ทุกคนคงจะเคยได้ยินชื่อของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่างเอเวอเรสต์ ซึ่งมีความสูงถึง 8,849 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล แต่รู้หรือไม่ว่าแล้วเหตุผลอะไรล่ะ ที่ทำให้เอเวอเรสต์สูงกว่ายอดเขาอื่นๆ และยังมีความสูงเพิ่มขึ้นถึง 2 มิลลิเมตรทุกปี?
การค้นพบนี้ เกิดขึ้นโดยนักวิจัยจาก University College London (UCL) ที่อธิบายว่า การสูงขึ้นของยอดเขาเอเวอเรสต์นี้ เกิดจากการสูญเสียพื้นที่แผ่นดินในแอ่งแม่น้ำอรุณ ซึ่งอยู่ห่างยอดเขาออกไปถึง 75 กิโลเมตร
อดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้ร่วมวิจัย กล่าวให้เห็นภาพว่า “มันก็เหมือนกับการโยนสินค้าลงจากเรือ เรือจะเบาลง และลอยสูงขึ้นเล็กน้อย ในทำนองเดียวกัน เมื่อเปลือกโลกมีน้ำหนักเบาลง มันก็จะลอยสูงขึ้นเล็กน้อยได้”
หากย้อนกลับไปดูที่มา ว่าพวกยอดเขานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมากยิ่งขึ้น โดยยอดเขาเกิดจากแรงกดดันจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่น คือแผ่นอินเดียและแผ่นยูเรเซียเมื่อ 40-50 ล้านปีก่อน ก่อให้เกิดเทือกเขาหิมาลัย (ยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นส่วนหนึ่งในนี้) โดยแผ่นเปลือกโลกยังคงเป็นสาเหตุหลัก ในการดันกันเองและทำให้ยอดเขาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดี ทีมวิจัยของ UCL กล่าวว่า สำหรับในครั้งนี้ เครือข่ายแม่น้ำอรุณถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยอดเขาสูงขึ้น
เมื่อ 89,000 ปีก่อน แม่น้ำที่เชี่ยวกรากสายหนึ่ง ได้ผนวกกับแม่น้ำอีกสายหนึ่งเข้าด้วยกัน และเมื่อรวมกันแล้ว ก็ทำให้แม่น้ำสายนี้มีพลังกัดเซาะมากขึ้น เพราะไหลผ่านภูเขาที่ลาดชันด้วยแรงที่มาก ทำให้กัดเซาะหินและดินมาได้มากในระหว่างทาง
เมื่อแม่น้ำอรุณไหลผ่านเทือกเขาหิมาลัย เครือขา่ยแม่น้ำอรุณจึงจะกัดเซาะวัสดุต่างๆ (พื้นแม่น้ำ) ออกไปจากเปลือกโลก ทำให้แรงที่เกิดขึ้นกับชั้นแมนเทิล (ชั้นถัดไปที่อยู่ใต้เปลือกโลก) ลดน้อยลง ส่งผลให้เปลือกโลกที่บางลงนั้นเกิดการโค้งงอและยกลอยสูงขึ้น
เหล่านี้เรียกว่าการดีดกลับแบบ isostatic ซึ่งงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Geoscience เสริมว่า แรงที่ดันขึ้นนี้ทำให้เอเวอเรสต์และยอดเขาอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งยอดเขาที่สูงเป็นอันดับสี่และห้าของโลกอย่างโลตเซและมาคาลูเคลื่อนตัวสูงขึ้นไป
นักธรณีวิทยาส่วนหนึ่งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ ระบุว่าทฤษฎีนี้ดูน่าเชื่อถือ แต่ยังมีอีกหลายส่วนในงานวิจัยที่ยังไม่ชัดเจน
ศาสตราจารย์ฮิวจ์ ซินแคลร์ (Hugh Sinclair) จากคณะธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเอดินบะระ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยนี้ กล่าวว่า กระบวนการพื้นฐานที่ทีม UCL ระบุนั้นสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ดี เขายังเสริมว่า ปริมาณและระยะเวลาที่แน่นอนของการกัดเซาะแม่น้ำ (หรือวิธีที่แม่น้ำกัดเซาะลงไปในพื้นแม่น้ำและทำให้ช่องทางลึกขึ้น) ซึ่งทำให้เกิดการยกตัวของยอดเขาโดยรอบเป็นผลตามมา ยังเป็นข้อมูลที่มีความไม่แน่นอนอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้วิจัยเองยอมรับ
นอกจากนั้น ซินแคลร์ยังกล่าวว่าระยะทางที่ภูเขายกตัวขึ้นจากจุดที่เกิดการกัดเซาะอย่างรุนแรงในพื้นที่นั้นยากต่อการคาดเดาอย่างยิ่ง แต่การเชื่อมโยงความสูงที่เพิ่มขึ้นของเอเวอเรสต์กับแม่น้ำ ก็ยังถือว่าเป็นข้อมูลที่น่าตื่นเต้นอยู่ดี
“แม้ว่าภูเขาอาจดูเหมือนหยุดนิ่งเมื่อมองจากมุมมองของมนุษย์ในช่วงชีวิตหนึ่ง แต่ที่จริงแล้วภูเขาเหล่านี้เคลื่อนไหวตลอดเวลา” จิน-เก็น ได (Jin-Gen Dai) นักธรณีวิทยาจากมหาวิทยาลัยธรณีวิทยาจีนในปักกิ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนผลการศึกษากล่าว
อ้างอิงจาก