTER สรุปให้อ่าน
1. คดีล้มล้างการปกครองมีจุดเริ่มต้นจากการที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์และพรรคก้าวไกล ที่เสนอกฎหมายแก้ไข ม.112 เป็นนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง คือการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ ม.49
ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ม.49 วรรค 1 ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้
2. ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัยโดยอธิบายว่า เมื่อ 15 มีนาคม 2564 พิธาและ สส.ก้าวไกล 44 คน เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ .. พ.ศ. … ที่มีเนื้อหาแก้ไข ม.112 ต่อประธานสภาฯ นอกจากนี้ ระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง พิธาก็ใช้นโยบายแก้ ม.112 ประกอบการหาเสียง และดำเนินการต่อเนื่องด้วย
ศาลบอกว่า พิธาและก้าวไกลมีพฤติการณ์รณรงค์ให้แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ม.112 เรื่อยมา ทั้งยังเคยเข้าร่วมชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องยกเลิก ม.112 นอกจากนี้ มีกรรมการบริหารพรรค รวมถึง สส.ก้าวไกล ที่เคยเป็นผู้ต้องหา หรือเคยเป็นนายประกันผู้ต้องหาในความผิด ม.112 และเคยแสดงความคิดเห็นให้ยกเลิก ม.112 ผ่านกิจกรรมการเมืองและสื่อสังคมออนไลน์
3. แม้พิธาและก้าวไกลจะมีข้อโต้แย้งว่า คำร้องนี้อาจเป็นคำร้องที่ไม่ชอบตาม พรป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 หรือไม่ แต่ศาลอ่านคำวินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องชอบด้วย พรป.ข้างต้น ม.42 แล้ว
4. ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การที่รัฐธรรมนูญ ม.49 กำหนดหน้าที่และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบโดยไม่ได้บัญญัติยกเว้นการกระทำใดไว้ ทำให้การเสนอกฎหมายโดยรัฐสภาก็ถือเป็นการกระทำหนึ่งที่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญเผยด้วยว่า ม.49 มุ่งหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองระบอบการปกครองของประเทศ โดยนิยามว่าเป็นกฎหมายที่คุ้มครองระบอบการปกครองจากการถูกบ่อนทำลายจากการ “ใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลและพรรคการเมือง” ศาลระบุ
5. ต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายถึง ม.112 ว่าเป็นกฎหมายซึ่งกำหนดการกระทำอันเป็นความผิดและอัตราโทษแก่ผู้ที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พร้อมอธิบายต่อว่า พระเกียรติของสถาบันกษัตริย์คือการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศและรักษาคุณลักษณะสำคัญของระบอบการปกครอง จึงชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองในการละเมิดพระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ
6. ศาลระบุต่อว่า การที่พิธาและพรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเพื่อแก้ไข ม.112 เมื่อปี 2564 มีความพยายามเปลี่ยนจากลักษณะความผิดต่อความมั่นคงต่อราชอาณาจักร เป็นลักษณะความผิดที่ไม่มีความสำคัญร้ายแรง ไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ อันถือเป็นการมีเจตนามุ่งหมายที่จะแยกสถาบันกษัตริย์และชาติไทยออกจากกัน
“สถาบันกษัตริย์สัมพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ เพราะกษัตริย์กับชาติไทยดำรงอยู่คู่กัน เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นศูนย์รวมจิตใจคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันเดียวกันของคนในประเทศ การกระทำความผิดต่อสถาบัน จึงเป็นการกระทำผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย” คือคำวินิจฉัยของศาล
ศาลเห็นว่า การเสนอแก้กฎหมายทำให้ ม.112 กลายเป็นความผิดส่วนพระองค์ ไม่กระทบต่อชาติ ทั้งที่เป็นการกระทำที่ “ทำร้ายจิตใจปวงชนชาวไทยที่มีความเคารพเทิดทูนสถาบัน เพราะเป็นประมุขและศูนย์รวมความเป็นชาติที่รัฐต้องคุ้มครองและเป็นผู้เสียหายในคดีอาญา”
8. ดังนั้น ศาลจึงวินิจฉัยว่า แม้การเสนอแก้ไข ม.112 จะเป็นหน้าที่และอำนาจของ สส. ในกระบวนการนิติบัญญัติ และแม้ว่าร่างกฎหมายจะไม่เคยถูกบรรจุในวาระการประชุมสภาฯ ก็ตาม แต่พรรคก็ยังใช้เป็นนโบายหาเสียง ยังใส่เนื้อหาบนเว็บไซต์ที่คล้ายร่างกฎหมายที่เคยเสนอ จึงถือว่าพิธาและพรรคเสนอแก้โดยมีเจตนาต้องการลดทอนการคุ้มครองสถาบันกษัตริย์ผ่านร่างกฎหมาย และอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติเพื่อสรา้งความชอบธรรมโดยซ่อนเร้น ผ่านกระบวนการรัฐสภา
ศาลระบุว่า การเสนอร่างกฎหมายแก้ ม.112 และใช้หาเสียงเลือกตั้ง จึงถือว่ามีเจตนาบ่อนทำลายสถาบันฯ เป็นเหตุทำให้ทรุดโทรมเสื่อมทราม และนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในที่สุด
9. ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าข้อโต้แย้งของพิธาและพรรคก้าวไกลฟังไม่ขึ้น ทั้งข้อโต้แย้งที่ระบุว่า สส. มีหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายตามหาเสียง เป็นเอกสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และข้อโต้แย้งที่บอกว่า ม.49 ใช้แค่กับบุคคลธรรมดา ไม่ใช่พรรคการเมือง
นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่าที่ผ่านมาพรรคเคลื่อนไหวกับกลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอด มีสมาชิกพรรคที่เคยเป็นนายประกันผู้ต้องหาและจำเลยคดี ม.112 มีสมาชิกพรรคที่เคยทำผิด ม.112 เช่น ชลธิชา แจ้งเร็ว และรักชนก ศรีนอก และตัวพิธาก็เคยแสดงทัศนคติสนับสนุนยกเลิก ม.112 ผ่านการทำกิจกรรมของนักกิจกรรมบนปราศรัยบนเวที
10. ท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของพิธาและพรรค คือการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเพื่อเรียกร้องให้ “ทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์เป็นประมุขโดยซ่อนเร้น หรือผ่านการนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ม.112 และใช้เป็นนโยบายพรรค” พร้อมสั่งให้ยกเลิกการกระทำเหล่านั้น
ศาลบอกด้วยว่า การรณรงค์ให้ยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมยังมีต่อเนื่อง เป็นขบวนการ โดยใช้หลายพฤติการณ์ ทั้งการชุมนุม การจัดกิจกรรม การรณรงค์ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ การเสนอร่างกฎหมายเข้าสภาฯ และการใช้เป็นนโยบายหาเสียง
“หากยังปล่อยให้ผู้ถูกร้องทั้ง 2 กระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์มทรงเปนประมุข” ตุลาการศาล ระบุ
“การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 2 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ ม.49 วรรค 1 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำ เลิกการแสดงความคิดเห็น พูด เขียน พิมพ์ โฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิก ม.112 อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมาย ม.112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย” ตุลาการศาล ระบุ
11. คำวินิจฉัยของศาลไม่ใช่คำสั่งยุบพรรคทันที แต่ถูกวิเคราะห์ว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลในอนาคตได้ เพราะเมื่อศาลเห็นว่านี่คือการล้มล้างการปกครอง ก้าวไกลอาจถูกยื่นคำร้องไปยัง กกต. ให้พิจารณาเรื่องการยุบพรรคในอนาคตได้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง