ย้อนกลับไปสมัยกรีกโบราณ ความเป็นเลิศทาง ‘กายภาพ’ และ ‘สติปัญญา’ นับเป็นของคู่กัน ต่อมาแนวคิดนี้ได้ส่งต่อมายังโอลิมปิกสมัยใหม่ เมื่อบารอน ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง (Pierre de Coubertin) ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee หรือ IOC) ต้องการเชื่อมโยงศิลปะและกีฬา ในการแข่งขันโอลิมปิก
“ในยุครุ่งเรืองของโอลิมเปีย ศิลปะชั้นสูงได้รับการผสมผสานอย่างกลมกลืน กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อสรรค์สร้างความรุ่งโรจน์ และสิ่งนี้จะกลายเป็นความจริงอีกครั้ง” เดอ คูแบร์แต็ง ระบุในหนังสือพิมพ์ Le Figaro เมื่อปี 1904
หลังจากนั้นแนวคิดดังกล่าวถูกเสนอในที่ประชุมโอลิมปิก ครั้งแรกในปี 1906 และกลายเป็นความจริงในปี 1912 ณ การแข่งขันโอลิมปิกที่สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ท่ามกลางข้อกังวลเรื่องความยุติธรรมในการตัดสิน
การแข่งขันเปลี่ยนไปอย่างไร?
IOC ได้แบ่งประเภทเหรียญรางวัลออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ สถาปัตยกรรม วรรณกรรม ดนตรี จิตรกรรม และประติมากรรม โดยในช่วงแรกเหรียญรางวัล เป็นเหรียญสำหรับหมวดหมู่ทั่วไป แต่ภายหลังได้แบ่งออกเป็นหมวดหมู่เฉพาะมากขึ้น เช่นประเภทวรรณกรรม อาจแบ่งเป็นบทละคร บทกลอน หรือบทกวี เป็นต้น
ด้านการตัดสิน ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นผลงานที่ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน และต้องเกี่ยวข้องกับกีฬาเท่านั้น ทั้งนี้ในหลายกรณี กรรมการไม่สามารถตัดสินผู้ชนะได้ เนื่องจากการตัดสินผลงานศิลปะ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จนไม่มีการมอบเหรียญรางวัล หรือมอบเหรียญทองแดงเท่านั้น
หนึ่งในเรื่องราวที่น่าสนใจคือ นักกีฬาหลายคนที่เคยคว้าเหรียญจากกีฬาทางกายภาพ เมื่อภายหลังได้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิก ประเภทศิลปะ พวกเขาก็คว้าเหรียญเช่นเดียวกัน! เรียกได้เป็นเลิศทั้งทางกายภาพและสติปัญญา เลยทีเดียว
ตัวอย่าง วอลเตอร์ วินานส์ (Walter Winans) ชาวอเมริกัน ผู้เคยคว้าเหรียญทองโอลิมปิก ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในการแข่งขันยิงปืน เมื่อ 4 ปีก่อนหน้า ในปี 1912 เขาลงแข่งขันโอลิมปิก ประเภทประติมากรรม ณ กรุงสตอกโฮล์ม และคว้าเหรียญทองไปเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่รู้ว่าอาคาร ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาหลายแห่ง เป็นผลงานจากการแข่งขันโอลิมปิก ประเภทสถาปัตยกรรม!
อย่างเช่น สนามกีฬาโอลิมปิกในอัมสเตอร์ดัม ถูกออกแบบโดยสถาปนิกแจน วิลส์ (Jan Wils ที่เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกปี 1928 หรืออีกตัวอย่างคือ โรงยิม ชื่อ Payne Whitney ที่มหาวิทยาลัยเยล ก็เป็นผลงานของจอห์น รัสเซลล์ โพป (John Russell Pope) เจ้าของเหรียญเงินโอลิมปิกปี 1932
แล้วทำไมการแข่งขันโอลิมปิกศิลปะ จึงสิ้นสุดลง?
ถึงการแข่งขันศิลปะจะเป็นที่นิยมมาก แต่ในปี 1949 ที่ประชุม IOC สรุปว่าผู้เข้าแข่งขันเกือบทั้งหมด เป็นมืออาชีพ ที่อาจไม่สะท้อนความสมัครเล่นของการแข่งขันโอลิมปิก ทำให้การแข่งขันศิลปะโอลิมปิกครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นที่กรุงลอนดอน ในปี 1948
แม้ว่าการแข่งขันศิลปะโอลิมปิกจะสิ้นสุดลง แต่ประวัติศาสตร์ที่กล่าวมา อาจเป็นคำอธิบายที่ดีว่า ทำไมการแข่งขันโอลิมปิกแต่ละครั้ง จึงมีการแสดง หรือจัดนิทรรศการทางศิลปะและวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่ และการแข่งขันศิลปะ ที่แม้จะจบลงไปแล้ว อาจหลงเหลือร่องรอยในปัจจุบันมากกว่าที่เราคิด
อ้างอิงจาก