“ฝากถึงนักนิติศาสตร์ทุกคน
ถ้าได้ฟังคำวินิจฉัยของศาลแล้วรู้สึกโกรธ ”เราคือเพื่อนกัน” และจงแสดงจุดยืนต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโต้และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่าให้กฎหมายถูกทำลายด้วยอำนาจของตุลาการเพียงไม่กี่คน
ศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญก็เป็นเพียงศาลเจ้า”
ข้อความข้างต้น คือข้อความจาก ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังทราบข่าวการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญว่าการปฏิรูปสถาบัน ถือเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย
ไผ่ จตุภัทร์ ผู้จบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ นั่งท่องจำ ร่ำเรียนกฎหมาย ประมวลต่างๆ มากมาย คงไม่ใช่คนเดียวที่โกรธ ผิดหวัง หรือเสียใจ จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังมีนักศึกษานิติศาสตร์อีกหลายคน ที่ตั้งคำถามกับท่าทีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เปรียบเสมือนรุ่นพี่ในวงการกฎหมาย
The MATTER ได้พูดคุยกับนิสิต และนักศึกษากฎหมายจากหลายมหาวิทยาลัย ถึงการมองคำตัดสินที่เกิดขึ้น ไปถึงปรากฎการณ์ความเชื่อมั่นของตุลาการในสังคมที่ดูจะลดน้อยถอยลงไปทุกวัน ซึ่งพวกเขา ในฐานะนักเรียนกฎหมาย ต่างก็บอกว่า ผิดหวัง และเสียใจ ไปถึงคิดอยู่แล้ว ว่าศาลต้องตัดสินมาในแนวนี้
นิสิต นักศึกษานิติศาสตร์ มองคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเรื่องปฏิรูป = ล้มล้าง
เราเริ่มพูดคุยกับนิสิต นักศึกษานิติศาสตร์ ด้วยคำถามถึงเหตุผลที่พวกเขามาเรียนในคณะนี้ ซึ่งก็มีตั้งแต่การเห็นความไม่เป็นธรรมในระบบกฎหมาย และต้องการแก้ไข การชื่นชอบ ไปถึงนิสิต ปี 3 คณะนิติศาสตร์ ของจุฬาฯ ที่มองว่าคณะนี้ได้เรียนอะไรที่เป็นเหตุผล
“หลักๆ คือชอบสายสังคม นิติฯ เป็นคณะที่เรามองว่าเราชอบที่สุด เพราะว่าใช้เหตุผลในการเรียน เหตุผลเป็นเบื้องหลังของกฎหมาย แล้วเราเป็นคนชอบเหตุผลอยู่แล้ว พอมีวิชาที่ได้เรียนเกี่ยวกับเหตุผล เราก็เลยสนใจ”
ขณะที่เมื่อถามถึงคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ก่อน นักศึกษาปี 2 จากคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ก็ได้บอกกับเราว่า เขาผิดหวัง และเห็นความไม่ยุติธรรม
“ผมรู้สึกเห็นถึงความไม่เป็นธรรมนะ ในฐานะที่เราเรียนกฎหมาย เราเห็นการใช้กฎหมาย ตีความกฎหมายผิดเพี้ยนไปจากหลักการ” เขาบอก
ขณะที่นิสิต จุฬาฯ ที่บอกเราว่า เขาพอจะคาดเดาได้ถึงทิศทางของการตัดสิน แต่ก็ไม่คิดว่าจะออกมาสุดโต่งขนาดนี้ “ส่วนตัว ตอนแรกผมมองว่าอาจจะไม่สุดโต่งขนาดนี้ อาจจะเป็นไปกลางๆ ค่อนไปทางลบ ก็ไม่คิดว่าจะสุดโต่งว่าสิ่งนี้เป็นการล้มล้างไปเลย ก็ค่อนข้างช็อคนิดนึงตอนอ่าน
จริงๆ คำตัดสินก็มีเพื่อนบางคนที่พูดว่า ถ้ามองตามบรรทัดฐานของศาลไทยมาตลอดก็ดูพอฟังได้ แต่ถ้าดูตามหลักสากลประชาธิปไตย มันก็ไม่ค่อยเป็นไปตามทางประชาธิปไตยเลย จะเอนมาทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่า ใดๆ สิทธิมันก็ต้องอยู่บนฐานว่า เราจะให้ปัจเจกชนเป็นหลัก โดยที่เราก็คำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะด้วย โดยในที่นี้ ศาลรัฐธรรมนูญยกความมั่นคงของรัฐขึ้นมา ศาลก็พยายามจะดึงข้อเท็จจริงต่างๆ ว่าการเรียกร้องให้ปฏิรูปมันกระทบความมั่นคง แต่สุดท้ายตอนนี้มันก็ไม่ได้ทำให้ข้อเสนอนั้นหายไป และก็ไม่ได้จะเป็นการล้มล้างจริงๆ แม้จะมีข้อเรียกร้องนี้มาปีกว่าๆ แล้ว และเราก็เชื่อว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุม หรือเราในฐานะบุคคล หรือประชาชนต้องการที่จะปฏิรูปเพื่อที่จะได้ให้อนาคตของประเทศไทยดีขึ้น” นิสิตปี 3 คนนี้บอกกับเรา
ด้านนักศึกษาอีกคน เธอเรียกตัวเองว่าเป็นลูกครึ่งรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ เนื่องจากเธอจบ ป.ตรี รัฐศาสตร์มาแล้ว แต่กำลังเรียนหลักสูตรบัณทิตของนิติฯ ธรรมศาสตร์ อีกใบ และวางแผนชีวิตไว้จะทำงานในแวดวงกฎหมาย เช่นอัยการ ซึ่งสำหรับการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้น เธอมองว่าเป็นเหมือนจุดวัดใจ
“เราเหมือนเป็นลูกครึ่งระหว่างรัฐศาสตร์กับกฎหมาย เราเลยไม่ได้อินกับความเป็นนักกฎหมายขนาดนั้น แต่ว่าในมุมของเรา เรารู้สึกว่าวงการกฎหมายมันมาถึงจุดวัดใจกันแล้ว ที่ผ่านมาวงการกฎหมายเป็นวงการที่มีความปรับตัวตลอดเวลา มีความพยายามจะเท่าทันโลก คุ้มครองสิทธิประชาชนมากขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินคดี มันไม่ใช่วงการที่ล้าหลังขนาดนั้น ในระบบราชการของศาลยุติธรรมเขาก็มีความคล่องตัว มีการจัดการที่โอเคในมุมองของเราเมื่อเทียบกับราชการอื่น แต่มันก็มีเรื่องเดียวที่มันไปแตะไม่ได้ ดังนั้นพอไปแตะเรื่องนี้ขึ้นมา มันจึงเป็นเหมือนจุดวัดใจว่า องค์กรที่มีความทันสมัยอย่างศาลยุติธรรมมันก็มีเรื่องนึงนะ ที่ไม่รู้จะเอายังไงกับมัน”
เธอบอกกับเราว่า เหตุการณ์นี้ ทำให้เธอย้อนกลับมามองศาลว่า มีอภิสิทธิ์อะไรในการตัดสินประชาชน
“ศาลในไทยมีเยอะมาก ทั้งศาลทหาร ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลทั้งหมด เราเรียกว่าศาลก็จริง แต่ไม่ได้ทำงานร่วมกันขนาดนั้น มีความเป็นอิสระของตัวเอง และถ้าย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของศาล ศาลแรกที่มีมาคือศาลยุติธรรม ซึ่งมันไม่ได้มีขึ้นมาหลัง 2475 มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยสมบูรณายาสิทธิราชย์เลย ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีของศาล เขาก็ใช้อภิสิทธิ์ของความเป็นศาล ชนชั้น เอาง่ายๆ คุณเป็นใครถึงจะมาตัดสินประชาชน ถ้าคุณไม่มีอภิสิทธิ์ก็ทำไม่ได้
ในมุมนี้เราว่าศาลไทยไม่เปลี่ยนเลย ถึงแม้จะมี 2475 หรืออะไรก็ตาม เพราะถ้าไปดูแล้ว หลัง 2475 ก็ไม่ได้สร้างศาลขึ้นมาใหม่ ก็คือของเดิม และถ้าเราไปดูคำตัดสินของศาลในปัจจุบัน เราก็ยังตัดสินภายใต้พระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ เราเลยมองว่ามันเป็นจุดวัดใจ เพราะสังคมมาถึงจุดนี้ สังคมเริ่มเห็นแล้วว่ามันมีเรื่องอย่างนี้อยู่” เธอบอก
ซึ่งไม่เพียงแค่นิสิต นักศึกษาที่แสดงความไม่เห็นด้วย และเห็นต่างจากกรณีการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ ยังรวบรวมรายชื่อกัน ออกแถลงการณ์แย้งด้วย แถลงการณ์ของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จำนวน 84 คน ที่ในตอนหนึ่งระบุว่า
“การตัดสินคดีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยอ้างอิงความรู้ทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงไม่เพียงแต่จะทำลายหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเท่านั้น หากแต่ยังทำลายอนาคตของสังคมไทยลงไปด้วย เพราะจะนำไปสู่วิกฤตทางการเมืองสืบต่อไปอีกนาน และลดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย จนสูญเสียความมั่นใจในความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินทั้งในหมู่คนไทยเองและในสายตาชาวโลก อันจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ
หน้าที่ประการหนึ่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้รับการบัญญัติไว้คือ การกำหนดจริยธรรมให้องค์กรอื่นๆ ต้องปฏิบัติตาม ศาลรัฐธรรมนูญเองจึงควรจะยึดถือจริยธรรมอันเป็น “ประเพณีนิยมหรือจรรยามารยาทในระบอบประชาธิปไตย” อย่างมั่นคง
ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ความหมายของ “ประชาธิปไตย” ที่ฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือ การปกครองที่ยึดหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รวมทั้งหลักการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคภายใต้กฎหมาย โดยที่ทุกคนในรัฐย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และศาล
หากศาลใดๆ ละเมิดหลักการดังกล่าวนี้ ก็ย่อมหมดสิ้นความชอบธรรมที่จะใช้อำนาจและย่อมจะกลายเป็นผู้ล้มล้าง “ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เสียเอง เพราะละเลยส่วนที่เป็นหลักการสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เชิดชูแต่หลักการของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ข้อความส่วนหนึ่งจากแถลงการณ์
เมื่อกฎหมาย หลักการที่ท่องจำ กับสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการยุติธรรมในสังคม แตกต่างกัน
เรียนนิติเป็นสลิ่มได้อย่างไร ? นี่คือคำถามที่เด็กนิติฯ จุฬาบอกว่าเขามักพูดกับเพื่อนๆ จากที่ยืนยันว่าการเรียนนิติศาสตร์ คือการเรียนเรื่องเหตุ และผล
“ผมจะมีคำพูดนึงที่อาจจะพูดกับเพื่อนบ้างว่า เรียนนิติเป็นสลิ่มได้ยังไง ? เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่ควรเป็นแบบนี้ และมันควรจะเป็นยังไง และเราควรจะต้องมีเหตุผลเพียงพอว่ามันไม่สามารถจะเป็นแบบนี้ได้ ก็ไม่แน่ใจว่าเขาเรียนยังไง หรือสมัยก่อนเรียนยังไง หรืออะไรหล่อหลอมความคิดเขาให้เป็นแบบนี้ได้
ตรรกะหลายๆ คนที่จบนิติฯ หรือ ส.ส.บางคนที่จบนิติฯ ก็ตรรกะค่อนข้างจะวิบัติประมาณนึง เราก็ไม่รู้ว่าเรียนมายังไง เพราะอาจารย์ที่สอนก็คนเดียวกันเหมือนกัน เราก็ไม่รู้ว่าเขาผ่านอะไรมา” เขาบอกกับเรา
นิสิต นักศึกษาเหล่านี้ต่างก็ยังคงนั่งท่องจำประมวลกฎหมายมากมายในการเล่าเรียน เราจึงถามเขาว่าเมื่อเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการยุติธรรมในสังคม มันสะท้อนสิ่งที่พวกเขาเรียนอยู่ หรือส่งผลกระทบต่อความรู้สึกในฐานะนักเรียนอย่างไร
ความรู้สึกเจ็บใจ คือคำตอบที่ นิสิตจากจุฬาฯ บอกกับเรา “อันนี้ก็แล้วแต่คนมอง หมายถึง เวลาคนบอกว่าเรียนนิติฯ ไป ก็ทำอะไรไม่ได้ ก็รู้สึกเจ็บใจประมาณนึงว่า คนที่ใช้ หรือคนที่สอน เป็นอาจารย์เราเอง ดันทำให้คนอื่น หรือประชาชนมองว่า เรียนนิติฯ ไม่ได้มีประโยชน์ ทั้งๆ ที่เค้าควรรู้มากกว่าเราด้วยซ้ำ ควรมองโลกกว้างกว่าเรา แต่ก็ไม่รู้ว่าทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือเปล่า หรือทำเพื่ออะไร อันนี้ก็อาจจะแล้วแต่ความคิด”
ทั้งเขายังเสนอถึงเรื่องการศึกษานิติศาสตร์ในบ้านเราด้วยว่า ไม่ได้เน้นเรื่องสิทธิต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการสอน หลายๆ อย่างที่ออกมาจึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน “สิ่งนี้ควรเริ่มที่โรงเรียน อย่างน้อยๆ โรงเรียนกฎหมายควรให้ความรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน หรือสิทธิมนุษยชนด้วย และสิทธิอื่นๆ ในระบอบประชาธิปไตยด้วย เพราะพูดจริงๆ อย่างน้อยๆ วิชากฎหมายสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้เป็นการบังคับ ทั้งๆ ที่ในหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็ค่อนข้างทำให้วิชานี้เป็นวิชาบังคับ ทั้งๆ ที่นิติศาสตร์มันเป็นวิชาที่เข้าถึงอำนาจนิติบัญญัติได้ทั้งสามขา เยอะที่สุดกว่าคณะอื่น”
ด้านนักศึกษา มข.เองก็บอกเราเหมือนกันว่าเสียใจ แต่ก็ยังเชื่อมั่นในกฎหมาย “ผมรู้สึกหมดศรัทธากับกฎหมายในประเทศไทยนะ แต่ว่าถึงจะรู้สึกหมดศรัทธาก็ไม่อยากเลิกเรียน เพราะก็ยังอยากจะแก้ให้มันดีจริงๆ เรามาเรียนตรงนี้ เพราะอยากจะทำ อยากจะแก้ให้มันดีขึ้นจริงๆ ด้วย”
นักศึกษาจาก มธ.ก็บอกเราว่า นอกจากคดีที่เกิดขึ้นจะเป็นเหมือนคดีวัดใจศาลแล้ว ยังวัดใจเธอในฐานะนักเรียนกฎหมายเช่นกัน “มันมีคดีเยอะเนอะช่วงนี้ มันก็เป็นคดีวัดใจเราเหมือนกัน ว่าสิ่งที่เราเรียน เราเรียนอะไรกันอยู่ ก็เป็นเรื่องที่บั่นทอนนิดนะ เรารู้สึกว่าเราจะท่องสิ่งเหล่านี้ เราจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และชีวิตจริงเราจะได้ใช้มันหรือเปล่า แต่ถ้าจะพูดอีกมุมนึงเราก็บอกตัวเองว่าเราต้องมีกำลังใจนะ อย่างน้อยๆ เราต้องยึดในสิ่งที่เราเชื่อ ก็คือถ้าสมมติว่าสังคม คนมีอำนาจใช้กฎหมายในทางที่ผิดไปแล้ว และเราเลิกเชื่อมั่น มันก็จบ ถ้าเราคิดว่าถ้าเขาไม่ทำ วันนึงเราก็จะทำให้มันกลับมาถูกต้องอยู่ดี เวลาเป็นของเรา”
“ที่จริงเรารู้ว่าวิชากฎหมาย ถ้าในวงการก็จะเรียกว่ากฎหมายเป็นดาบสองคม ถ้าเราใช้ในทางที่ถูกมันก็ทำให้สังคมสงบสุข มีความยุติธรรมขึ้นมาได้ แต่ถ้าเราใช้ในทางกลับกัน มันก็ทำให้สังคมเรามีผลเยอะ ยกตัวอย่างที่เราเรียนมา มันมีวิแพ่ง มาตราที่สำคัญที่สุดคือ ข้อ 55 ที่บอกว่าพอมีข้อพิพาทเกิดขึ้น ศาลต้องรับฟ้อง เพราะมันเกิดความพิพาทขึ้นมาแล้ว ถ้าศาลไม่ยุติข้อพิพาทด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ก็จะทำให้สังคมอาจจะเกิดการจราจลก็ได้ คิดภาพว่าคนทะเลาะกัน ไปฟ้องศาลและศาลบอกไม่รับฟ้อง มันก็ชิบหาย
ซึ่งการยุติปัญหาความขัดแย้งด้วยความเป็นธรรมมันสำคัญมาก มันสำคัญทั้งสองคำเลย ทั้งคำว่ายุติและเป็นธรรมเลยนะ มันไม่ใช่การยุติโดยการบอกว่าหยุดนะ แต่มันต้องหยุดเองด้วยความเป็นธรรม”
แต่สำหรับการตัดสินล่าสุด เมื่อเราถามเธอว่า เธอเห็นถึงการตัดสินที่ ยุติ และเป็นธรรมหรือไม่
“เรื่องของความเป็นธรรม เรามองว่าสังคมมีสองฝั่ง มีคนที่คิดว่าเป็นธรรมแล้ว และอีกฝั่งที่มองว่าแปลกๆ ยังไม่เป็นธรรมเลย เราเลยคิดว่าเรื่องนี้ไม่แน่ใจว่าตัดสินด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้ไหม เราไม่แน่ใจว่าควรจะวิเคราะห์มันยังไง เพราะมันก็มีคนโดนจำกัดสิทธิเสรีภาพหลังมีคำตัดสิน เช่นห้ามแกนนำ 3 คนไปทำเรื่องเดิมอีก ซึ่งมันไม่มีการสืบพยาน”
เธอมองว่า เรื่องการปฏิรูปสถาบัน เป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าสิ่งที่เธอเรียนมา จนทำให้ตั้งคำถามว่าศาลมาตัดสินเรื่องนี้ได้จริงๆ หรอ
“เราว่ามันใหญ่เกินกว่าสิ่งที่เราเรียนมา เช่นเราใช้ศาลมาตัดสินเรื่องนี้ได้จริงๆ หรอ ในเมื่อศาลตัดสินในนามพระปรมาภิไธย ถ้าเรามองอีกมุมว่าแบบนี้ถือเป็นฝั่งคู่กรณีที่เป็นคนตัดสินเองหรือเปล่า” ซึ่งทำให้เธอสงสัยถึงความเป็นกลางในการตัดสิน
ศาลถูกวิจารณ์ และประชาชนไม่เชื่อมั่นในตุลาการไทย
ไม่เพียงแค่เรื่องของศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินเรื่องปฏิรูปว่าเป็นการล้มล้างเท่านั้น แต่ที่ผ่านมายังมีหลายคดีที่เกิดขึ้น ทั้งการไม่ให้ประกันตัว สั่งฟ้องคดีต่างๆ ทางการเมือง จนทำให้นักเรียนกฎหมายเหล่านี้ บอกกับเราว่า พวกเขาเห็นอำนาจตุลาการในปัจจุบัน ที่ดูไม่สามารถถ่วงดุลทางการเมืองได้
นักศึกษา นิติฯ มข. ก็ได้บอกกับเราว่า เขาเห็นถึงการใช้กฎหมายอย่าง ม.112 ที่ชัดเจนขึ้นมา “ถ้ายกตัวอย่างที่เป็นประเด็นตอนนี้ก็อย่างกฎหมาย ม.112 ที่ว่ายังเป็นปัญหาของสังคมไทย ทำให้เราไม่สามารถพูดถึงปัญหา หรือสิ่งที่เป็นปัญหาเพราะติดกฎหมายตัวนี้”
“เท่าที่เห็นตอนนี้ ตุลาการไทย ไม่มีความเป็นอิสระตามหลักการแบ่งอำนาจ การตัดสินของตุลาการต่างๆ ถ้าเป็นคดีการเมือง ส่วนมากจะไม่ได้ยึดตามหลักการจริงๆ อย่างเช่นสิทธิในการประกันตัว ที่ควรเป็นสิทธิพื้นฐาน ตุลาการก็ตัดสินให้ไม่ได้รับสิทธินี้ ทำให้เรามองว่าไม่มีความเป็นอิสระตามการแบ่งแยกอำนาจจริงๆ ตุลาการก็กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการแบ่งแยกอำนาจจริงๆ
ตอนน้ีมันล้มเหลว อำนาจสามขาไม่ได้ถ่วงกันได้จริงๆ ในสังคมปัจจุบัน และอำนาจมันไม่ได้มีการกระจาย แต่มันอยู่ในมือของคนๆ เดียว” เขากล่าว
นิสิตจุฬาฯ เอง ก็บอกกับเราว่า สำหรบเรื่องการถ่วงดุล หรือแบ่งแยกอำนาจนั้น ต้องดูที่ที่มาของอำนาจ “เรื่องนี้ถ้าส่วนตัวผมว่า มันต้องเริ่มที่ฐานที่มาของอำนาจ เพราะในสหรัฐฯ บางรัฐ เขาจะมีให้ผู้พิพากษามีเสียงประชาชนเข้ามาช่วยเลือก แล้วคนที่เข้ามาบังคับใช้กฎหมายในขาตุลาการ ก็ต้องมีที่มามาจากประชาชนบ้าง เพื่อที่จะได้รู้สึกว่าเขาทำเพื่อประชาชนจริงๆ แต่ถ้าดูที่มาของศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลที่สามารถส่ังให้กฎหมาย หรืออะไรอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการที่ประชาชนที่เสนอเข้าไป ไม่ว่าจะผ่านรัฐสภา ก็สามารถล้มสิ่งนั้นได้หมดเลย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้มาจากประชาชนเลย”
ด้านนักศึกษาจากธรรมศาสตร์เอง ก็คิดเช่นเดียวกันกับนิสิต จุฬาฯ ถึงเรื่องที่มาของศาล “พื้นฐานของระบบศาลไทย ยังมีระบบอาศัยพระราชอำนาจ ดังนั้นถ้ามันผิด มันก็ผิดตั้งแต่ตรงนั้น เพราะยึดโยงไปที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ก็บอกว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนก็จริง แต่ก็บอกว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนใ้ช้ผ่านอำนาจ 3 ฝ่าย มันก็งงตั้งแต่รัฐธรรมนูญแล้ว ว่าจะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่”
นักศึกษา มข. เองยังบอกกับเราว่าเขาหวังว่าสิ่งที่จะทำให้ตุลาการ คือจิตสำนึก
“ผมมองว่าต้องเริ่มที่การปลูกผังจิตสำนึกของเขาเอง อย่างการออกมาเรียกร้องก็เป็นการกดดันเขาส่วนนึง และสิ่งที่สำคัญคืออยากให้เกิดการกระตุ้นจิตสำนึกของเขา เพราะถ้าทำให้มันเป็นอิสระจริงๆ คงต้องเริ่มจากภายใน ความคิดของตุลาการ ที่จะกล้ายึดมั่นหลักการ ไม่รับคำสั่งจากเบื้องบนที่มันไม่ชอบมากขึ้น”
ทั้งในช่วงปีที่ผ่านมา เรายังเห็นการวิพากษ์วิจารณ์ศาลมากมาย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของประชาชน ไม่ว่าจะการทุบศาลพระภูมิ หรือถือป้ายต่างๆ ว่าความเชื่อมั่นที่พวกเขามีต่อกระบวนการยุติธรรมนั้นลดลง
เขาเองก็บอกกับเราว่า “มันทำให้ความเชื่อมั่นในสังคมเกี่ยวกับกระบวนการสั่นคลอน และสิ่งนึงที่มันแสดงออกให้เห็นจริงๆ ก็คือ ก็แสดงว่าระบบตุลาการ และศาลล้มเหลว ไม่ได้อยู่ในความชอบธรรมเหมือนเดิม”
ด้านนิสิต จุฬาฯ ก็บอกเราว่า ก็เป็นสิ่งที่สมควร และรู้สึกดีที่ประชาชนออกมาสะท้อนความเห็นแบบนี้ “เพราะศาลในปัจจุบันไม่ใช่ว่าไม่ฟังเสียงประชาชนเลย เขาก็จะมีแรงจากความกดดันอยู่บ้าง แต่ถ้ากดดันไม่พอ ความหนาของหน้าเขาก็จะไม่ได้ทำให้เขาตัดสินตามที่ควรจะเป็น หรือเจตนารมย์ของประชาชน ดังนั้นถ้าเกิดพูดได้ ก็จะบอกว่ากดดันได้ ก็กดดัน เพราะสุดท้ายศาลก็เป็นคนๆ นึง มีความกดดัน ความเครียด มีการต้องรับสิ่งที่สังคมมอง ดังนั้นก็สมควรที่จะกดดันกันไปแบบนั้น”
‘เป็นเรื่องใหญ่มาก’ นี่คือสิ่งที่ลูกครึ่งรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์บอกกับเรา
“มันเป็นเรื่องใหญ่นะในวงการยุติธรรม เพราะว่าศาลถ้าไม่มีความชอบธรรมในการตัดสินคดี มันก็ไม่สามารถยุติคดีต่างๆ ได้ ถึงแม้เราจะพูดว่า ตัวปัญหาเราตัดสินด้วยตัวบทกฎหมาย แต่ความเชื่อมั่นในตัวศาลก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเหมือนกัน ทำไมศาลต้องทำตัวให้มีความยุติธรรม หรือต้องไม่มีความด่างพร้อย มันก็เป็นเพราะว่าความเชื่อมั่นของคน มีผลต่อการยุติข้อขัดแย้งเหมือนกัน”
แต่ถึงแม้พวกเขาทั้ง 3 คนจะสะท้อนถึงความไม่เห็นด้วย หรือเห็นความเอนเอียงในระบบอย่างไร แต่เมื่อถามถึงอนาคต และความหวังต่อวงการนี้ พวกเขาก็บอกกับเราว่า เขาเชื่อว่ามันจะดีขึ้นได้ รวมถึง นิสิต จุฬาเอง ก็ได้เสนอว่า ต้องกลับไปแก้ไขที่วงการการศึกษานิติศาสตร์ด้วย
“ทุกสิ่งทุกอย่างมันเริ่มที่แวดวงการศึกษานิติศาสตร์ การศึกษานิติศาสตร์ในประเทศไทย มันค่อนข้างจะผิดแผกไปในสิ่งที่ควรจะเป็นในรัฐประชาธิปไตย อย่างน้อยๆ วิชาเกี่ยวกับสิทธิก็ไม่ได้สอน หรือวิชาของมหาวิทยาลัยบางที่เน้นคำตอบมากกว่าเน้นความมีเหตุมีผล ขณะที่บางประเทศในโลกมองว่า คนที่มาเรียนนิติศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ต้องมีปริญญาตรีอีกใบมาก่อน เพื่อให้เขามองโลกได้กว้างขึ้นประมาณนึงมาก่อน แต่ในประเทศไทยกลับทำให้ผู้พิพากษาเป็นเร็วได้ที่สุดคืออายุ 25 ปีก็สามารถจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ ตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ได้ อันนี้ก็ต้องตั้งคำถามกับระบบการศึกษาในไทยว่าสิ่งนี้มันเหมาะสมหรือเปล่า หรือต้องปรับปรุงไปยังไงบ้างในทิศทางใด”
นักศึกษา ม.ขอนแก่นบอกเราว่า ถึงแม้คนจะเห็นอย่างนั้นก็อยากยืนยันว่าอยากให้คนเข้ามาศึกษา ลองมาเรียนจริงๆ เกี่ยวกับตัวกฎหมาย “ถ้าเห็นมันแย่ และอยากแก้ไขก็ต้องศึกษาหลักการที่ถูกต้อง และยืนยันว่าสิ่งที่บิดเบี้ยวอยู่นั้น เป็นที่ตัวคนใช้กฎหมาย มากกว่ากฎหมาย
“ผมเชื่อว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะยังเชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ที่ยังกำลังศึกษา เรียนกฎหมายอยู่ เราเชื่อว่าถ้าเขาเข้าไปในระบบ เขาก็สามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้ ถ้าอยู่ข้างนอกก็ทำหน้าที่กดดัน และยึดมั่นในหลักการ”
นักศึกษาภาคบัณทิต ม.ธรรมศาสตร์ บอกถึงความหวังกับเราเช่นกันว่า “เราคิดว่ากว่าจะไปถึงตรงนั้นมันก็อีกหลายปีมากๆ อีก 10 ปีก็ได้ เราก็มองว่าอีกสิบปีข้างหน้ามันคงมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างแหละ
เพราะทุกวันนี้ โลกมันเปลี่ยนเร็ว สังคมก็เปลี่ยนเร็ว เราก็หวังว่าวันนี้ที่เราจะสอบเข้าไปทำงาน ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปแล้ว และเรายังเชื่อในคนรุ่นใหม่อยู่นะว่าคนรุ่นเรามันจะทำให้สังคมดีขึ้นได้” เธอทิ้งท้าย