12 ธันวาคมที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรมีการเลือกตั้ง และพรรคอนุรักษนิยมของ บอริส จอห์นสัน กวาดที่นั่งไปอย่างท่วมท้นถึง 365 เสียงชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากในทันที
ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะสำคัญของพรรค และอาจทำให้สหราชอาณาจักรจัดการปัญหา Brexit หรือเรื่องการออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่คาราคาซังมานานได้เสียที
ความสำเร็จของบอริส จอห์นสัน คู่ขนานไปกับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของพรรคแรงงานที่นำโดยหัวหน้าพรรคอย่าง เจเรมี่ คอร์บิน ซึ่งถือเป็นการแพ้เละเทะที่สุดของพรรคแรงงานนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1935 เลยทีเดียว จนตัวคอร์บินเองต้องประกาศว่าจะไม่เป็นผู้นำพรรคลงสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้าแล้ว
ความพ่ายแพ้ครั้งนี้มีสาเหตุหลายอย่าง ทั้งความผิดพลาดเรื่องการลงพื้นที่หาเสียงในเมืองต่างๆ ความไม่ชัดเจนเรื่อง Brexit ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้คือการเลือกตั้งที่มีประเด็นหลักคือ Brexit ขณะที่บอริส จอห์นสัน กับทางพรรคอนุรักษนิยมชัดเจนมากในเรื่องนี้ว่าจะต้องทำให้จบโดยเร็วที่สุด แต่พรรคแรงงานกลับดูประนีประนอมและพยายามจะยืดเยื้อปัญหาต่อไปอีก จุดนี้ทำให้เสียคะแนนเสียง แม้จะพยายามดันนโยบายที่ถือว่าก้าวหน้ามากๆ ในหลายเรื่อง แต่ในสายตาประชาชนมันกลับดูเยอะเกินไป จนทำให้ผู้เลือกตั้งมองว่ายังไม่สำคัญเท่ากับเรื่อง Brexit ทางนักวิเคราะห์และ ส.ส. หลายคนมองว่าถ้าเป็นการเลือกตั้งครั้งอื่นนโยบายแบบนี้ถือว่าได้ใจประชาชนมาก แต่เพราะเลือกตั้งครั้งนี้คือการตัดสินใจเรื่อง Brexit พอพรรคแรงงานไม่ชัดเจนเรื่องนี้ ผลก็เลยจบลงที่ความพ่ายแพ้
แน่นอนว่าตัวผู้นำพรรคอย่างคอร์บินถูกโจมตีว่าเป็นจุดอ่อนด้วย ทั้งการเป็นผู้นำฝ่ายค้านที่ความนิยมต่ำมากในรอบ 40 ปี มุมมองในอดีตที่เป็นจุดอ่อน การ์ดตกจนให้คนโจมตีได้ง่าย ทั้งการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไอร์แลนด์เหนือ หรือการถูกโจมตีว่าต่อต้านยิว
อย่างไรก็ดี คอร์บินบอกว่า แม้จะแพ้แต่เขาก็ยังภูมิใจที่ได้ผลักดันนโยบายก้าวหน้าหลายๆ อย่างไปในช่วงหาเสียง ทั้งการลดอายุผู้เลือกตั้งเหลือเพียง 16 ปี นโยบายสีเขียว การให้เรียนมหาวิทยาลัยฟรี การให้เงินสวัสดิการคนแก่ฟรี เขาบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคแรงงานพยายามจะหลอมรวมคนที่ออกเสียงแยกตัวหรืออยู่กับ EU ให้สามารถกลับมาสมานฉันท์กันได้
ซึ่งผลการเลือกตั้งก็แสดงอย่างชัดเจนว่าพรรคแรงงานล้มเหลวในเรื่องนี้อย่างแรงเลยทีเดียว
แม้จะพ่ายแพ้และล้มเหลว แต่ เจเรมี่ คอร์บิน นั้น ถือเป็นนักการเมืองที่น่าสนใจและมีเรื่องราวที่ควรได้ศึกษา เพราะแม้เขาจะไม่ได้รับความนิยมจากในพรรครวมถึงคนทั้งประเทศ แต่เขาคือคนที่มุ่งมั่นมีอุดมการณ์มาตั้งแต่หนุ่ม และยังคงเป็นแบบนั้นจนถึงปัจจุบัน
ชายเจ้าของอุดมการณ์สังคมนิยมประชาธิปไตยเกิดเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ.1949 พ่อเป็นวิศวกร แม่เป็นครูสอนคณิตศาสตร์ ทั้งสองพบรักกันในคณะกรรมการสงครามกลางเมืองสเปน คอร์บินมีพี่น้องสามคนอยู่ในบ้านหลังใหญ่ เขาเป็นคนเล็กในครอบครัวที่สนับสนุนพรรคแรงงานเสมอมา
แม้จะถูกส่งไปเรียนในโรงเรียนอนุรักษนิยม แต่เลือดขบถในตัวเด็กหนุ่มคนนี้ก็มาเต็มร้อย เมื่ออายุเพียง 15 ปี คอร์บินก็เข้าร่วมรณรงค์ไม่สนับสนุนอาวุธนิวเคลียร์ และพออายุ 16 ปีก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานทันที
“ตอนอยู่โรงเรียน ผมเหมือนเป็นเสียงส่วนน้อยในทุกวิชา ทุกๆ การโต้เถียง ทุกการพูดคุย ผมจะเป็นคนส่วนน้อยเสมอ” คอร์บินรำลึกความหลัง หลายครั้งพอถกเถียงอะไรในห้องแล้วมีการโหวตทีไร เขาจะเป็นเสียงส่วนน้อย บางครั้งมีเขาเห็นด้วยในเรื่องนี้แค่คนเดียว บางทีก็มีเพื่อนเห็นด้วยกับเขารวมเป็นสองเสียง พอเขาเหมือนจะชนะการดีเบต ครูก็ขู่นักเรียนคนอื่นให้โหวตเห็นต่างกับเขา และแน่นอนคอร์บินก็พ่ายแพ้เสมอมา
ครูใหญ่เคยปรามาสเขาว่า “เอ็งจะไม่มีวันได้ดีในชีวิต”
เขาเคยสมัครเขาโรงเรียนโปลิเทคนิค แต่ถูกปฏิเสธ และด้วยวัยเพียง 19 ปี คอร์บินวัยหนุ่มได้เดินทางไปประเทศจาไมกา แล้วเข้าทำงานเป็นอาสาสมัครดูแลค่ายผู้ป่วยโรคโปลิโอ ก่อนจะเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาใต้คนเดียวเป็นเวลาหนึ่งปี คอร์บินเคยเข้าร่วมประท้วงกับนักศึกษาบราซิลเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารในตอนนั้นด้วย
ขณะเดินทางไปชิลี เขาได้พบกับนโยบายเอียงซ้ายของรัฐบาลในเวลานั้น ว่ากันว่ามันทำให้เด็กหนุ่มประทับใจมาก แม้ว่าเวลาต่อมารัฐบาลฝ่ายซ้ายของชิลีจะถูกรัฐประหารโดยกองทัพภายใต้การสนับสนุนของอเมริกาในอีกไม่กี่ปีต่อมาก็ตาม
เมื่อกลับมาสหราชอาณาจักร คอร์บินทำงานสารพัดตำแหน่งในโรงงงาน และกลายเป็นสมาชิกสหภาพอย่างแข็งขัน ซึ่งประสบการณ์ในสหภาพนี่เองที่ประกอบสร้างเป็น เจเรมี่ คอร์บิน ในวันนี้
ด้วยอายุเพียง 33 ปี คอร์บินก็ลงสมัครเป็น ส.ส. ในกรุงลอนดอนและได้รับเลือกตั้งอย่างยาวนานมาถึงทุกวันนี้ พร้อมกับการแสดงนโยบายหลายอย่าง ทั้งการต่อต้านนโยบายแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ การสนับสนุนการประท้วงคนงานถ่านหิน และการคัดค้านนโยบายด้านการแทรกแซงทางทหารของสหราชอาณาจักรทุกรูปแบบ และเป็นที่รู้กันว่าคอร์บินนั้นสนับสนุนการรวมตัวกันของประเทศไอร์แลนด์
คอร์บินเข้าร่วมประท้วงเสมอ รวมถึงการผลักดันนโยบายหลายๆ อย่าง เคยโดนจับ เคยโดนวิจารณ์ แต่ก็ได้รับเลือกตั้งมาตลอด เรียกว่าเป็น ส.ส. ที่มีกิจกรรมทางการเมืองก้าวหน้ามากๆ
ครั้งหนึ่งคอร์บินเคยให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงก่อนสงครามซีเรีย เขาเคยไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยตรงพรมแดนซีเรีย-อิรัก แล้วเห็นภาพสะเทือนใจ ทั้งสภาพความเป็นอยู่ของผู้ลี้ภัยที่ยากลำบาก ทั้งการต้องจุดแก๊สในเตนต์ซึ่งอันตรายต่อการเกิดไฟไหม้
“ผมถามเด็กหญิงวัย 14 ปี ที่สูญเสียสมาชิกครอบครัวทั้งหมด ว่า หนูอยากทำอะไรในชีวิต เธอตอบว่าอยากเป็นหมอ แล้วผมก็คิดว่า เยี่ยมเลย เธออยู่ในสถานที่ซึ่งไร้ความหวัง คนอื่นๆ คงจะพูดว่า ฉันจะต้องออกไปจากขุมนรกนี้ให้ได้ ฉันไม่อยากอยู่ในเตนต์นี้” แต่หญิงสาวคนนี้กลับฝันถึงสิ่งที่งดงาม
นั่นเป็นบทเรียนของคอร์บินว่า “อย่าตัดสินคนจากสภาวการณ์ที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่เป็นอันขาด”
คอร์บินแต่งงานครั้งแรกตอนอายุ 24 ปี และเพราะกิจกรรมของพรรคและสหภาพทำให้เขาดึงงานการเมืองเข้าสู่ชีวิต การทุ่มเททำงานทางการเมืองทำให้ชีวิตสมรสครั้งแรกจบลงด้วยการหย่าร้างเพียงหกปีต่อมาเท่านั้นเอง จากนั้นเขาผ่านการสมรสอีกสองครั้ง โดยภรรยาคนปัจจุบันเป็นคนเม็กซิโกที่ให้นิยามคอร์บินว่า “เขาทำงานบ้านได้แย่มาก แต่เป็นนักการเมืองที่ดีเลย”
ตลอดการเป็น ส.ส. ให้กับพรรคแรงงานมาหลายปี เขาไม่เคยได้ดำรงตำแหน่งอะไรเลย ยิ่งช่วงที่ โทนี่ แบลร์ นำพรรคแรงงานเป็นรัฐบาลชนะเลือกตั้งมาสามสมัย แต่เจเรมี่ คอร์บิน เองกลับไม่เคยนั่งคุยหรือพบโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีของพรรคแรงงานตัวต่อตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว
“ผมไม่เคยคุยกับเขาเลย แต่ถ้าต้องคุยจริงๆ ผมคุยได้กับทุกคนนะ เพราะผมเป็นสุภาพชนพอ”
ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่า โทนี่ แบลร์ นำสหราชอาณาจักรเคียงข้างสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามก่อการร้าย โดยเฉพาะการบุกอิรัก คอร์บินเองมีมุมมองต่อต้านสงครามอย่างชัดเจน ตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียนก็เคยไปประท้วงต่อต้านสงครามเวียดนามด้วย และเคยไปร่วมประท้วงคัดค้านสงครามอัฟกานิสถานและอิรักในช่วงที่รัฐบาลพรรคแรงงานครองเสียงข้างมาก เขาโหวตไม่เห็นด้วยในนโยบายของโทนี่ แบลร์ หลายเรื่อง เขาเน้นย้ำว่าการทำสงครามกับอิรักนั้น
เป็นความผิดพลาดอย่างมหันต์
แม้จะเป็นคนที่มีอุดมการณ์แรงกล้า แต่คอร์บินเน้นย้ำว่าแม้จะเป็นคนที่วิจารณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลปูตินหลายครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าจะตัดความสัมพันธ์กับรัสเซียไปเลย เขาบอกว่าการวิจารณ์ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องมุมมองของอีกฝั่งเท่านั้น ดังนั้นเขาสามารถนั่งคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์ได้ หรือถึงขั้นทำงานร่วมกันได้ในประเด็นต่างๆ ทั้งสิ่งแวดล้อม ความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ปัญหาผู้ลี้ภัย ซึ่งของแบบนี้แล้วแต่การสนทนาของแต่ละคนในตอนนั้น
เสียดายที่คอร์บินไม่ชนะเลือกตั้ง เลยอดเห็นบทบาทผู้นำประเทศของเขา
คอร์บินเองเชื่อมั่นและมีมุมมองที่เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน สันติภาพและบทบาทสหภาพแรงงาน เขาเน้นย้ำเสมอว่า ไม่ต้องการให้มีใครถูกทิ้งในสังคม
“มันทำให้ผมใจสลายเวลาเห็นคนนอนตามท้องถนน มันทำให้ผมใจสลายเวลาเห็นขอทานหรือคนใช้คูปองอาหาร ซึ่งมันไม่จำเป็นเลย เราอยู่ในประเทศที่ร่ำรวย และเราสามารถทำอะไรให้มันแตกต่างได้”
เจเรมี่ คอร์บินเป็นที่คนที่ไม่ดื่มมากนัก เป็นแฟนบอลอาร์เซนอล ซึ่งเป็นสโมสรฟุตบอลในพื้นที่เขตของเขา เป็นมังสวิรัติและเน้นย้ำว่าตัวเองสนุกกับการทำอย่างอื่นนอกจากเรื่องงานในชีวิต “คุณไม่สามารถทำแต่งานของคุณได้หรอก ถ้าคุณทำแบบนั้น คุณทำได้ไม่ดีแน่”
แน่นอนว่านักการเมืองผู้นี้มีข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย มีข้อด้อยข้อผิดพลาด ซึ่งเป็นปกติของนักการเมืองในฐานะบุคคลสาธารณะ ที่ผ่านมาคอร์บินเองก็โดนด่าเยอะและโดนด่าอย่างสม่ำเสมอทั้งจากฝ่ายตรงข้ามและในพรรคเดียวกันเองด้วย
กระนั้นสิ่งหนึ่งที่คอร์บินเป็นเสมอมา คือ เขาตั้งใจและจริงใจกับความเชื่อทางการเมืองของตัวเองมาก เขาตั้งอุดมการณ์ไว้เป็นแนวทางชีวิต ผิดไปจากนี้เขาจะส่งเสียงเรียกร้องเป็นปากเสียงให้กับคนในสังคมด้วยความมุ่งมั่น
ชีวิตนักการเมืองนั้นอยู่กับประชาชน เสียงของประชาชนนั้นสำคัญยิ่ง และการเลือกตั้งคือบทพิสูจน์ว่าสังคมจะไว้ใจให้ใครได้มาทำงาน ที่ผ่านมาสมาชิกพรรคแรงงานต่างสนับสนุนคอร์บินให้ก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค เขาเกือบจะชนะใจคนในสหราชอาณาจักร และเกือบจะได้เข้าไปนั่งในบ้านเลขที่ 10 แห่งถนนดาวนิง อันเป็นบ้านพักของนายกรัฐมนตรีแล้ว
แต่ก็ทำได้แค่เกือบเท่านั้น มันช่างเหมือนที่คอร์บินรำลึกความหลังในตอนแรกว่า เขามักจะแพ้อยู่เป็นประจำ
แต่ตลอดชีวิตที่พ่ายแพ้อย่างสม่ำเสมอของชายคนนี้ กลับไม่เคยมีความพ่ายแพ้ใดเลยที่สั่นคลอนอุดมการณ์ที่เขาเชื่อในเพื่อนมนุษย์ ในสันติภาพ ถือเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคนที่มุ่งมั่นจะเข้าสู่เส้นทางการเมือง ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ อุดมการณ์นั้นสำคัญควบคู่ไปกับการปกปักรักษาเพื่อสิ่งที่เราเชื่อมั่นเสมอมา
ชีวิตของเจเรมี่ คอร์บิน ทำให้นึกถึงบางประโยคในแสงดาวแห่งศรัทธาที่ จิตร ภูมิศักดิ์ แต่งไว้เมื่อเกือบ 60 ปีก่อน นั่นก็คือคำว่า
“คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”
ช่างเป็นคำที่เหมาะกับชายคนนี้ด้วยประการทั้งปวง