อดีตนักมวยชาวญี่ปุ่นวัย 88 ปีต้องโทษประหารชีวิตจากคดีฆาตกรรม และใช้ชีวิตอยู่ในคุกแดนประหารมานานกว่า 45 ปี ทว่าสุดท้ายถูกตัดสินว่าไม่มีความผิด ทำให้สังคมเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการตัดสินโทษประหารชีวิตของญี่ปุ่น
ชายคนนี้ชื่อ ‘อิวาโอะ ฮากามาดะ’ (Iwao Hakamada) อดีตนักมวยวัย 88 ปี เคยทำงานในโรงงานแปรรูปมิโสะในปี 1966 และถูกตัดสินประหารชีวิตจากข้อหาปล้นและฆาตกรรมนายจ้างและครอบครัวของนายจ้าง
ช่วงเวลานั้น ฮากามาดะให้การรับสารภาพหลังจากที่ตำรวจสอบปากคำนานกว่า 20 วัน แต่สุดท้ายเขากลับคำรับสารภาพและยอมรับว่าเขาโดนเจ้าหน้าที่สืบสวนทุบตีและข่มขู่เป็นเวลานานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน
หลังจากนั้นประมาณ 1 ปี เจ้าหน้าที่ไปพบหลักฐานสำคัญซึ่งเป็นผ้าเปื้อนเลือดที่ถูกซุกไว้ในถังมิโสะ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้หลักฐานชิ้นนี้มัดตัวฮากามาดะ ทำให้ฮากามาดะเข้าไปรอรับโทษในเรือนจำตั้งแต่ปี 1968
เขาใช้เวลาในเรือนจำพิสูจน์ความบริสุทธิ์อยู่ตลอด ครอบครัวของเขาได้ยื่นอุทธรณ์และขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ โดยบอกว่า DNA ที่พบบนผ้าผืนนั้นไม่ใช่ของเขา และคาดว่าเป็นของคนอื่น ซึ่งเป็นไปได้ว่าเจ้าหน้าจะเป็นคนสร้างหลักฐานชิ้นนี้ขึ้นมาเอง
ซึ่งการยื่นอุทธรณ์ในครั้งนั้น ทำให้ศาลสั่งปล่อยตัวเขาในปี 2014 แม้ว่าจะได้อยู่นอกเรือนจำแล้ว แต่คดีก็ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการ
มิหนำซ้ำ ด้วยกระบวนการที่ล่าช้าทำให้กว่าจะมีการพิจารณาคดีรอบใหม่เกิดขึ้นในปีที่แล้ว (2023)
‘รอยคราบเลือด’ เป็นหลักฐานที่ถูกพูดถึงในการพิจารณาคดีใหม่ ขณะที่ฝั่งอัยการบอกว่าเป็นเลือดของเขา แต่ฝ่ายจำเลยตั้งคำถามถึงการคงอยู่ของคราบเลือดเหล่านั้น ซึ่งยังคงเป็นสีแดงแม้ว่ามันจะถูกแช่อยู่ในเต้าเจี้ยวเป็นเวลานาน ซึ่งหมายความว่าหลักฐานนี้ถูกสร้างขึ้นในภายหลัง
“เจ้าหน้าที่สืบสวนได้สร้างหลักฐาน โดยการนำผ้าที่เปื้อนเลือดไปซ่อนไว้ในถัง” AFP รายงาน และระบุว่า ฮากามาดะเป็นผู้บริสุทธิ์
ที่ผ่านมา การพิจารณาคดีใหม่สำหรับนักโทษประหารชีวิตนั้นเกิดขึ้นไม่บ่อยนักในญี่ปุ่น ซึ่งฮากามาดะเป็นนักโทษประหารคนที่ 5 ที่ได้รับการไต่สวนใหม่ในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นหลังสงคราม
ขณะที่การสำรวจในปี 2019 พบว่าชาวญี่ปุ่นกว่า 80% เห็นด้วยกับการมีอยู่ของโทษประหารชีวิต มีเพียง 9% เท่านั้นที่บอกว่าควรยกเลิก
ด้านเจ้าหน้าที่ Human Rights Watch มองว่ากรณีของฮากามาดะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่นับไม่ถ้วนของระบบยุติธรรมแบบตัวประกันของญี่ปุ่น ที่มักจะโดนข่มขู่และคุกคามตลอดเพื่อให้สารภาพ
นอกจากสหรัฐฯ แล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศเดียวในกลุ่ม G7 ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งการประหารชีวิตในญี่ปุ่นมักจะใช้วิธีการแขวนคอและกระทำอย่างลับๆ ซึ่งนักโทษจะได้รับการแจ้งในเช้าวันประหารชีวิต ขณะที่ครอบครัวของพวกเขาจะได้รับแจ้งหลังจากที่ประหารชีวิตแล้วเท่านั้น
“ในที่สุดผมก็ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์” ฮากามาดะกล่าวด้วยรอยยิ้มหลังจากที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมมาอย่างยาวนาน
อ้างอิงจาก
bbc.com
cbsnews.com
theguardian.com