แม้กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะผ่านแล้ว แต่ในสังคมไทยยังคงเกิดบรรยากาศการยึดเพศภายใต้กรอบสองเพศ (ชาย-หญิง) อยู่ เนื่องจากผู้คนยังไม่สามารถกำหนดคำนำหน้านาม เพศ เครื่องหมายระบุเพศสภาพ ในเอกสารราชการตามที่ตัวเองต้องการได้ ทำให้กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศจำนวนมาก ต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ การกีดกัน และการตีตราจากสังคม
เช่นกรณีของ วรพงศ์ พานิชกุล ผู้ที่นิยามตัวเองว่าเป็นทรานส์แมน ที่ออกมาเล่าประสบการณ์กับทาง BBC Thai ว่า ถูกสายการบินหนึ่ง ปฏิเสธการออกตั๋วให้เดินทางออกจากไทย เพียงเพราะคำหน้าชื่อ ที่ยังเป็นนางสาว หรือกรณีที่มักถูกหยิบมาเล่าขานบ่อยครั้ง คือ การถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ในต่างประเทศ เพราะมีเพศสภาพไม่ตรงกับคำนำหน้านามในพาสปอร์ต
ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) เคยกล่าวถึงผลกระทบจากการไม่มี พ.ร.บ.รับรองเพศฯ ว่า คนที่ข้ามเพศ ไม่สามารถจะไปในบางประเทศได้ เพราะถูกตั้งคำถามเรื่องรูปลักษณ์และคำนำหน้านาม นอกจากนี้ ยังถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนในเรื่องอื่นๆ อีก เช่น ไปยื่นเอกสารในหน่วยราชการ การทำบัตรประชาชน
“ความสำคัญ ของ พ.ร.บ.รับรองเพศจะช่วยลดการเลือกปฏิบัติในส่วนที่เป็นกฎหมายได้ อาจจะไม่ทั้งหมด เพราะว่าการเลือกปฏิบัติมาจากความเกลียด ความไม่เข้าใจลักษณะของคน แต่กฎหมายช่วยปลดล็อกให้คนข้ามเพศ อินเตอร์เซ็กส์ และ นอนไบนารี ได้รับสิทธิที่พึ่งมี” ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยฯ กล่าว
เส้นทางการผลักดันกฎหมายรับรองเพศ
ที่ผ่านมา ภาคประชาชน หน่วยงานรัฐ ผู้แทนราษฎร ต่างผลักดันร่างกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศและคำนำหน้านาม อย่างน้อย 4 ฉบับด้วยกัน
- ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ หรือ GEN-ACT โดยภาคประชาชน อยู่ระหว่างกลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยต้องรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ครบ 10,000 รายชื่อก่อน iLaw รายงานว่าร่างฉบับประชาชนนี้มีหลักการเดียวกับร่างอื่นๆ คือให้บุคคลกำหนดคำนำหน้าและเพศตามใจตนเองได้ โดยให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เลือกเพศได้
- ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไปเรียบร้อยแล้ว
- ร่าง พ.ร.บ.รับรองการกำหนดเจตจำนงในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ โดย นาดา ไชยจิตต์ และองค์กร Intersex Thailand อยู่ระหว่างกระบวนการรวบรวมรายชื่อ อย่างน้อย 10,000 คน เพื่อเสนอกฎหมาย
- ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดย สส.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ได้ถูกสภาฯ โหวตคว่ำไปเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งผลการลงมติ เห็นด้วย 154 เสียง และไม่เห็นด้วย 257 เสียง

cr.ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ – Tunyawaj Kamolwongwat/Facebook
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุในขณะนั้นว่า หากเราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้างสังคมใหม่ จำเป็นต้องคืนเจตจำนงเรื่องของการระบุเพศให้กับพวกเขา เรื่องเพศเป็นเรื่องสำนึกภายในที่จะบอกตนเองได้ว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากจะดำเนินชีวิตอย่างไร ทั้งวิถีและการแสดงออก
โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ Self-determination หรือการกำหนดเพศด้วยตัวเอง นี่คือจุดเริ่มที่เราจะเปลี่ยนแปลงการประกอบสร้าง และมีอีกหลายก้าวสำคัญที่ต้องผลักดัน เพื่อให้สังคมได้โอบรับกับความหลากหลาย เพราะเพศมีคำอธิบายมากกว่าเรื่องของร่างกายและกายภาพ
“การที่บุคคลหนึ่งรับรู้ต่อตนเองว่าคือใคร และเป็นเพศอะไร ซึ่งจะสอดคล้องกับสิ่งที่สังคมกำหนดหรือไม่ก็ได้ หมายรวมถึงการแสดงออกทางเพศด้วย ทำให้เราจำเป็นต้องออกกฎหมาย ที่คำนึงถึงเรื่องของอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ใช่แค่เพศสภาพทางเพศเท่านั้น” ธัญวัจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ร่างกฎหมายข้างต้นจะถูกปัดตกไป แต่ขณะนี้ทางพรรคประชาชนกำลังรวบรวม และจัดทำร่างฉบับใหม่เพื่อเสนออีกครั้งต่อไป พร้อมกันนั้น ร่าง พ.ร.บ.จากภาคประชาชนในนามกลุ่ม Intersex Thailand ที่มีเป้าหมายเพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัติ รับรองการกำหนดเจตจำนงในอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพ และคุณลักษณะทางเพศของบุคคล ก็กำลังรวบรวมรายชื่ออยู่ในขณะนี้
พ.ร.บ.รับรองเพศฯ ความหวัง ‘เปลี่ยนคำหน้านาม’
ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ ฉบับประชาชนดังกล่าว ที่กำลังรวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 10,000 รายชื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร กำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถยื่นคำร้องรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ เพื่อเปลี่ยนแปลงเพศ (Sex) เครื่องหมายระบุเพศสภาพ (Gender Remark)
เช่น คำหรือเครื่องหมาย ที่บุคคลถูกบันทึกว่ามีเพศ คำนำหน้าในระบบปฏิวัติทะเบียนราษฎร และในเอกสารทะเบียนราษฎรต่างๆ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน พาสปอร์ต อาทิ เปลี่ยนจาก ‘นาย เป็น นางสาว’ หรือ ‘นาย เป็น นาม (เพศสภาพนอกระบบสองเพศ)’
การยื่นคำร้อง สามารถยื่นต่อนายทะเบียนที่สำนักงานเขต 50 แห่งในกรุงเทพมหานคร สำนักทะเบียนจังหวัด สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น เช่น เทศบาล หรือจะยื่นคำร้องให้ศาลมีคำสั่งได้ กรณีที่เป็นคนสัญชาติไทย แต่นอกประเทศสามารถยื่นคำร้องต่อกงสุลไทย หรือสถานทูตไทยในต่างประเทศได้ ส่วนเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาก่อน
ไม่ใช่แค่เปลี่ยนคำนำหน้านาม แต่ยังแก้ไขคำระบุเพศ
ตามเนื้อหาในร่างกฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ผู้ยื่นคำร้องขอรับรองเพศ สามารถยื่นขอจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ โดยสามารถระบุเพศตามความประสงค์ของตนได้ 3 ประเภท
- เพศชาย (Male/M)
- เพศหญิง (Female/F)
- เพศสภาพนอกระบบสองเพศ (X)
ทั้งนี้ เพศ เครื่องหมายระบุเพศสภาพ คำนำหน้านาม ที่จะยื่นคำร้องให้แก้ไขจะต้องไม่ใช่เพศเดิมที่ระบุอยู่ในระเบียบราษฎรปัจจุบัน โดยบุคคลที่ระบุเพศสภาพนอกระบบสองเพศ (X) มีสิทธิใช้คำนำหน้านามบุคคลว่า ‘นาม’
สำหรับกรณีเด็กที่เกิดมามีเพศสภาพหลากหลายโดยธรรมชาติ (Intersex) ผู้ปกครองหรือบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถบังคับหรือแทรกแซงทางการแพทย์ใดๆ ต่อเด็กที่เป็น Intersex ได้จนกว่าเด็กจะสามารถยินยอมด้วยตนเอง ห้ามผ่าตัดเลือกเพศเด็ก เว้นแต่เด็กยินยอมหรือเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต
ประเทศที่ให้สิทธิเลือก ‘เพศ-คำนำหน้านาม’ ในเอกสารราชการ
รายงานข่าวจาก BBC Thai อ้างอิงถึง แผนที่แสดงสิทธิของคนข้ามเพศ (Trans Rights Map) ประจำปี 2023 ที่จัดทำโดยกลุ่มคนข้ามเพศแห่งยุโรป (Transgender Europe : TGEU) พบว่า มีอย่างน้อย 9 ประเทศในทวีปยุโรปที่บังคับใช้กฎหมายว่าด้วย ‘การตัดสินใจด้วยตัวเอง (Self-determination)’ ทั้งนี้ มีเงื่อนไขตามกฎหมายว่า การเปลี่ยนชื่อและเพศตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องมีหน่วยงาน หรือบุคคลที่สามผู้เชี่ยวชาญ เช่น ผู้พิพากษา จิตแพทย์ เข้ามาช่วยรับรองแต่อย่างใด เพราะทุกอย่างสามารถเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ที่ต้องการยื่นเรื่องเท่านั้น
คณาสิต พ่วงอำไพ นอนไบนารีที่ขับเคลื่อน และเรียกร้องสิทธิต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับคำนำหน้านามกับ The MATTER ว่า ในบางประเทศการจะเปลี่ยนคำนำหน้าได้ต้องได้รับการยินยอมโดยแพทย์ก่อน ซึ่งประเทศที่ถือเป็นโรลโมเดลที่ดีที่สุดของภาคประชาสังคมไทยในการทำร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ คือ ประเทศอาร์เจนตินาและมอลตา
เพราะ 2 ประเทศนี้มีหลักการที่สำคัญ คือ อัตลักษณ์ทางเพศสภาพเป็นเจตจำนงเสรี หรือเป็นสิทธิมนุษยชนในการนิยามตนเอง ดังนั้น ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลว่าด้วยเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศสภาพว่า ทุกคนมีสิทธิในการนิยามตัวเองและยังต้องได้รับการเคารพ ซึ่งหลักการนี้สอดคล้องกับองค์กรอนามัยโลก (WHO)
คณาสิตยังเสนอทางแก้ปัญหาในกรณีของเม็กซิโกว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2021 สมาคมแพทย์อเมริกัน (american medical association) ให้ข้อเสนอแนะว่า จริงๆ แล้วในสูติบัตรเราไม่ควรระบุเพศที่ถูกกำหนดตอนเกิดเอาไว้ในส่วนที่มองเห็นได้ แต่ควรจะระบุเอาไว้ให้แค่แพทย์เข้าถึงได้เท่านั้น และเปลี่ยนเป็นการระบุเพศสภาพลงไปแทน
“สมมุติในประเทศไทย อาจจะเปลี่ยนสูติบัตรให้มีคิวอาร์โค้ดที่แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลเพศกำเนิดของเราได้เท่านั้น หรืออย่างในบัตรประชาชนที่ไม่ได้มีการระบุเพศอยู่แล้ว แต่มีการระบุคำนำหน้า ก็ให้มีกฎหมายให้เปลี่ยนคำนำหน้าตามสมัครใจ แต่อาจจะต้องเพิ่มวิธีที่ระบุข้อมูลทางชีวภาพของเราเอาไว้”
ซึ่งเราเห็นด้วยกับสมาคมแพทย์อเมริกัน เพราะการระบุเพศกำเนิดในสูติบัตรมันสร้างการเลือกปฏิบัติให้แก่คนข้ามเพศ นอนไบนารี และอินเตอร์เซ็กซ์ เพราะมันถือเป็นข้อมูลสาธารณะ”
คณาสิตกล่าวปิดท้ายว่า ควรเปลี่ยนคำว่า ‘เพศกำเนิด (sex)’ ในเอกสารราชการต่างๆ ให้เป็น ‘เพศสภาพ (gender)’ แทน และให้เพศกำเนิดเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เป็นข้อมูลที่มีอยู่เพื่อการแพทย์เท่านั้น เพราะไม่มีความจำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวคิดของเราในสังคมไทยเช่นกันว่า
“ถ้าวันหนึ่งมีกฎหมายนี้ขึ้นมา และทุกคนต่างถกเถียงกันถึงประเด็นนี้ เราก็จะแนะนำวิธีนี้ไป จะได้ไม่ต้องมาตีกันว่าเพศกำเนิดไม่สามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนได้ เพราะมันสำคัญ ดังนั้นก็แค่เปลี่ยนข้อมูลที่ตามจริงเป็นสาธารณะในเอกสารราชการและทะเบียนราษฎร ให้กลายเป็น ‘เพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศ’ และข้อมูลเกี่ยวกับเพศกำเนิด และร่างกายก็จัดเก็บไว้ในพื้นที่ไพรเวท”
หลังจากนี้ต้องรอลุ้นกันว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับประชาชน ที่กำลังรวบรวมรายชื่ออยู่นั้น เมื่อเข้าสู่สภาแล้วจะผ่านฉลุย หรือถูกปัดตกอีกครั้ง อย่างไรก็ดี หากใครสนใจผลักดันกฎหมายดังกล่าว สามารถร่วมลงชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศฯ ได้ที่: https://intersexthailand.org/petition/
อ้างอิงจาก