วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายนนี้ เป็นวันครบรอบ 6 เดือน ของสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตแล้วมากกว่า 32,000 ราย และมีตัวประกันหลายคนที่ยังคงถูกควบคุมตัวในฉนวนกาซา ขณะที่สงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ
วันนี้เราจะมาอธิบายสถานการณ์ทั้งหมดให้ฟังว่าในสงครามนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง และจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน จุดเปลี่ยนจุดสำคัญคือเดือนตุลาคม ที่กลุ่มฮามาสได้บุกเข้าโจมตีอิสราเอล หลังจากนั้น อิสราเอลได้ประกาศทำสงครามและยืนหยัดที่จะกำราบกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก
แต่เมื่อสงครามดำเนินไปได้สักระยะ อิสราเอลก็พบว่าตัวเองอยู่ในสถานะที่แตกต่างออกไปจากเดิมมาก อีกทั้งมีตัวประกันที่ยังคงติดอยู่ในฉนวนกาซา การโจมตีกันไป-มาที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ และความคิดเห็นที่แตกแยกในประเทศ และแน่นอนว่าในระดับชาติก็เริ่มจะไม่เห็นด้วยเช่นกัน อิสราเอลเริ่มมีความขัดแย้งกับพันธมิตรที่ใกล้ชิดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ความเสี่ยงของสงครามในภูมิภาคนั้นกระจายตัวมากขึ้น
ทางด้านของกลุ่มฮามาสเอง แม้จะโดนอิสราเอลโจมตีอย่างดุเดือดอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ยังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ แม้กำลังจะอ่อนลงอย่างมากก็ตาม ทว่าการโจมตีในเดือนตุลาคมผลักให้ฉนวนกาซาเข้าสู่วิกฤตด้านมนุษยธรรมอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ประชากรมากกว่า 80% ต้องพลัดถิ่น และทำให้ผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนอยู่ในภาวะอดอยาก
ถึงอย่างนั้น หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่า อิสราเอลก็ยังไม่ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ ‘หลังสงคราม’ ที่เหล่าพันธมิตรของตัวเองจะยอมรับได้ และการเจรจาเรื่อง ‘หยุดยิง’ ก็ยังคงถูกทิ้งไว้อยู่อย่างนั้น
แตกความสามัคคี
อิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากหลายชาติ จากเหตุการณ์ถูกโจมตีในเดือนตุลาคม แต่การสนับสนุนเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยความขุ่นเคือง เนื่องจากการรุกโต้กลับอย่างหนักหน่วงทำให้สถานการณ์ในฉนวนกาซานั้นเลวร้ายลงเรื่อยๆ
สำนักข่าว AP รายงานว่า ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฝั่งพันธมิตรของตน ได้เดินมาถึงจุดเปลี่ยนในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา เมื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติเรียกร้องให้หยุดยิงในทันที ซึ่งอิสราเอลคันค้านมติดังกล่าว และสหรัฐฯ ก็สร้างความขุ่นเคืองให้อิสราเอลมากขึ้นโดยการปล่อยให้มตินั้นผ่านไป
ตัดภาพมาที่ภายในอิสราเอลเอง ก็เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลเป็นเวลากว่าสัปดาห์ และมีผู้คนมาเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งแต่ละคนมีความคับข้องใจต่อ นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล มานานแล้วตั้งแต่การเป็นพันธมิตรทางการเมืองของเขากับพรรคการเมืองฝ่ายขวา ไปจนถึงการพิจารณาคดีทุจริตแบบปลายเปิด นอกจากนี้ยังมีความล้มเหลวของเขาในการนำตัวประกันกลับบ้าน ซึ่งยังมีตัวประกันอีกกว่า 134 รายที่ยังอยู่ในฉนวนกาซา ขณะที่อิสราเอลเองก็ประกาศว่าตัวประกันเสียชีวิตแล้วมากกว่า 30 รายและมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจริงๆ อาจสูงมากกว่านั้นหากยังคงถูกควบคุมตัวนานขึ้นเรื่อยๆ
เราเข้าใกล้การหยุดยิง-หยุดสู้แบบจริงๆ มากแค่ไหน?
การเจรจาหยุดยิงติดขัดไปด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะอิสราเอลต้องการกำจัดวิธีที่ทำให้กลุ่มฮามาสรวมกลุ่มกันใหม่ในช่วงที่หยุดยิงชั่วคราว ขณะที่กลุ่มฮามาสเองก็ใช้การหยุดยิงนี้จัดระเบียบภาคพื้นดินใหม่เช่นกัน
หลังจากที่การเจรจาหยุดชะงัก อิสราเอลก็วางแผนโจมตี ‘ราฟาห์’ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญแห่งสุดท้ายของฮามาส แต่ก็เกิดความล่าช้าและพยายามขอการสนับสนุนจากนานาชาติสำหรับปฏิบัติการนั้น
ในฉนวนกาซา กลุ่มฮามาสส่วนใหญ่ถูกโจมตีแต่ก็เกิดสุญญากาศทางอำนาจ เนื่องจากอิสราเอลถอนตัวออกจากพื้นที่โดยที่ยังไม่ได้โอนอำนาจปกครองไปยังกลุ่มชาวปาเลสไตน์อื่นๆ ท่ามกลางความขัดแย้งที่ว่าใครควรบริหารฉนวนกาซาหลังสงคราม ส่งผลให้สงครามชะลอตัวในช่วงต้นปี แต่ถึงอย่างนั้นสงครามก็ยังคงดำเนินต่อไป
ทั้งสองฝ่ายต้องการอะไร?
มีบทวิเคราะห์ว่า เป้าหมายของอิสราเอลคือการกำจัดกลุ่มฮามาสออกจากพื้นที่โดยสิ้นเชิง แต่กลุ่มฮามาสเพียงต้องการ ‘อยู่ให้รอด’ ดังนั้นไม่ว่าฮามาสจะเผชิญกับความสูญเสียในสนามรบแค่ไหน แต่ฮามาสก็ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ แปลว่าชัยชนะของอิสราเอลนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นชัยชนะโดยสิ้นเชิง
เพื่อการปล่อยตัวประกันทั้งหมดในฉนวนกาซา อิสราเอลอาจต้องหยุดยิงถาวรเพื่อให้ฮามาสปล่อยตัวทั้งหมด แต่มันก็จะเป็นอันตรายต่อฮามาสในการปรากฎตัวในฉนวนกาซาระยะยาว ซึ่งผู้นำฮามาสน่าจะไม่เสี่ยงทำข้อตกลง
จริงอยู่ที่อิสราเอลและฮามาสเคยต่อสู้กันหลายครั้งในอดีต แต่เพราะอะไรสงครามครั้งนี้จึงรุนแรงกว่าทุกครั้ง?
ที่ชาวปาเลสไตน์มีผู้สนับสนุนมากขึ้น ก็เป็นผลมาจากอิสราเอลที่ไม่คำนึงถึงชีวิตพลเรือนในการโจมตีแต่ละครั้ง และการจัดลำดับความสำคัญที่มุ่งจะกำจัดกลุ่มฮามาสมากกว่ากังวลถึงชีวิตมนุษย์ และทรัพย์สินของพลเรือน
ส่วนผู้ที่สนับสนุนอิสราเอลมองว่าความเสียหายและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก เป็นผลมาจากการที่กลุ่มฮามาสฝังตัวอยู่ในพื้นที่ของพลเรือน ทั้งในบ้าน และอุโมงค์ใต้ดิน จะเห็นได้ว่าการตอบรับของอิสราเอลต่อการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานั้นแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง คือการที่อิสราเอลพยายามทำลายล้างฮามาสแทนที่จะคืนสภาพเดิมภายในเวลาไม่กี่เดือน ดังเช่นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในครั้งก่อนๆ ซึ่งนั่นเป็นเหตุที่ทำให้สงครามยืดเยื้อและสร้างความเสียหายมากขึ้น
ไม่มีนโยบายหลังสงคราม
เนทันยาฮูได้นำเสนอวิสัยทัศน์ที่คลุมเครือที่ว่าให้อิสราเอลควบคุมดินแดนฉนวนกาซา โดยมีพันธมิตรชาวปาเลสไตน์ในท้องถิ่นบริหารจัดการ อิสราเอลหวังว่าจะมีการฟื้นฟูโดยได้รับทุนสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ รวมถึงรัฐอ่าวอาหรับที่ร่ำรวยด้วย
อย่างไรก็ตาม แผนเหล่านี้ขัดแย้งกับวิสัยทัศน์ที่สหรัฐฯ พันธมิตรระหว่างประเทศอื่นๆ และชาวปาเลสไตน์จะส่งเสริม ก่อนหน้านี้ สหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการคืนอำนาจให้ทางการปาเลสไตน์ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ซึ่งถูกกลุ่มฮามาสโค่นล้มออกจากฉนวนกาซาในปี 2007 และขอให้สถาปนารัฐปาเลสไตน์ให้เป็นอิสระในเขตเวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา
อีก 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เหมือนว่าเราจะได้เห็นข้อตกลงที่ยิ่งใหญ่บางอย่างในการยุติสงครามนี้ และอาจถึงขั้นเห็นความคืบหน้าในความพยายามที่กว้างขึ้นในการยุติความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์
บทวิเคราะห์จาก The New York Times ประเมินว่า การแก้ปัญหาแบบ ‘ระยะสั้น’ เป็นไปได้มากที่สุด เนื่องจากการเจรจาจะยังคงหยุดชะงักเช่นนี้ต่อไป อิสราเอลก็จะยังคงเลื่อนการบุกราฟาห์ หรือเปลี่ยนผ่านอำนาจในที่อื่นๆ ในฉนวนกาซา ส่วนกลุ่มฮามาสก็จะยังคุมราฟาห์ต่อไป และพยายามรวมกลุ่มใหม่ไปอยู่ที่อื่น ซึ่งจะทำให้อิสราเอลเข้ามาคุมพื้นที่ที่ถูกทิ้งว่างเปล่าไว้อยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้มันอาจทำให้เกิดเป็นทางตันที่ค่อยๆ สุมไฟมากขึ้นเรื่อยๆ อาจไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าชาวอิสราเอลและชาวปาเลสไตน์จะยังติดอยู่ในภาวะหยุดนิ่งที่มีความอันตรายถึงชีวิต แม้จะผ่านไปเป็นปีก็ตาม
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2024/04/04/world/asia/israel-hamas-anniversary-korea-asia.html
https://www.britannica.com/news/2235848/327bfeb7bfce5cb0de1568bf41a0ff06
https://www.washingtonpost.com/world/2023/10/17/israel-hamas-war-reason-explained-gaza/
https://www.bbc.com/news/newsbeat-44124396
https://apnews.com/hub/israel-hamas-war