“ถ้าคนในครอบครัวมีการศึกษาอยู่ในระดับประถม บุตรหลานก็จะมีการศึกษาอยู่ที่ระดับเดียวกัน น้อยมากที่จะจบสูงกว่าพ่อแม่ และเมื่อได้รับการศึกษาที่ต่ำ รายได้ก็ลดน้อยลงตามไปด้วย กลายเป็นวงจรความยากจนข้ามรุ่น” ธนาคารโลก (World Bank) กล่าว
เมื่อไม่นานมานี้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ออกมากล่าวถึงปัญหาเด็กไทยเริ่มทยอยหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล
ยูเนสโก (UNESCO) ระบุว่า หากประเทศไทยสามารถพาเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาที่ในขณะนี้มีจำนวนมากถึง 1 ล้านคน กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ จะทำให้ผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เติบโตได้ถึงร้อยละ 1.7 ต่อปี
อย่างไรก็ตาม พบว่าเด็กที่อยู่ระหว่างรอยต่อ ม.3 ขึ้น ม.4 หลุดจากระบบการศึกษามากที่สุด อย่างเมื่อปี 2562 มีเด็กยากจนประมาณ 168,307 คน หลังจบ ม.3 แล้วไม่ได้เรียนต่อถึง 33,547 คน หรือคิดเป็น 20%
แล้วทำไมช่วงวัยนี้ถึงหลุดจากระบบมากที่สุด?
กสศ.กล่าวกับเราว่า เนื่องจากการศึกษาภาคบังคับของไทยบังคับถึงแค่ ม.3 เท่านั้น ซึ่งในช่วงระหว่างชั้นประถมศึกษาจนถึง ม.ต้น จะมีเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนจากกระทรวงศึกษาธิการที่เรียกว่า ‘เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน’ ที่ให้คนละ 3,000 บาทต่อปี (หรือตีเป็นเทอมละ 1,500 บาท)
และถ้าอยู่ในเกณฑ์ยากจนพิเศษ หรือ นักเรียนที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ กสศ.จะมีทุนอุดหนุนเพิ่มให้อีกปีละ 3,000 บาท (เทอมละ 1,500 บาท) ดังนั้นเฉลี่ยต่อคนก็มีเงินอุดหนุนรวมแล้วปีละ 6,000 บาท
“แต่พอเด็กเหล่านี้ขึ้น ม.ปลาย จะไม่ได้มีเงินจำนวนนี้แล้ว นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กจำนวนมากไปต่อไม่ไหว กรณีนี้ กสศ.จึงผลักดันข้อเสนอถึงภาครัฐเรื่อยมาว่าควรขยายการให้ทุนอุดหนุนครอบคลุมปฐมวัย และ ม.ปลาย ด้วย
พร้อมระบุอีกเหตุผลว่า การเรียนต่อ ม.4 ทำให้เด็กๆ จำนวนมากต้องย้ายโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนมัธยมมักอยู่ในเขตเมือง ทำให้เด็กๆ ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เช่น ค่าธรรมเนียมการสมัครเรียน ค่าเดินทาง ค่ามอบตัวในการเรียน และค่าครองชีพระหว่างเรียน จึงส่งผลให้เด็กที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลายหลุดออกจากระบบการศึกษามากที่สุด เพราะแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว
ทั้งนี้ กสศ.เสนอวิธีแก้ปัญหาด้วยการให้มีการจัดระเบียบการศึกษาที่ยืดหยุ่น สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และวิถีชีวิต เช่น การส่งเสริมโครงสร้างการพัฒนาฝีมือ ฝึกอาชีพ หรือเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย เพื่อเปิดทางเลือกที่หลากหลายแก่เด็ก นอกจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
รวมถึงในขณะนี้ทางรัฐบาล และ กสศ.ก็กำลังดำเนินโครงการ Thailand Zero Dropout หรือ นโยบายดูแลเด็กและเยาวชนให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด ด้วยการลดภาระงานครูเพื่อให้มีเวลาทุ่มเทกับเด็กทุกคนอย่างเต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงการหลุดจากระบบ และส่งเสริมระบบการศึกษาให้ทันสมัย ไม่ให้ถูกจำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น
อ้างอิงจาก