“มหาวิทยาลัยนี้มีจริง ไม่ใช่มหาวิทยาลัยห้องแถว ไม่สามารถซื้อปริญญาได้ ถ้าใครซื้อได้ ซื้อมาหมอจ่ายให้อีก 10 เท่าเลย” คือคำที่ ‘หมอเกศ’ ยืนยัน หลังสังคมตั้งข้อสังเกตว่าเธออาจไม่ได้เรียนจบระดับปริญญาเอกจริง จาก California University
หลังได้ทราบผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุด 2567 คนก็ต่างให้ความสนใจกับ ‘หมอเกศ – ศ.ดร.พญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย’ ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในการเลือกครั้งนี้ ว่าเธอเป็นใครหรือมีประวัติเป็นอย่างไรบ้าง
สิ่งหนึ่งที่กระตุกความสนใจผู้คน คือการระบุประวัติว่า จบการศึกษาระดับปริญญาเอก วุฒิ Doctor of Philosophy (PhD) Associate Professor in Business Administration California University ซึ่งไม่ใช่ที่เดียวกันกับมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) แต่อย่างใด
นำมาซึ่งคำถามที่ว่า มหาวิทยาลัยแห่งนี้อยู่ที่ไหน ทำไมถึงมีชื่อคล้ายๆ กับมหาวิทยาลัยดัง และถึงที่สุดคือ เรียนจบจริงหรือไม่ และเป็นมหาวิทยาลัยจริงหรือเปล่า
ข้อสงสัยนี้นำมาซึ่งการค้นหาความจริงบนโซเชียลมีเดีย จนได้พบว่า California University มีชื่อเต็มๆ คือ California University Foreign Credentials Evaluation (FCE) ซึ่งเป็น ‘บริการ’ สำหรับการเทียบวุฒิการศึกษาว่า ‘เทียบเท่า’ กับขอบเขตความรู้ของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในมหาวิทยาลัยจริงๆ พร้อมกับออกใบรับรองให้ ซึ่งไม่ใช่ ‘ใบปริญญาบัตร’ แต่อย่างใด
วิธีการเพื่อจะได้รับการรับรองนั้นก็ไม่ยากเย็นอะไร เพียงเข้าไปที่เว็บไซต์ของ California University FCE และกรอกข้อมูลการศึกษาที่ตนเคยผ่านมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการเทียบว่าจะสามารถเทียบเท่ากับวุฒิอะไรในสหรัฐฯ ได้บ้าง โดยมีค่าบริการที่ 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,200 บาท)
บนเว็บไซต์ของ California University FCE ระบุรายละเอียดว่า การดำเนินงานนี้ได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลของรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาแล้ว พร้อมทั้งได้จดทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ และกระทรวงศึกษาธิการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียร์ ซึ่งบริการนี้มักจะใช้สำหรับผู้ที่ย้ายถิ่นฐาน และนำมาใช้ในการจ้างงานได้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน
นอกจากประเด็นว่าเรียนจบจริงหรือไม่ หมอเกศยังได้ระบุในใบแนะนำตัวผู้สมัคร สว.ว่าตนเป็น ‘ศาสตราจารย์’ ซึ่งคนก็ตั้งข้อสังเกตว่าการจะได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ได้นั้น จะต้องผ่านกระบวนการทางวิชาการหลายอย่างและจะต้องได้รับโปรดเกล้าฯ ซึ่งหมอเกศอธิบายผ่านรายการกรรมกรข่าวคุยนอกจอ ว่า ตนไม่ได้รับโปรดเกล้าฯ ในประเทศไทยก็จริง แต่ได้รับยศเป็น Professor ขณะมาศึกษาที่ California University และยืนยันว่าสามารถนำคำนี้มาใช้ในประเทศไทยได้ด้วย
อย่างไรก็ดี ในแวดวงการเมือง หมอเกศไม่ใช่คนแรกที่ระบุว่าจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ย้อนกลับไปในปี 2562 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็กล่าวว่าตนจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก California University เช่นกัน และในขณะนั้นก็มีคนออกมาเปิดเผยข้อมูลเช่นกันว่าเป็นเพียงบริการเทียบวุฒิ และไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนจริง
จากข้อครหาที่เกิดขึ้น หมอเกศได้โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ว่า “เงียบไม่ใช่ยอมรับ แต่นิ่งเพื่อมองคนได้กว้างและลึกขึ้น เก็บข้อมูลเมื่อถึงเวลา ทุกอย่างจะปรากฏ ว่าใครคือของจริงหรือของปลอม […] เพื่อปกป้องเกียรติยศศักดิ์ศรีของตัวหมอต้องขออภัย รับผิดชอบในสิ่งที่ทำกันนะคะ”
แม้ในตอนนี้ สังคมดูเหมือนจะได้คำตอบในกรณีวุฒิการศึกษาของ ‘หมอเกศ’ แล้ว แต่ยังมีข้อสงสัยที่ค้างคาใจคนบางส่วนว่าแล้วหมอเกศทำอย่างไรถึงได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 ในการเลือก สว. 67 ได้ และนอกจากนั้นยังมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครคนอื่นๆ เพิ่มเติมว่าให้ข้อมูลตามความเป็นจริงหรือเปล่า
อ้างอิงจาก