คิดเหมือนกันไหม? ว่าในโลกปัจจุบันที่การแพทย์และวิทยาศาสตร์พัฒนาอย่างก้าวกระโดด คงทำให้อายุขัยของมนุษย์เพิ่มขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก จนหลายคนมีอายุถึง 100 ปี ได้สบายๆ อย่างไรก็ตามนักวิจัยพบว่า อายุขัยของคนเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ช้าลงอย่างมากในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
ย้อนกลับไปก่อนศตวรรษที่ 20 กล่าวได้ว่าความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขและการแพทย์ ทำให้อายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยบรรดานักวิจัยเคยคาดการณ์ว่า ผู้หญิง 15% และผู้ชาย 5% ในภูมิภาคที่ผู้คนมีอายุมากที่สุด จะมีอายุถึง 100 ปี อีกทั้งทำนายว่าคนส่วนใหญ่ที่เกิดหลังปี 2000 จะมีอายุยืนถึง 100 ปี
อย่างไรก็ตาม เจย์ โอลชานสกี (Jay Olshansky) อาจารย์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ (The University of Illinois) แย้งว่าปัจจุบันอายุขัยของคนอยู่ที่ 85 ปี ซึ่งเขาคาดการณ์ว่าเด็กผู้หญิงที่เกิดเมื่อไม่นานมานี้ มีโอกาสเพียง 5.3% ที่จะมีอายุถึง 100 ปี ในขณะที่เด็กผู้ชายมีโอกาสเพียง 1.8%
ทั้งนี้ในการวิจัย โอลชานสกีได้เจาะลึกสถิติระดับประเทศจากสหรัฐฯ พร้อมกับอีก 9 ภูมิภาคที่ผู้คนมีอายุขับสูงที่สุด ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน และสเปน โดยเน้นที่ช่วงปี 1990 ถึง 2019 และพบว่าอายุขัยคนใน 9 พื้นที่นี้ เพิ่มขึ้นอย่างช้าลงมาก ในขณะที่ผู้คนในสหรัฐฯ มีอายุขัยลดลง
“เกมอายุยืนที่เรากำลังเล่นอยู่ในปัจจุบันนั้น แตกต่างจากเกมอายุยืนเมื่อหนึ่งศตวรรษก่อน ที่ตอนนั้นเรายังช่วยชีวิตทารก เด็ก และผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ความสำเร็จในการเพิ่มอายุขัยนั้นมีมาก แต่ในปัจจุบัน ความสำเร็จนั้นน้อยลงมาก เนื่องจากเรากำลังช่วยชีวิตผู้คนในวัย 60 70 80 และ 90 ปี” โอลชานสกีอธิบายสาเหตุที่อายุขัยคนเพิ่มขึ้นอย่างช้าลง
“การยืดอายุขัยให้ยาวนานขึ้น อาจเป็นอันตรายได้ หากจำนวนปีที่เพิ่มขึ้นเหล่านั้น ไม่ใช่ปีที่มีสุขภาพดี” โอลชานสกีกล่าวพร้อมชี้ว่า แทนที่เราจะสนใจอายุขัยว่ามากหรือน้อยนั้น เราควรสนใจสุขภาพมากกว่า เพราะหากเราเจ็บป่วย อายุขัยที่เพิ่มขึ้นอาจเป็นแค่การประคองชีวิต มากกว่าการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
อ้างอิงจาก