“สมเด็จพระราชินีนาถเสด็จสวรรคตอย่างสงบที่พระตำหนักบัลมอรัลบ่ายวันนี้” พระราชวังบักกิงแฮมประกาศ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. ที่ผ่านมา
สิ้นสุดคำประกาศ ถ้อยคำไว้อาลัยหลั่งไหลมาจากทั้งแผ่นดินสหราชอาณาจักร และแทบทุกมุมโลก …แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่
ที่ผ่านมา มีทั้งชาวอินเดียที่สวนกระแส หันมาทวงคืนเพชร ‘โคอินัวร์’ ที่ตกอยู่ในมือของราชวงศ์อังกฤษ หรือแฟนบอลทีม ‘แชมร็อค โรเวอร์ส’ ชาวไอริช ที่พากันตะโกน “ลิซซี่ลงโลงแล้ว” (“Lizzie’s in a box.”) จนหลายคนมองว่าหยาบคาย และแม้กระทั่งสโมสรก็ออกมาประณาม
ทำไมพวกเขาถึงไม่เศร้า? ประวัติศาสตร์อังกฤษในฐานะเจ้าอาณานิคม อาจจะพออธิบายได้
แม้บางคนจะมองว่า ควีนเอลิซาเบธที่ 2 จะเป็นเพียงราชินีภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีต หรือมีบทบาทแค่เพียงในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น
แต่ “สัญลักษณ์ก็สำคัญ” คาเรน แอตเทียห์ นักเขียนชาวกานา-อเมริกัน เขียนแสดงความเห็น และเมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ จักรวรรดิอังกฤษยังไม่ล่มสลาย ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ก็ต้องกลายเป็น ‘ตัวแทน’ ของอำนาจและความมั่งคั่งของอังกฤษเหนือประเทศในอารักขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
The MATTER ชวนย้อนดูอดีตการเป็นเจ้าอาณานิคมของอังกฤษในพื้นที่ต่างๆ โดยยกตัวอย่างพื้นที่ที่คนแสดงความรู้สึกต่อการจากไปของควีนเอลิซาเบธที่ 2 อย่างเด่นชัด นั่นคือ ไอร์แลนด์ เคนยา และอินเดีย เพื่ออธิบายให้เข้าใจถึงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น
ไอร์แลนด์
ภายหลังการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ผู้นำรัฐบาลของไอร์แลนด์ ทั้งประธานาธิบดี ไมเคิล ดี. ฮิกกินส์ รวมถึงนายกรัฐมนตรี ไมเคิล มาร์ติน ต่างก็ออกมาแสดงความเสียใจกับการจากไป แต่ในระดับประชาชน ความรู้สึกกลับต่างออกไป ซึ่งมีทั้งแฟนบอลไอริชที่ตะโกนเยาะเย้ยกลางสนาม หรือในทวิตเตอร์ ก็มีชาวไอริชมาแชร์มีม หรือกระทั่งวิจารณ์และด่าทออย่างตรงไปตรงมา
นั่นเป็นเพราะสถาบันกษัตริย์อังกฤษ “ไม่ได้เป็นที่นิยมนักในหมู่ประชากรไอริชส่วนใหญ่” แดน มัลฮอลล์ ศาสตราจารย์ด้านไอริชศึกษาจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และอดีตเอกอัครราชทูตไอร์แลนด์ประจำสหราชอาณาจักร กล่าว “แน่นอนว่า มันมีเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลสะเทือนใจเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20”
เหตุการณ์เหล่านั้นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 เมื่อไอร์แลนด์ถูกผู้ปกครองอังกฤษบุกยึดเป็นครั้งแรก แต่จะเริ่มถูกปกครองโดยกษัตริย์อังกฤษจริงๆ ในศตวรรษที่ 16 ก่อนจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1801 ตาม พ.ร.บ.สหภาพ ค.ศ. 1800 (Acts of Union 1800) นับเป็นจุดเริ่มต้นของบาดแผลที่ไอร์แลนด์ต้องเผชิญในฐานะอาณานิคมของอังกฤษ
เหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่ง ที่ยังมีชาวไอริชพูดถึงอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ ทุพภิกขภัยครั้งใหญ่ (The Great Famine) หรือภาวะอาหารขาดแคลนที่มาพร้อมกับโรคระบาดทั่วไอร์แลนด์ ในช่วงปี 1845-1851 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตรวมถึง 1 ล้านคน และอพยพโยกย้ายถิ่นฐานอีกหลายล้านคน
สาเหตุหลักๆ มาจากการปลูกมันฝรั่งที่ล้มเหลวจนทำให้อาหารขาดแคลน แต่ที่น่าสนใจคือ มีหลายคนที่บอกว่า สาเหตุที่แท้จริงน่าจะมาจาก ‘ความตั้งใจ’ ของรัฐบาลอังกฤษมากกว่า มีการรายงานว่า ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ครั้งนั้น การส่งออกอาหารจากไอร์แลนด์ไปอังกฤษ กลับมากขึ้นกว่าปกติมาก มีแม้กระทั่งการย้ายกำลังพลให้มาคุมการส่งออกที่ท่าเรือเมืองกอลเวย์ของไอร์แลนด์
เวลาล่วงเลยมา ขบวนการเรียกร้องเอกราชไอร์แลนด์ก็เสียงดังขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1921 มีการลงนามสนธิสัญญาอังกฤษไอร์แลนด์ หลังเกิดสงครามเพื่ออิสรภาพไอร์แลนด์ (Irish War of Independence) ในช่วงปี 1919-1921
ส่งผลให้ไอร์แลนด์แยกตัวเป็นอิสระ ในชื่อ ‘เสรีรัฐไอริช’ (Irish Free State) แต่ยังอยู่ภายใต้เครือจักรภพ ก่อนที่จะได้รับเอกราชอย่างเต็มตัวเมื่อปี 1937 หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกัน ก็มีการแบ่งไอร์แลนด์เหนือออกมาซึ่งยังอยู่ในการปกครองของสหราชอาณาจักร
ความขัดแย้งไม่มีทางจบง่ายๆ หากแต่ร้าวลึกขึ้นจนกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงที่สำคัญที่สุดในไอร์แลนด์ช่วงศตวรรษที่ 20 นั่นคือสงครามย่อมๆ ที่เรียกว่า ‘The Troubles’ ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ จากกลุ่มคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นับถือนิกายคาทอลิกและเชื่อในการรวมชาติไอร์แลนด์ กับชาวไอร์แลนด์เหนือนิกายโปสเตสแตนต์ที่ยังเคารพในราชวงศ์อังกฤษ
ความขัดแย้งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายกลายเป็นการใช้ความรุนแรงเต็มรูปแบบเมื่อปี 1969 มีการจัดตั้งกองกำลังทางฝั่งชาตินิยมไอร์แลนด์ ที่นำโดย กองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (Irish Republican Army หรือ IRA) ขณะที่อังกฤษก็ส่งกองทัพของตัวเองมาประจำการในพื้นที่
เหตุการณ์สำคัญที่เป็นที่จดจำในช่วงความขัดแย้งครั้งนั้น คือเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘Bloody Sunday’ เมื่อผู้ชุมนุมฝั่งชาตินิยมไอร์แลนด์ราว 15,000 คน ออกมาประท้วงการออกมาตรการห้ามเดินขบวน ที่เมืองเดร์รี เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 1972 แต่กลับถูกกองทัพอังกฤษกราดยิงฝูงชน จนสุดท้ายมีผู้เสียชีวิต 13 รายทันที เสียชีวิตในเวลาต่อมา 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย
ขณะเดียวกัน การนองเลือดครั้งนั้นก็ตามมาด้วยความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อราชวงศ์อังกฤษโดยตรง วันที่ 27 ส.ค. 1979 เรือตากอากาศของ หลุยส์ เมานต์แบตเทน พระมาตุลา (น้าชาย) ของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระ ถูกลอบวางระเบิดอย่างรุนแรง ส่งผลให้พระองค์เสียชีวิตทันที รวมถึงคนอื่นๆ บนเรืออีก 3 คน
ด้านกองกำลัง IRA อ้างความรับผิดชอบต่อการสังหารครั้งนี้ โดยแถลงว่า เป็นการลงมือเพื่อ “ดึงให้ประชาชนอังกฤษมาสนใจต่อการยึดครองประเทศของเราที่ยังดำเนินอยู่ต่อเนื่อง”
ความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นเรื่อยมา ขณะที่กระบวนการเจรจาสันติภาพเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่ในที่สุดอังกฤษและไอร์แลนด์ ก็บรรลุข้อตกลงได้ในวันที่ 10 เม.ย. 1998 เป็นการลงนามที่เรียกว่า ‘Good Friday Agreement’ โดยตกลงกันว่า ไอร์แลนด์เหนือจะยังอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่จะมีรัฐบาลและสภานิติบัญญัติที่ได้รับการถ่ายโอนอำนาจเป็นของตัวเอง
แม้จะสิ้นสุดลง The Troubles ยังคงสร้างบาดแผลในใจให้กับชาวไอริช ตลอดเกือบ 30 ปี นับตั้งแต่ปี 1969-1998 มีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งมากกว่า 3,500 ราย โดยที่มากกว่าครึ่งเป็นพลเรือน
เคนยา
เคนยาเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประชาชนมีปฏิกิริยาที่น่าสนใจต่อการจากไปของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ ‘ระบอบอาณานิคม’
ก่อนหน้านี้ เคนยามาอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษนับตั้งแต่ปี 1895 ในชื่อรัฐอารักขาแอฟริกาตะวันออก (East Africa Protectorate) ก่อนจะแปรสภาพมาเป็นอาณานิคมในพระองค์ (Crown colony) โดยตรง เมื่อปี 1920 โดยมีผู้ปกครอง คือ ผู้สำเร็จราชการ (Governor) และมีประมุข คือ กษัตริย์อังกฤษ
ระหว่างที่เคนยาตกเป็นอาณานิคม อังกฤษก็ถูกกล่าวหาว่าสร้างความเสียหายมากมายให้กับประชากรในพื้นที่ ล่าสุดไม่นานมานี้ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2022 ก็เพิ่งมีชาวเคนยากลุ่มหนึ่งยื่นฟ้องร้องรัฐบาลอังกฤษต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (European Court of Human Rights) เรียกร้องให้มีการสอบสวนและชดใช้อาชญากรรมในสมัยอาณานิคม ซึ่งประกอบไปด้วยการขโมยที่ดิน การทรมาน และการรังแกประชากรท้องถิ่น
ด้านสหประชาชาติ (United Nations) ก็ระบุว่า มีชาวเคนยากว่า 1 ล้านคน ในพื้นที่เคริโช ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เช่น การฆาตกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมายและการขับไล่ออกจากพื้นที่ ตลอดทั้งการปกครองของอังกฤษ ก่อนที่จะสิ้นสุดในปี 1963
แต่เหตุการณ์สำคัญที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวเคนยา และเป็นการนองเลือดครั้งหนึ่งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เคนยา ก็คือการปราบกบฏเมาเมา (Mau Mau rebellion) โดยกองทัพอังกฤษอย่างเหี้ยมโหดในช่วงปี 1952-1960 ไปพร้อมๆ กับการประกาศภาวะฉุกเฉิน
และเป็นเรื่องบังเอิญว่า จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ครั้งนี้ ก็เป็นช่วงที่ตรงกับเมื่อครั้งควีนเอลิซาเบธที่ 2 ทราบข่าวว่าพระองค์จะต้องขึ้นเป็นประมุข ภายหลังการสวรรคตของพระราชบิดา พระเจ้าจอร์จที่ 6 พอดี เมื่อปี 1952 ในขณะที่พระองค์กำลังประทับอยู่ที่เคนยาด้วย
กบฏเมาเมา เป็นการรวมตัวของขบวนการชาตินิยม ที่ก่อตัวในหมู่ชาวเผ่าคิคูยู (Kikuyu) เป็นส่วนใหญ่ ในช่วงทศวรรษ 1950 ซึ่งในขณะนั้นชาวเผ่าคิคูยูก็กลายเป็นคนชายขอบมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่เจ้าอาณานิคมผิวขาวแย่งยึดที่ดินไปจากพวกเขา
ก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งมีการก่อตั้งสหภาพแอฟริกาเคนยา (Kenya African Union หรือ KAU) ซึ่งถือเป็นองค์การทางการเมืองแรกที่ผลักดันเรื่องเอกราช แต่เมื่อชาตินิยมร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ นักเคลื่อนไหวในกลุ่มบางส่วนก็แยกตัวออกมาเพื่อเรียกร้องเอกราชโดยใช้วิธีทางการทหารแทน จนกลายเป็นที่มาของกลุ่มนักรบ ที่ถูกเรียกรวมๆ ว่า กบฏเมาเมา
กบฏเมาเมาเริ่มโจมตีเจ้าอาณานิคมในปี 1952 จนกลายเป็นการปะทะกันอย่างรุนแรง ขณะที่อังกฤษประกาศภาวะฉุกเฉินในเดือน ต.ค. 1952 เพื่อนำกองกำลังเสริมเข้ามาที่เคนยา ในท้ายที่สุด ตัวเลขฝ่ายกบฏที่ถูกสังหารอย่างเป็นทางการมีจำนวนอยู่ที่ 11,000 ราย ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ชาวเคนยา 90,000 ราย ถูกประหารและทรมานในระหว่างการปราบปราม และอีก 160,000 ราย ถูกคุมขังในค่ายกักกัน
เมื่อปี 2013 รัฐบาลอังกฤษก็เพิ่งตกลงชดเชยให้กับชาวเคนยาที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามครั้งดังกล่าว โดยประกาศจะมอบเงินเป็นจำนวนทั้งหมดกว่า 20 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 840 ล้านบาท ให้กับเหยื่อที่มีหลักฐานยืนยันได้ว่าถูกทรมานโดยกองทัพอังกฤษจริง ซึ่งในปี 2013 อังกฤษก็คาดว่ามีจำนวนประมาณ 5,200 คน
อินเดีย
“ในนามของชาวอินเดีย เราต้องการเพชรโคอินัวร์คืน” เพียงไม่กี่นาทีหลังข่าวการสวรรคตของควีนเอลิซาเบธที่ 2 ถูกประกาศอย่างเป็นทางการ เพชรเม็ดยักษ์ขนาด 105.6 กะรัต ที่ตกเป็นของราชวงศ์อังกฤษ ก็กลายเป็นประเด็นบนอินเทอร์เน็ตของอินเดียในทันที
โคอินัวร์ ถูกส่งมอบให้กับสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย หลังจากที่ราชอาณาจักรปัญจาบแพ้สงครามกับอังกฤษ ซึ่งจบด้วยการลงนามในสนธิสัญญาลาฮอร์ (Treaty of Lahore) ในปี 1849 เพื่อมอบเพชรให้กับอังกฤษ ตั้งแต่ก่อนที่อินเดียจะตกเป็นอาณานิคมอย่างเป็นทางการของอังกฤษเสียอีก
ก่อนหน้านั้น อิทธิพลของอังกฤษเริ่มแผ่ขยายเข้ามาในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่มีการก่อตั้ง ‘บริษัทอินเดียตะวันออก’ (East India Company) ในปี 1600 เพื่อดูแลเรื่องการค้าขายและขนย้ายทาสในอินเดีย ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะกลายเป็นผู้ปกครองในทางปฏิบัติของอินเดีย ซึ่งกินระยะเวลาเกือบ 100 ปี ในระหว่างปี 1757-1858 ในท้ายที่สุด อินเดียจะตกเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของราชวงศ์อังกฤษโดยตรง ตั้งแต่ปี 1858 จนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราชเมื่อปี 1947
ในฐานะหนึ่งในอาณานิคมที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ก็ต้องถือว่าอินเดียสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไปอย่างมหาศาล เคยมีงานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอินเดีย อุตสาห์ ปัตไนก์ ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University Press) ระบุว่าในช่วงปี 1765-1938 อินเดียต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจให้อังกฤษเป็นจำนวนถึง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.6 พันล้านล้านบาท
ซึ่งนี่คือการนับตัวเลขแค่ในแง่เศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทอินเดียตะวันออกเข้ามาปกครองอินเดีย และเริ่มเก็บภาษีในอินเดีย โดยที่เงินภาษีจำนวนนี้ก็ย้อนกลับมาเป็นทุนในการซื้อสินค้าจากผู้ผลิตอินเดียเสียเอง เท่ากับว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่อังกฤษแทบจะได้มาฟรีๆ
แต่ในทุกๆ การยึดครอง คงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่า ต้องมีการนองเลือด และเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกยกมาพูดถึงอีกครั้ง คือ การสังหารหมู่ที่จัลเลียนวาลาบักห์ (Jallianwala Bagh massacre) เมื่อปี 1919
จัลเลียนวาลาบักห์ คือสวนที่มีทางออกทางเดียว ตั้งอยู่ในเมืองอมฤตสระ ที่ผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่อย่างน้อย 10,000 คน มารวมตัวกันในช่วงบ่ายวันที่ 13 เม.ย. 1919 เพื่อประท้วงการจับกุมนักเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราช และแสดงความไม่พอใจต่อการบังคับใช้กฎหมายโรวแลตต์ (Rowlatt Acts) ซึ่งกำหนดให้ต่อระยะมาตรการฉุกเฉินที่ใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไปอย่างไม่มีกำหนด
ผลลัพธ์คือ อังกฤษสั่งให้กองทัพกราดยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างเหี้ยมโหด โดยคาดว่ามีผู้เสียชีวิตประมาณ 379 ราย และบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,200 ราย เหตุการณ์นี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนของขบวนการชาตินิยมในอินเดีย ส่งผลให้ มหาตมะ คานธี ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเจ้าอาณานิคม ในแคมเปญที่ชื่อ ‘การไม่ให้ความร่วมมือ’ (Non-cooperation movement) ในช่วงปี 1920-1922 ก่อนที่จะถูกจับกุม
ควีนเอลิซาเบธที่ 2 เอง ก็เคยเสด็จไปที่จัลเลียนวาลาบักห์ ในการเยือนอินเดียครั้งที่ 3 และครั้งสุดท้ายของพระองค์เมื่อปี 1997 ในครั้งนั้น ก็มีความคาดหวังว่ารัฐบาลอังกฤษจะออกมาแถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
“ไม่ใช่ความลับว่า เคยมีเรื่องที่ยากลำบากเกิดขึ้นในอดีตของเรา” ควีนเอลิซาเบธที่ 2 ตรัสในคืนก่อนเสด็จเยือน “จัลเลียนวาลาบักห์ ที่ข้าพเจ้าจะไปเยือนในวันพรุ่งนี้ คือตัวอย่างอันน่าหดหู่ แต่ประวัติศาสตร์ก็ไม่อาจเขียนซ้ำได้ ไม่ว่าเราจะปรารถนาให้เป็นอื่นเพียงใดก็ตาม”
แต่ในท้ายที่สุด ก็ยังไม่เคยมีการกล่าวขอโทษจากรัฐบาลหรือราชวงศ์อังกฤษอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
อ้างอิง