เหตุการณ์ไฟไหม้รถบัสทัศนศึกษาเมื่อวานนี้ (1 ตุลาคม 2567) ได้สร้างคำถามมากมายในสังคมไทย ทั้งเรื่องความปลอดภัยของการทัศนศึกษา ทั้งการเตรียมพร้อมที่ถูกต้องเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ แต่คำถามที่หลายฝ่ายต่างมีเหมือนกันคือ ทำไม ‘ความปลอดภัยบนท้องถนน’ ของประเทศเรา จึงย่ำแย่ลงทุกวัน?
“ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับอย่างต่อเนื่อง ว่ามีสถิติความปลอดภัยทางถนน ที่แย่ที่สุดในเอเชียและแย่ที่สุดในโลก” คือข้อความที่ระบุในงานวิจัย “Their lives don’t matter to politicians”: The necropolitical ecology of Thailand’s dangerous and unequal roads ซึ่งเผยแพร่บนวารสาร Political Geography เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
งานวิจัยดังกล่าวระบุว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ‘สูงที่สุดในอาเซียน’ โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เป็น ‘คนจนในชนบท’ ซึ่งในปี 2562 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน มากกว่า 22,000 คน และในจำนวนนั้น 75–80% เป็นผู้ขับขี่หรือผู้โดยสาร ‘จักรยานยนต์’
ปัจจัยที่ทำให้ความปลอดภัยบนท้องถนนประเทศไทย ‘อันตรายและไม่เท่าเทียม’ ก็มีหลากหลายประการ โดยอาจสรุปได้ดังนี้
1) การออกแบบโครงสร้างถนนแย่ และไม่มีการวางแผน
ผู้เขียนระบุว่า รัฐมีบทบาทสำคัญในการสร้างและออกแบบถนน โดยถนนประเทศไทยส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อ ‘เพิ่มการสัญจร’ และความสะดวกสบายของผู้ใช้ถนน มากกว่าการเพิ่มความปลอดภัย อาจเห็นได้จากโครงการขยายถนน หรือสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญคือ ไทยมีโครงสร้างถนนที่ ‘ละเลยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์’ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ ระบุว่าเป็น ‘เหยื่อ’ ของอุบัติเหตุส่วนใหญ่
นอกจากนี้ การเปิดเสรีเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำเข้าและซื้อรถยนต์ได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง พร้อมกับการหลีกเลี่ยงการจำกัดการใช้รถยนต์ เพื่อความก้าวหน้า ยังเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเป็น ‘เจ้าของ’ รถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในด้านระบบขนส่งสาธารณะ อาจกล่าวได้ว่าประเทศยังคงมีจำกัดที่ชัดเจน โดยเป็นผลมาจากการลงทุนของรัฐฯ ที่ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้คนใช้รถยนต์และมอเตอร์ไซค์มากขึ้น นับเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
2) ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายบนท้องถนน
ประเทศไทยยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ตำรวจจราจรได้รับเงินเดือนน้อยเกินไป โดยพบว่ามีฐานเงินเดือน ‘ระดับต่ำที่สุด’ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเด็นนี้ อาจทำให้ตำรวจจราจร ‘ขาดแรงจูงใจ’ ในการรักษาความปลอดภัยบนท้องถนน และยังมีพฤติกรรมทุจริตอีกด้วย เช่น การพยายามหาวิธีที่จะเรียกสินบนจากผู้ขับขี่อยู่เสมอ
ทั้งนี้การศึกษาพบว่า สำหรับตำรวจไทยนั้น การเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน ‘มีความสำคัญต่ำ’ เมื่อเทียบกับการแก้ไขอาชญากรรม ดังนั้นพวกเขาจึงเน้นการเจรจา เพื่อปิดคดีจราจรให้เร็วที่สุด
3) การให้ความรู้แก่ผู้ขับขี่ไม่เพียงพอ
ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ยังถูกซ้ำเติมด้วยการศึกษาด้านการขับขี่ที่ไม่เพียงพอ โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ระบุว่าในประเทศไทย มีผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำนวนมาก ที่ยังอายุน้อย และไม่มีใบอนุญาตขับขี่ อีกทั้งประเทศไทยไม่มีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหานี้
4) มาตรฐานของรถยนต์
การศึกษายังพบอีกว่า ประเทศไทยมีอุบัติเหตุ จากรถจักรยานยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานจำนวนมาก เช่น กระจกหรือไฟรถที่ใช้งานไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ ในพื้นที่ชนบทใช้รถจักรยานยนต์รุ่นเก่า หรือราคาถูกจำนวนมาก โดยไม่ได้รับการตรวจสอบและควบคุมที่ดีพอ ทำให้เป็นอันตรายมากขึ้น
ในประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Centre for SDG Research and Support หรือ SDG Move) ยังเสริมอีกว่า ‘ความเหลื่อมล้ำทางสังคม’ ยังมีบทบาทสำคัญ ในการทำให้ประชากรไทย ที่มีรายได้และกำลังซื้อน้อย มีเพียงรถจักรยานยนต์ เป็นทางเลือกเดียวในการเดินทางในชีวิตประจำวัน
5) โครงสร้างทางการเมือง
ผู้เขียนระบุว่า ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก ‘การปกครองที่อ่อนแอ’ และกระจัดกระจาย โดยหน่วยงานต่างๆ ไม่ได้ร่วมมือกันแก้ไขปัญา ซ้ำยังมีคำสั่งที่ทับซ้อนกัน ไม่มีหน่วยงานหลักใด ที่ได้รับอำนาจเพียงพอที่จะปรับปรุงโครงสร้างการใช้ถนน
ทั้งนี้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ประชาชนมักตำหนิผู้ขับขี่ มากกว่ารัฐฯ ทำให้ ผู้นำประเทศหรือตัวแสดงทางการเมืองอื่นๆ มุ่งเน้น ‘ผลลัพธ์ที่รวดเร็ว’ มากกว่าให้ความสำคัญกับการแก้ไขที่ ‘ต้นตอปัญหา’
ที่กล่าวมาข้างต้น แม้จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัย แต่ก็เพียงพอที่จะสะท้อนถึงปัญหาบนท้องถนนไทย ที่เราทุกคนต่างพบเจอมาไม่มากก็น้อย ประเด็นที่สำคัญคือ รัฐฯ ‘ต้องถอดบทเรียน’ อย่างเป็นรูปธรรม จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อไม่ให้ใครต้องสูญเสีย จากปัญหาบนท้องถนนที่ล้วนกระทบชีวิตของเราทุกคน อีกต่อไป
อ้างอิงจาก