“เหมือนไทยไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 เลย” ประโยคเชิงคำถามที่ใครหลายๆ คนในทวิตเตอร์ (X) ถกเถียงกัน ว่าทำไมบทบาทของไทยในประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 (ปี 1939-1945) ถึงดูจับต้องยากและไกลตัวเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่องรายละเอียดระดับท้องถิ่น หากเทียบกับประวัติศาสตร์สงครามโลกที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี มีความเห็นมากมายชี้ว่าสาเหตุสำคัญอาจเกิดจากระบบการศึกษาไทย ที่ไม่ให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์มากพอ จนคนไทยรู้สึกไม่ยึดโยงกับช่วงเวลานั้น ยกเว้นกับผู้ที่มีความสนใจเรื่องนี้จริงจังและมีเวลาที่จะดำดิ่งไปกับมัน
ดังนั้น The MATTER จึงพูดคุยกับ ผศ.ดร.พีระ เจริญวัฒนนุกูล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าสาเหตุใดที่ส่งผลให้คนไทยบางส่วนรู้สึกห่างเหินกับประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ไทยมีสถานะ ‘คลุมเครือ’ หลังสงครามยุติ
เดือนธันวาคม 1941 รัฐบาลไทยได้เปลี่ยนจุดยืนจากสถานะเป็นกลาง ไปสู่การเป็นพันธมิตรทางทหารกับญี่ปุ่น ซึ่งสถานการณ์ข้างต้นได้เปลี่ยนบทบาทของไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไปโดยปริยาย และยังกระทบต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์ ในห้วงเวลานั้นของคนไทยด้วยเช่นกัน
อาจารย์พีระ เริ่มเล่าว่า “ทั้งในระหว่างหรือหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สถานะของไทยค่อนข้างแปลกประหลาด เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเราเข้ากับญี่ปุ่น แต่ก็รู้อีกว่าเราจับพลัดจับผลูจนไปเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตร (allied powers) รวมถึงกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ (UN)”
เขาอธิบายลึกลงไปว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ประเทศไทยมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นที่กลับมารับตำแหน่งนี้อีกครั้งคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครั้งแรก ระหว่างปี 1938-1944 และครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1948-1957) ซึ่งความน่าสนใจอยู่ตรงที่การกลับมาของเขา เพราะเขาเปลี่ยนท่าทีมาส่งเสริมนโยบายสันติภาพ เช่น จัดพิธีฉลองวันสหประชาชาติในทุกวันที่ 24 ตุลาคมของทุกปี
อาจารย์ชี้ว่า การกระทำดังกล่าวเหมือนเป็นการบอกให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยรักสันติภาพ และไม่ยินยอมให้สงครามเกิดขึ้นอีก อย่าไปนึกถึงเราเมื่อ 10 ปีก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะช่วงปี 1941 หรือ ปีที่ไทยเข้ากับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา
อาจารย์พีระ กล่าวให้เห็นภาพมากขึ้นด้วยการยกตัวอย่าง ประเทศที่ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้สงคราม อย่างเยอรมนีที่มีสถานะชัดเจนหลังสงครามยุติว่าเป็น ‘ผู้แพ้’ ส่งผลให้การเล่าเรื่องราวในช่วงเวลานั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าไทย หรือรัสเซียที่เป็นฝ่ายชนะสงคราม ก็สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็น ‘ผู้ชนะ’ ฉะนั้น พวกเขาก็สามารถกล่าวถึงบทบาทของตัวเองในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในทุกๆ มิติ ได้อย่างชัดแจ้ง
“ดังนั้น สถานะอันคลุมเครือของไทยที่ไม่ใช่ทั้งผู้แพ้หรือผู้ชนะ รวมถึงท่าทีของรัฐบาลในขณะนั้น ที่ดูไม่ค่อยอยากให้ประชาชนรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ บ้าง อาจกลายเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดการลดทอนการรับรู้ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของคนไทย”
‘ความคลุมเครือ’ นำไปสู่การโรแมนติไซส์ และการเชิดชูตัวบุคคล
“เอกสารต้นฉบับที่เกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ไทยประกาศสงครามกับสหรัฐฯ และอังกฤษผมยังตามหาอยู่เลย” อาจารย์พีระ ระบุ
เขายังเสริมว่า หากลองเปรียบเทียบการเกิดขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในอังกฤษ เราจะเห็นว่า ผู้คนแทบจะศึกษาในทุกมุมแล้ว ตอนนี้แทบไม่เหลือประเด็นให้ศึกษาแล้ว แต่ของไทยนี่นับชิ้นได้เลย ซึ่งกลับมาสู่ประเด็นตั้งต้นที่ว่า
“เพราะนายกรัฐมนตรีที่พาไทยเข้าสงคราม และผูกไทยเข้ากับฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นคนเดียวกัน มันจึงเกิดความพิลึกพิลั่น”
เขาเล่าว่า หลักฐานหลายชิ้นสามารถบ่งบอกได้ว่าท่าทีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทั้งก่อนและหลังสงครามนั้นต่างกัน ทำให้การพูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา นั้นถือเป็นเรื่องที่ยากทั้งในช่วงเวลานั้นจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์พีระ ยกตัวเรื่อง Comfort women หรือ ผู้หญิงหลากหลายเชื้อชาติ ที่ถูกทหารญี่ปุ่นกักขังเพื่อเป็นทาสทางเพศ ถือเป็นประเด็นใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยกเว้นในประเทศไทย โดยเห็นได้จากหลักฐานที่ไทยมีการผลิตนิยายที่สร้างภาพจำที่ดี (romanticize) ให้แก่ทหารญี่ปุ่น ตรงกันข้ามกับหลายๆ ประเทศที่มีมุมมองกับทหารญี่ปุ่นต่างออกไปในอีกรูปแบบหนึ่งเลย
อาจารย์เสริมความเห็นว่า “เพราะสถานะอันคลุมเครือของประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ต่างกับประเทศอื่น เช่น จีน เกาหลี ที่ยืนหยัดว่าพวกเขาโดนกระทำอย่างโหดร้ายจากสงครามนี้
นอกจากนี้ เขายังชวนให้มองลึกลงไปอีกว่า เวลาเราพูดถึง เสรีไทย หรือ ขบวนการที่มีเป้าหมายในการรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนมักจะนึกถึง อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว ขบวนการดังกล่าวยังมีสมาชิกอีกหลายคน ที่ส่วนใหญ่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยม เช่น หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ที่หลังจากสงครามสิ้นสุดลง คนเหล่านี้ก็กลับมามีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมือง
“อาจกล่าวได้ว่าเป็นความลักลั่นของนักวิชาการไทยเหมือนกัน ที่เลือกจะเชิดชู (glorify) และ เลือกที่จะพูดไม่หมด ส่วนใหญ่มักจะพูดถึงเสรีไทยเพียงด้านเดียว ไม่พูดถึงทั้งหมด เหมือนอย่างที่ยกตัวอย่างข้างต้นคือ เสรีไทยมีสมาชิกที่เป็นฝ่ายขวา”
การเมืองเป็นตัวกำหนดว่าประวัติศาสตร์จะไปทางไหน
อาจารย์พีระย้ำสิ่งที่พูดไปข้างต้นว่า การกลับมามีอำนาจอีกครั้งของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม อาจส่งผลต่อการรับรู้ประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ของไทย เพราะถ้าลองนึกถึงฝ่ายที่แพ้สงคราม เช่น เยอรมนี อิตาลี ผู้นำของประเทศเหล่านั้น ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ซึ่งต่างกับบริบทของไทย “เคยเป็นรัฐบาลที่พาประเทศไปผิดที่ พอกลับมาขึ้นสู่ตำแหน่งอีกครั้ง เลยอาจพยายามหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในอดีตหรือเปล่า”
อาจารย์เสริมว่า หากเทียบกับเยอรมนีที่คนภายในชาติยอมรับว่า สงครามดังกล่าวเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ที่พวกเขาจะไม่มีวันยอมให้เกิดขึ้นอีก “พวกเขามีฉันทามติ (consensus) ในระดับหนึ่งแล้วต่อประเด็นนี้ แต่ฉันทามติต่อเรื่องนี้ของไทยยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่า ตกลงแล้วเราแพ้หรือชนะ”
เยอรมนีบังคับให้โรงเรียนสอนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว (holocaust) โดยนาซีในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยจะมีการพูดถึงเรื่องนี้เล็กๆ น้อยๆ ตลอดหลักสูตร และเริ่มสอนอย่างจริงจังตอนมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเมื่อนักเรียนอายุประมาณ 16 ปี รวมถึงครูยังมีพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์หรืออนุสรณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ เพื่อไม่ให้ความทรงจำของเหตุการณ์ในอดีตเช่นนี้หายไปตามกาลเวลา
“สมมติถ้าเราชนะหรือแพ้ไปเลย การเรียบเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ก็อาจจะง่ายขึ้น”
ทั้งนี้ อาจารย์พีระ ระบุว่า ถ้าพูดถึงบทบาทของไทยในสงครามเย็น ทุกคนจะเห็นภาพที่ชัดขึ้น และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ดังกล่าวมากกว่า เนื่องจากไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ขนาดยินยอมให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพในประเทศ ดังนั้น ไทยจึงสามารถยืนยันได้ว่า ในห้วงเวลานี้เราอยู่ข้างโลกเสรีหรือข้างที่ถูกต้อง ซึ่งเรื่องราว (narrative) ค่อนข้างมีความชัดเจน หากเทียบกับสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
นักวิชาการและหลักสูตรไทยต้องเปลี่ยนโฉม
นักวิชาการผู้นี้ บอกว่า “เราต้องดีเบทกัน เราต้องเถียงกันให้ได้ก่อน ไม่ใช่ทึกทักเอาเอง (take for granted) เพราะหลักฐานมันเยอะมากในโลกที่บ่งชี้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งผมพบหลักฐานที่บ่งบอกว่า ในสายตาญี่ปุ่นมองว่า จอมพล ป.ไม่กล้าตัดสินใจเลยว่าควรจะเข้าร่วมกับญี่ปุ่นหรือไม่ จนกระทั่งวันที่ญี่ปุ่นบุกไทย เขาก็ยังไม่ได้ตัดสินใจเลย เนื่องด้วยความกังวลต่อความปลอดภัยของลูกชาย ที่ในตอนนั้นยังอาศัยอยู่ที่ยุโรป
อาจารย์เสริมว่า อยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างจริงจัง และนักวิชาการบางส่วนต้องหยุดเทิดทูน (idolize) ตัวบุคคล เพราะมันไม่ต่างกับการปิดตาไปข้างหนึ่ง มองอย่างไม่เป็นกลาง “สำหรับผมงานวิชาการไม่ควรนำมาเป็นเรื่องของการเมือง (politicize)”
ท้ายที่สุดแล้ว อาจารย์พีระได้พูดถึงวิธีการวิชาประวัติศาสตร์ว่า นักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษา ควรได้รับความรู้ที่เกี่ยวกับข้อเท็จจริงพื้นฐานก่อน (fundamental fact) ก่อน เช่น ญี่ปุ่นบุกไทย, จอมพลป.เข้าร่วมกับญี่ปุ่น หรือ ไทยส่งทหารไปเชียงตุงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และค่อยตามด้วยการสอนที่ทำให้เกิดการวิเคราะห์และถกเถียงกันในห้องเรียน
“ไทยเอาประวัติศาสตร์มาเล่นการเมืองเยอะไป จนสูญเสียความเป็นวิชาการที่ต้องถกเถียงกันไป นอกจากนี้ บ่อยครั้งยังเอามิติการเมืองปัจจุบันไปตัดสินประวัติศาสตร์ยุคนั้นอีกด้วย ทำให้เกิดความตีความผิดที่เพี้ยนไปหมด” อาจารย์พีระ ระบุ