‘เป็นระบบที่ต้องใช้ทั้งพรรคพวก และใช้ดวง’ คือข้อวิจารณ์ต่อการเลือก สว. ในครั้งนี้
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายนที่ผ่านมา เพิ่งมีการคัดเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในรอบสุดท้าย (ระดับประเทศ) ทำให้ได้ทราบผลอย่างไม่เป็นทางการแล้วว่า 200 รายชื่อที่จะเป็นว่าที่ สว.ชุดต่อไปเป็นใครกันบ้าง
อย่างไรก็ดี ระหว่างกระบวนการเลือกนี้ มีทั้งผู้สมัคร ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปตั้งข้อสังเกตกันอย่างกว้างขวางว่ามี ‘ความผิดปกติ’ เกิดขึ้น ทั้งในกระบวนการและในผลการคัดเลือกที่ออกมา และเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบและดำเนินการโดยด่วน
The MATTER จึงได้รวบรวมข้อสังเกตถึงความผิดปกติเหล่านี้ที่มีการแชร์กันบนโซเชียลมีเดีย และส่วนหนึ่งจากงานเสวนา ‘สว. 67 ทางข้างหน้า? จากสิ่งที่เห็น’ จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ iLaw และ We Watch ในช่วงเช้าวันนี้ (28 มิถุนายน 2567) เพื่อมาร่วมหาคำตอบและถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ความผิดปกติในการเลือก สว.67
1. อาจมีการ ‘บล็อกโหวต’
“โพยสำเร็จรูป ของอะไรก็ไม่รู้ มีคนทำตกแถวเมืองทองธานี” หลังจากการเลือกเสร็จสิ้น สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. โพสต์บนเฟซบุ๊กเพจของตนเอง ปรากฏเป็นภาพกระดาษเอสี่มีตารางระบุตัวเลข พร้อมกำกับหัวตารางเป็นเลขกลุ่ม ทำให้คนสงสัยว่าอาจเป็น ‘กระดาษโพย’ ว่าจะต้องเข้าไปเลือกผู้สมัครหมายเลขอะไรบ้าง
ประกอบกับมีผู้สังเกตได้ว่า คะแนนของผู้ที่ได้เป็นว่าที่ สว.ด้วยคะแนนลำดับ 1-6 ในแต่ละกลุ่มอาชีพจะมีคะแนนที่เกาะกลุ่มกันเป็นเหมือนที่ราบสูง ซึ่งสูงโดดออกมาจากผู้ที่ได้ลำดับที่ 7-10 และลำดับสำรอง
ด้วยเหตุนี้ จึงมีผู้สันนิษฐานว่าอาจมีการ ‘บล็อกโหวต’ เกิดขึ้นจริง
“การทำการบ้านก่อนว่าใครจะลงคะแนนให้ใคร ไม่ได้ผิดในกฎหมายฉบับนี้ แต่จะผิดต่อสามัญสำนึกของประชาชนและผู้สมัครท่านอื่นบ้าง ว่า ฮั้วกันแบบนี้ได้ยังไง” ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าว พร้อมอ้างอิงถึงข้อกฎหมายว่า การบล็อกโหวตหรือนัดแนะกันจะมีความผิดก็ต่อเมื่อมีการให้ผลประโยชน์ เช่น บอกว่าจะตอบแทนเป็นเงิน ซึ่งก็ต้องหาร่องรอยหลักฐาน อันเป็นหน้าที่ที่ กกต. ควรตรวจสอบ
สอดคล้องกับทางด้านของ แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ซึ่งแถลงข่าวหลังการคัดเลือกเสร็จสิ้นว่า “บอกว่ามีแต่บล็อกโหวต มีแต่มันไม่ดี แต่ไม่เคยมีใครบอกว่าผิดกฎหมาย” ซึ่งทาง กกต. ก็จะนำไปตรวจสอบตามข้อกฎหมายต่อไป
2. ผู้สมัครขาดคุณสมบัติ
ไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะสมัคร สว.ได้ แต่จะต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ที่สำคัญคือการประกอบอาชีพในกลุ่มอาชีพที่ต้องการสมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม เช่น เคยถูกจำคุก เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
แต่เมื่อกลับมาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับเลือกเป็นว่าที่ สว. แล้ว กลับพบว่ามีผู้ที่อาจขาดคุณสมบัติได้ เช่น
- ปุณณภา จินดาพงษ์ กลุ่ม 12 พบว่าเมื่อปี 2563 มีชื่อว่าเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย ซึ่งเป็นคุณสมบติต้องห้ามตามมาตรา 14(24) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องหรือหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครคัดเลือก
- คอดียะฮ์ ทรงงาน กลุ่ม 18 เคยทำหน้าที่เป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายของหมู่บ้าน แต่สมัครในกลุ่มสื่อสารมวลชน ซึ่งแม้จะตีความอย่างกว้างแล้ว การเป็นประชาสัมพันธ์เสียงตามสายก็ยังไม่น่าจะนับเป็นอาชีพสื่อสารมวลชนได้
โดยยิ่งชีพย้ำว่า กกต.ควรตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับเลือกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจริงๆ แล้วก็ควรจะตรวจสอบตั้งแต่การสมัคร เพราะอาจยังมีผู้ที่ไม่ได้รับเลือกเป็น สว.แต่ก็เข้ามามีบทบาทในกระบวนการเลือกไปแล้วทั้งที่ตนอาจขาดคุณสมบัติก็ตาม และหากตรวจสอบแล้วพบว่าขาดคุณสมบัติก็จะต้องถูกตัดสิทธิ และผู้สมัครนั้นต้องมีความผิดตามกฎหมายที่กำหนดไว้
3. ระบบใช้ดวง
ตั้งแต่รอบระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ หากผู้สมัครมีคะแนนเท่ากันในลำดับสุดท้าย จะใช้วิธีการ ‘จับฉลาก’ ว่าใครจะได้เป็นผู้ผ่านเข้ารอบต่อไป
ตัวอย่างผู้ที่ได้รับเลือกเป็น สว. โดยมาจากการจับฉลากเพราะได้คะแนนอันดับสุดท้าย คือ เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท และผู้ที่จับฉลากแพ้ไปและกลายเป็นอันดับสำรอง คือ ประทีป คงสิบ อดีตผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี และในรอบระดับจังหวัด ยังมี พล.ต. นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ. โรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ ที่สละสิทธิ์จับฉลากกับผู้ที่ได้คะแนนเท่ากัน
ดังนั้น แม้จะมีคนที่ประชาชนมองว่ามีความเหมาะสม แต่กลับต้องตกรอบไปอย่างน่าเสียดายเพียงเพราะจับฉลากแพ้ นำมาสู่ข้อวิจารณ์ว่าวิธีการนี้ไม่เหมาะสม เพราะกระบวนการคัดเลือกควรมีความเป็นจริงเป็นจังและมีระบบระเบียบมากกว่านี้ เนื่องจากเป็นการเลือกคนมาเป็นตัวแทนของประชาชน จึงไม่ควรใช้การวัดดวง
นอกจากประเด็นข้างต้น ยังมีข้อสังเกตและข้อวิจารณ์อื่นๆ ที่อาจเชื่อมโยงกับข้อสงสัยว่ามีการบล็อกโหวตอีก เช่น
- ผู้สมัครจากจังหวัดบุรีรัมย์ได้เป็น สว.สูงสุด ทั้งหมด 14 คน โดยลำดับรองลงมามีผู้ได้เป็น สว. 7 คน หรือน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง
- ระหว่างกระบวนการเลือกมีผู้สมัครแยกออกมาคุยกัน 2 คนนอกห้องและกลับเข้าไปในห้องใหม่ ซึ่งขัดกับกฎของ กกต. ที่ห้ามผู้สมัครออกจากสถานที่คัดเลือก
ทั้งนี้ หากผู้สมัครพบเห็นความผิดปกติ หรือพบสิ่งที่ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในระหว่างการเลือก จะต้องร้องเรียน คัดค้าน กับ กกต. ได้ภายในวันที่ 29 มิถุนายน 2567 (ภายใน 3 วันหลังเลือกระดับประเทศ) เพื่อดำเนินการต่อไป