เหมาะสมไหม ที่จะแสดงความเสียใจด้วยภาพการ์ตูน รวมถึงภาพที่ AI-generated?
จากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 หนึ่งในสิ่งที่ตามมาบนโลกออนไลน์ คือการแสดงความเสียใจและไว้อาลัยโดยประชาชนทั่วไปในหลากหลายรูปแบบ
หนึ่งในวิธีการแสดงออก คือการทำรูปประกอบโดยเป็นภาพวาด และภาพที่สร้างขึ้นโดยใช้ AI generate (เป็นการพิมพ์คำสั่ง ที่เรียกว่า prompt และ AI จะสร้างภาพขึ้นมาตามสั่ง) โดยเป็นรูปเด็กนักเรียนนั่งอยู่บนรถบัส ครูจูงมือเด็กนักเรียนอยู่บนฟ้า รถบัสกำลังวิ่งพานักเรียนขึ้นไปบนฟ้า และอีกมากมาย
รูปเหล่านี้ถูกแชร์ไปหลายครั้งบนโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ โดยถ้านับจากฟังก์ชันแชร์ผ่านเทมเพลตบนอินสตาแกรมเพียงอย่างเดียว ก็มีผู้แชร์ไปแล้วมากกว่า 5 แสนครั้ง
ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ที่ว่า การใช้รูปภาพประกอบเช่นนี้อาจมีความไม่เหมาะสม เนื่องจากอาจทำให้คนพบเห็นเกิดความสะเทือนใจได้
The MATTER จึงติดต่อไปพูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ รองโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ว่าการสร้างหรือส่งต่อภาพเช่นนี้มีปัญหาหรือไม่ อย่างไรบ้าง และประชาชนควรแสดงออกซึ่งความเสียใจหรือไว้อาลัยแก่ผู้สูญเสียอย่างไรจึงจะเหมาะสม
นพ.วรตม์ ระบุว่า ภาพที่มีการส่งต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดหรือภาพจาก AI ล้วนเป็นภาพที่กระตุ้นอารมณ์ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ในกลุ่มตัวอย่าง พบว่าเมื่อเห็นภาพเหล่านี้จะทำให้เกิดความโศกเศร้า และหมดหวังมากยิ่งขึ้น
แม้ว่าภาพที่ถูกสร้างขึ้นจะไม่ได้ทำให้ดูหดหู่ แต่เป็นภาพเด็กกำลังยิ้มเดินขึ้นสวรรค์ “มันไม่ได้ช่วยให้การไว้อาลัยนั้นดีขึ้น แต่ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกหกหู่ยิ่งขึ้น ว่าเรากำลังสูญเสียเด็กที่เคยมีความสุขไป” นพ.วรตม์กล่าว
ในคืนวันเกิดเหตุ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้เผยแพร่รูปภาพอินโฟกราฟิกขอความร่วมมือ ระบุข้อความว่า “ขอความร่วมมือเขียนข้อความไว้อาลัยอย่างเหมาะสม
โดย ‘หลีกเลี่ยง’ การวาดภาพประกอบขึ้นมาใหม่หรือสร้างภาพจาก AI ที่จะเร้าอารมณ์ของผู้ที่กำลังโศกเศร้า” ซึ่งเสียงตอบรับจากประชาชนในช่องคอมเมนต์ ก็เป็นไปในทิศทางที่เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ
ดังนั้น นพ.วรตม์ จึงให้คำแนะนำถึงวิธีการแสดงความอาลัยว่า ถ้าหากเห็นภาพที่รุนแรง สะเทือนขวัญ หรือภาพที่ก่อให้เกิดความรู้สึกในทางลบได้ ก็จะต้อง ‘ไม่สร้าง และไม่ส่งต่อ’
แต่ในด้านคำพูด ก็สามารถแสดงออกถึงสิ่งที่รู้สึก กังวลใจ หรือคำไว้อาลัยได้เต็มที่ โดยคำนึงถึงผู้รับสารหรือคนทั่วไปที่อาจมาอ่านว่าจะเป็นข้อความที่ทำให้คนรู้สึกสะเทือนใจมากขึ้นหรือไม่ “เพราะเราเองก็เป็นสื่อประเภทหนึ่ง” นพ.วรตม์กล่าว
และที่สำคัญ คือในช่วงนี้ยังมีการนำเสนอข่าวในเรื่องนี้จำนวนมาก ทั้งผ่านสื่อหลักและบนโลกออนไลน์ จึงอยากให้ประชาชนประเมินจิตใจตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากรับข่าวสารไม่ไหวก็อาจะพักไปก่อน ใน 1 วันอาจติดตามเรื่องนี้สัก 1-2 ครั้งเพื่อรับรู้ข่าวสาร แต่ไม่ควรอ่านคอมเมนต์เพิ่มเติม เพราะอาจมีอารมณ์ร่วมเข้ามาด้วย “และถ้าเราดีแล้ว อย่าลืมประเมินคนรอบข้างด้วย ให้คำแนะนำเขาได้” นพ.วรตม์ทิ้งท้าย
ดังนั้น หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ประชาชนทั่วไปทำได้และควรคำนึงถึง ก็คือการแสดงออกต่อเหตุการณ์ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างเหมาะสม ไตร่ตรองให้รอบด้าน และระมัดระวังมิให้เกิดความรู้