สหราชอาณาจักรถือเป็นแหล่งกำเนิดของพลังงานถ่านหิน แต่นับตั้งแต่วันนี้ไป หน้าประวัติศาสตร์ใหม่จะถูกเขียนขึ้นว่า สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งแรกจากทั้งหมด 7 ประเทศที่จะเลิกใช้พลังงานถ่านหิน
วันนี้ (1 ตุลาคม 2024) โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายของสหราชอาณาจักร ‘แรทคลิฟฟ์-ออน-ซอร์’ ได้ปิดตัวลงแล้ว หลังจากเปิดดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1967 ซึ่งทำให้สหราชอาณาจักรเลิกผลิตไฟฟ้าจากการเผาถ่านหินโดยสมบูรณ์ หลังจากเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักของประเทศมากว่า 142 ปี
นี่จึงถือเป็นก้าวสำคัญในความทะเยอทะยานของประเทศ ที่จะลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Change เพราะถ่านหินถือเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด และปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุดเมื่อถูกเผา
“เป็นวันที่น่าทึ่งจริงๆ เพราะท้ายที่สุดแล้วอังกฤษก็สร้างความแข็งแกร่งของตนขึ้นมาจากถ่านหิน ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม” ลอร์ดเดเบน (Lord Deben) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดกล่าว
โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของโลก คือโรงไฟฟ้าโฮลบอร์นเวียดักต์ ถูกสร้างขึ้นในปี 1882 ในลอนดอน โดยนักประดิษฐ์ โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) หรือผู้ประดิษฐ์หลอดไฟ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 ถ่านหินก็เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าเกือบทั้งหมดของสหราชอาณาจักร โดยให้พลังงานกับทั้งบ้านเรือนและธุรกิจต่างๆ
ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 การเข้ามาของก๊าซ ทำให้ถ่านหินเริ่มถูกบีบให้เลิกใช้ในการผลิตไฟฟ้า แต่ถ่านก็ยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงข่ายไฟฟ้าของสหราชอาณาจักรในอีก 2 ทศวรรษถัดมาอยู่ดี โดยในปี 2012 ถ่านหินยังคงผลิตไฟฟ้าได้ถึง 39% ของสหราชอาณาจักร
แต่เมื่อความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเบ่งบาน ก็เห็นได้ชัดว่ามนุษย์จำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศ และเม่อถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุด มันจึงกลายเป็นเป้าหมายหลักที่จะต้องถูกกำจัดก่อน
ปี 2008 สหราชอาณาจักรได้กำหนดเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมายเป็นครั้งแรก และในปี 2015 แอมเบอร์ รัดด์ (Amber Rudd) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ป่าวประกาศกับชาวโลกว่า สหราชอาณาจักรจะยุติการใช้พลังงานถ่านหินภายในทศวรรษหน้า
เดฟ โจนส์ (Dave Jones) ผู้อำนวยการฝ่ายข้อมูลเชิงลึกระดับโลกของ Ember ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า การกระทำนี้ของสหราชอาณาจักรจะช่วยเริ่มต้นการยุติการใช้ถ่านหินได้จริง โดยให้ทิศทางสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ และสร้างมาตรฐานให้ประเทศอื่นๆ ทำตาม
ย้อนกลับไปในปี 2010 พลังงานหมุนเวียนสามารถนำมาใช้ผลิตพลังงานของสหราชอาณาจักรได้เพียง 7% เท่านั้น แต่เมื่อถึงภายในครึ่งแรกของปี 2024 ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50% ซึ่งถือเป็นสถิติใหม่ ในขณะที่ในปี 2023 พลังไฟฟ้าจากถ่านหินลดลงเหลือเพียง 1% เท่านั้น
การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนที่ประสบความสำเร็จอย่างมากนี้ ทำให้กำหนดวันสิ้นสุดการใช้พลังงานถ่านหินถูกเลื่อนเข้ามาหนึ่งปี จนในที่สุดวันนี้ โรงงานถ่านหินแห่งสุดท้ายก็ปิดตัวลงแล้ว
แต่แม้จะดีต่อโลก การปิดตัวของโลกงานก็หมายความว่าพนักงานทุกคนจะต้องตกงาน โดย คริส สมิธ (Chris Smith) ผู้ที่ทำงานที่โรงงานแห่งนี้มาเป็นเวลา 28 ปีในทีมสิ่งแวดล้อมและเคมี กล่าวว่า “โรงงานแห่งนี้ดำเนินการมาโดยตลอด และเราพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้มันดำเนินการต่อไป…มันเป็นช่วงเวลาที่น่าเศร้ามาก”
ลอร์ดเดเบน ผู้ดำรงตำแหน่งในรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ก็เคยอยู่ในเวลาที่เหมืองถ่านหินหลายแห่งของสหราชอาณาจักรถูกปิดตัวลงและทำให้คนงานหลายพันคนต้องตกงาน เขาจึงกล่าวว่า คนงานในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลในปัจจุบันต้องเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ พร้อมจับตานโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่จะชดเชยงานใหม่ให้กับผู้คนที่ได้รับผลกระทบ
ความท้าทายขั้นต่อไปที่สหราชอาณาจักรต้องเผชิญก็คือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าถึงถ่านหินจะไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่มันสามารถใช้งานได้ตลอดเวลา ในขณะที่พลังงาทดแทนอย่างลม และแสงอาทิตย์ มีสภาพจำกัดด้วยสภาพอากาศ
เคธี่ โอนีล (Kayte O’Neill) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Energy System Operator ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลระบบไฟฟ้าของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อช่วยให้เราแน่ใจได้ว่าระบบไฟฟ้ามีเสถียรภาพ และทำให้ไฟสว่างได้อย่างปลอดภัย” ซึ่งเทคโนโลยีนั้นก้คือเทคโนโลยีแบตเตอรี่นั่นเอง
ดร.ซิลเวีย วาลุส (Dr.Sylwia Walus) ผู้จัดการโครงการวิจัยที่สถาบันฟาราเดย์ ระบุว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีแบตเตอรี่มีความก้าวหน้ามาก “ในปัจจุบันนี้ ความสนใจหลักอยู่ที่การทำให้เทคโนโลยีมีความยั่งยืน และมีต้นทุนในการผลิตที่ถูกกว่า” เธออธิบายเสริม พร้อมบอกว่า สหราชอาณาจักรต้องเป็นอิสระจากจีนมากขึ้นในการผลิตแบตเตอรี่ของตัวเองและนำแรงงานที่มีทักษะเข้ามาเพื่อให้ตอบจุดประสงค์นี้
ก่อนหน้านี้ มีประเทศในยุโรปที่เลิกใช้การผลิตไฟฟ้าโรงงานถ่านหินไปแล้ว เช่น สวีเดน เบลเยียม และยังน่าจับตามองต่อไปว่าเมื่อประเทศใหญ่ทยอยเลิกใช้ถ่านหินเช่นนี้ ประเทศอื่นๆ จะก้าวตามไปอย่างไรบ้าง
อ้างอิงจาก