‘รับรองเพศสภาพกี่โมง?’
หลังวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ผ่านร่าง ‘สมรสเท่าเทียม’ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา ประชาชนส่วนหนึ่งก็เริ่มกลับมาพูดถึงร่างกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ
หนึ่งในนั้นคือ ‘สิทธิการรับรองเพศสภาพ’ ผ่านการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายตามร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการรับรองเพศสภาพ และการเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพ
ร่างกฎหมายนี้คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นข้อเรียกร้อง ประเทศไทยจะได้ผ่านใช้จนเป็นกฎหมายจริงหรือไม่? The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจให้มากยิ่งขึ้นกัน
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่า มิติของ ‘เพศ’ นั้นมีความหลากหลายและละเอียดอ่อน แบ่งเป็น เพศกำเนิด คือเพศที่ถูกระบุตามอวัยวะเพศเมื่อตอนกำเนิดขึ้น เพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ คือเพศที่แต่ละคนนิยามตัวเอง และรสนิยมทางเพศ คือการมีความรู้สึกต่อแรงดึดดูดทางเพศต่อชาย หญิง หรืออื่นๆ
สำหรับผู้ที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด ร่างกฎหมายนี้จะเข้ามาช่วยให้คนเหล่านี้ได้รับการยอมรับและเคารพในเพศสภาพผ่านกฎหมาย เนื่องจากที่ผ่านมา คนที่มีเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิดต้องเผชิญกับการไม่ถูกยอมรับ โดยเฉพาะคนข้ามเพศ ที่ยังเผชิญกับปัญหาทางราชการ เช่น เมื่อไปต่างประเทศแล้วพบว่ามีคำนำหน้าเป็นนาย แต่ภายนอกเป็นผู้หญิง ก็อาจมีปัญหาในการเข้าประเทศได้
ตัวอย่างรายละเอียดจาก ร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศฯ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ที่ถูกปัดตกไปเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567
– ให้บุคคลข้ามเพศหรือบุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ มีสิทธิขอให้มีการรับรองเพศตามเจตจำนงอัตลักษณ์ทางเพศของตน
– ให้บุคคลข้ามเพศมีสิทธิขอให้รับรองว่าเป็นเพศหญิงหรือเป็นเพศชายตามอัตลักษณ์ทางเพศหรือตามเพศสภาพของตนอันต่างจากเพศกำเนิด
– ให้บุคคลผู้มีความหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศมีสิทธิใช้คำนำหน้านามและการขอให้ระบุเพศของตนที่ไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง โดยให้แบ่งเพศสภาพเป็น 3 แบบ คือ เพศสภาพชาย ใช้ ‘นาย’ เพศสภาพหญิง ใช้ ‘นางสาว’ และเพศสภาพหลากหลาย ใช้ ‘นาม’ โดยสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ในเอกสารราชการต่างๆ เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน สูติบัตร และใบขับขี่
ทั้งนี้ คนที่จะมีสิทธิขอให้รับรองเพศและเปลี่ยนคำนำหน้าได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และไม่เคยเป็นผู้ต้องหา จำเลย หรือกำลังต้องโทษจำคุกคดีเกี่ยวกับเพศและการค้ามนุษย์ นอกจากนั้น ในร่างฯ ของพรรคก้าวไกลระบุว่า ถ้ามีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และต้องการขอรับรองเพศจะต้องแนบเอกสารรับรองจากจิตแพทย์ และเอกสารยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
เมื่อประเด็นข้อเรียกร้องนี้กลับมาถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดียอีกครั้ง ทำให้คนแสดงความคิดเห็นไปหลากหลาย ฝั่งหนึ่งเห็นด้วยว่าเป็นสิทธิที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศควรได้รับ เพื่อรับรองอัตลักษณ์ตัวตนของตนเอง ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งมีข้อกังวล เช่น ปัญหาด้านการมีความสัมพันธ์ หรือการเข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับเพศ ซึ่งก็มีแพทย์ส่วนหนึ่งออกมาให้ความเห็นว่าในกระบวนการรักษาจะไมไ่ด้ดูจากคำนำหน้าอยู่แล้ว แต่ดูจากร่างกายและการซักประวัติ
การรับรองเพศสภาพและเปลี่ยนคำนำหน้านามนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในต่างประเทศ ก็มีประเทศส่วนหนึ่งที่รับรองสิทธิเหล่านี้แล้ว เช่น ในสหรัฐฯ ให้เลือกระบุเพศสภาพ M (ชาย) F (หญิง) X (เพศกลาง/ไม่ระบุเพศ) ในหนังสือเดินทาง (พาร์สปอร์ต) ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีใบรับรองแพทย์
แล้วกฎหมายนี้จะเป็นไปได้จริงหรือเปล่า? แม้ก่อนหน้านี้ ร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศฯ ของพรรคก้าวไกลจะถูกปัดตกด้วยมติเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย เพราะยังมีข้อกังวลหลายประการ
อย่างไรก็ดี ยังมีร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ ที่มีใจความพูดถึงเรื่องการรับรองเพศเช่นกัน แต่ยังไม่มีกำหนดเข้าพิจารณาในสภาฯ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการรับรองเพศ พ.ศ. …. โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT) ซึ่งภาคประชาชนเป็นผู้ร่างขึ้น
หลังจากนี้จึงต้องติดตามต่อไปว่าร่างกฎหมายนี้จะได้เข้าสู่สภาฯ เมื่อไร และความคิดเห็นจากคนในสังคมจะเป็นอย่างไร เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ทุกคน ทุกเพศ ได้รับสิทธิที่พึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจาก