นางแบบหญิงข้ามเพศที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของจอร์เจียถูกฆ่าตายที่บ้านของเธอ เพียง 1 วันหลังจากรัฐสภาผ่านร่างกฎหมายต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ จนถูกมองว่า นี่อาจเป็นเชื้อเพลิงสู่อาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ที่จะเกิดต่อคนชนกลุ่มน้อยต่อไปได้
กระทรวงมหาดไทยของจอร์เจียแถลง เคซาเรีย อับรามิดเซ (Kesaria Abramidze) นางแบบหญิงข้ามเพศวัย 37 ปี ถูกแทงเสียชีวิตในอพาร์ตเมนต์ของเธอที่ชานเมืองทบิลิซีเมื่อวันพุธ (18 กันยายน 2024) ที่ผ่านมา ต่อมา สื่อของจอร์เจียรายงานว่ามีการจับกุมชายวัย 26 ปีแล้ว โดยสื่อระบุว่าเขามีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมดังกล่าว
อับรามิดเซ เป็นหนึ่งในบุคคลสาธารณะที่เป็นเปิดเผยตนว่าเป็นคนข้ามเพศคนแรกๆ ของประเทศ และตัวแทนของจอร์เจียในการประกวด Miss Trans Star INternational ในปี 2018 มีผู้ติดตามบนอินสตาแกรมมากกว่า 500,000 คน
การเสียชีวิตของเธอเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐสภาผ่านร่างกฎหมายที่เรียกว่า ‘กฎหมายค่านิยมของครอบครัว และการปกป้องผู้เยาว์’
กฎหมายดังกล่าว อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ประกาศห้ามจัดงานไพรด์ เซ็นเซอร์ภาพยนตร์และหนังสือเกี่ยวกับเพศหลากหลาย รวมถึงการห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกัน ห้ามกระบวนการทางการแพทย์เพื่อยืนยันเพศสภาพ ห้ามการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมโดยคู่รักเพศเดียวกัน และห้ามการส่งเสริมความสัมพันธ์ของเพศเดียวกันในโรงเรียน
ร่างกฎหมายได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาจอร์เจียในวันอังคารที่ผ่านมา ในวาระที่ 3 และวาระสุดท้าย ด้วยคะแนนเสียง 84-0 แม้จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอย่างหนักก็ตาม
พรรครัฐบาลกล่าวว่า ร่างกฎหมายนี้ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องชาวจอร์เจียส่วนใหญ่ที่ต้องการการคุ้มครองจาก ‘โฆษณาชวนเชื่อของกลุ่ม LGBTQ+’
นักวิจารณ์โต้แย้งถึงร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนำเสนอโดยพรรค Georgian Dream พรรครัฐบาล ว่า เป็นการสะท้อนกับกฎหมายที่ประกาศใช้ในรัสเซียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรัสเซียก็บังคับใช้มาตรการหลายชุดที่ต่อต้าน และกดขี่ข่มเหง LGBTQ+ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
แม้ว่าแรงจูงใจเบื้องหลังการฆาตกรรมของอับรามิดเซจะยังไม่ชัดเจน แต่การเสียชีวิตของเธอถูกสังคมพลเมืองของจอร์เจียนำไปโยงอย่างรวดเร็ว ว่านี่เป็นผลลัพธ์ของแคมเปญของภาครัฐในการจัดการชนกลุ่มน้อยในประเทศ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ภายใต้การนำของพรรค Georgian Dream ซึ่งมีจุดยืนต่อต้านเสรีนิยม
เมื่อปี 2023 กลุ่มต่อต้านสิทธิเกย์หลายร้อยคนบุกงานเทศกาล LGBTQ+ ในทบิลิซี จนต้องยกเลิกงานดังกล่าว และในปีนี้ยัมีผู้คนนับหมื่นคนร่วมเดินขบวนในเมืองหลวง เพื่อส่งเสริม ‘ค่านิยมครอบครัวแบบดั้งเดิม’ ซึ่งในงานที่มีพรรครัฐบาลและคริสตจักรออร์โธดอกซ์ที่อนุรักษ์นิยมและมีอิทธิพลเข้าร่วมเดินอีกด้วย
“ความเกลียดกลัวคนรักร่วมเพศ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศในทางการเมือง ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของวาทกรรมและอุดมการณ์อย่างเป็นทางการของรัฐบาล” ศูนย์ความยุติธรรมทางสังคม กลุ่มสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นกล่าว “การสังหารเคซาเรีย อับรามิดเซ ไม่สามารถมองแยกออกจากบริบทอันน่าสยดสยองโดยรวมนี้ได้” ทั้งยังระบุเพิ่มเติมถึงจุดยืนของพรรครัฐบาล ที่ใช้ ‘โฆษณาชวนเชื่อ’ ให้คนเกลียดกลัวเพศหลากหลายเช่นกัน
ด้านประธานาธิบดีซาโลเม ซูราบิชวิลี (Salome Zourabichvili) ก็คัดค้านกฎหมายฉบับใหม่เช่นกัน ระบุว่า การฆาตกรรมอันน่าสยดสยองนี้ได้ตั้งคำถามต่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติ คนจึงคาดว่าเธอจะใช้สิทธิยับยั้ง (veto) กฎหมายดังกล่าวก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม พรรค Georgian Dream และพันธมิตรก็มีที่นั่งในรัฐสภาเพียงพอที่จะล้มล้างสิทธิยับยั้งของเธอได้อยู่ดี
ไม่เพียงแต่กระแสในประเทศ แต่ผู้คนในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปก็ได้ออกมาแสดงความเห็นต่อกรณีดังกล่าว
โจเซป บอร์เรลล์ (Josep Borrell) นักการทูตระดับสูงของสหภาพยุโรป กล่าวบน X ส่วนตัว เรียกร้องให้รัฐบาลจอร์เจียถอนกฎหมาย งค่านิยมของครอบครัวง โดยเตือนว่าจะส่งผลกระทบต่อโอกาสที่จอร์เจียจะเข้าร่วมสหภาพยุโรป เพราะเป็นการเพิ่มการเลือกปฏิบัติและการตีตรา
ด้าน ไมเคิล ร็อธ (Michael Roth) ประธานพรรคสังคมประชาธิปไตยของคณะกรรมการกิจการต่างประเทศ Bundestag ในเยอรมนี กล่าวว่า “ผู้ที่หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชัง สิ่งที่จะได้เก็บเกี่ยวก็คือความรุนแรง” โดยร็อธเขียนบน X ว่าอับรามิดเซถูกสังหารเพียงหนึ่งวันหลังจากรัฐสภาจอร์เจียผ่านกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ นี่จึงอาจเป็นเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อกันและกัน
แต่เรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นแค่เรื่องภายในประเทศ หรือแค่วาทกรรมต่อต้านเพศหลากหลายเท่านั้น
กลุ่มสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ฎหมายของจอร์เจียมีความคล้ายคลึงกับกฎหมายของรัสเซียที่จำกัดสิทธิของกลุ่มเพศหลาย อย่างรุนแรง ในขณะที่กลุ่มวิจัย Freedom House ในกรุงวอชิงตันกล่าวว่าร่างกฎหมายนี้ แทบจะ “ดึงมาโดยตรงจากตำราเผด็จการของเครมลิน”
เนื่องจากการเสนอกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเพียง 5 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งรัฐสภา หลายคนจึงมองว่านี่เป็นการทดสอบว่าจอร์เจีย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นรัฐอดีตสหภาพโซเวียตที่สนับสนุนตะวันตกมากที่สุด ว่าจะหันเข้าหารัสเซียหรือไม่
อ้างอิงจาก