ทุกๆ ปี ชาวเกาหลีใต้หลายพันคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายวัยกลางคน เสียชีวิตอย่างเงียบๆ และโดดเดี่ยว โดยถูกตัดขาดจากครอบครัวและเพื่อนฝูง โดยบางครั้งอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าจะพบศพของพวกเขา
นี่คือภาวะ ‘การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยว’ ที่คนเกาหลีใต้กำลังเผชิญ ซึ่งเรียกกันว่า ‘โกดกซา’ (godoksa) ในภาษาเกาหลี เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความโดดเดี่ยวและความโดดเดี่ยวที่กระจายไปทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข
ในกรุงโซล เจ้าหน้าที่เมืองเพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์นี้ว่าจะทุ่มงบประมาณ 451,300 ล้านวอน (ประมาณ 10,900 ล้านบาท) ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อสร้าง ‘เมืองที่ไม่มีใครต้องโดดเดี่ยว’
แผนนี้รวมถึงการมีสายด่วนที่ปรึกษาด้านความโดดเดี่ยวตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีแพลตฟอร์มออนไลน์ให้คำปรึกษา และมีมาตรการติดตามผล เช่น การเยี่ยมและให้คำปรึกษาแบบพบหน้ากัน
“ความเหงาและความโดดเดี่ยวไม่ใช่ปัญหาเฉพาะบุคคล แต่เป็นงานที่สังคมต้องร่วมกันแก้ไข” นายกเทศมนตรีกรุงโซล โอ เซฮุน (Oh Se-hoon) กล่าวในข่าวประชาสัมพันธ์ โดยระบุว่าเมืองจะระดมกำลังคนในเขตเทศบาลทั้งหมดเพื่อช่วยให้ผู้คนที่เหงาได้เยียวยาและกลับคืนสู่สังคม
นอกจากนี้ เมืองยังวางแผนที่จะขยายบริการด้านจิตวิทยาและพื้นที่สีเขียว แผนการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับผู้อยู่อาศัยวัยกลางคนและผู้สูงอายุ สร้างระบบค้นหาเฉพาะ เพื่อระบุผู้อยู่อาศัยที่ถูกแยกตัวออกไปที่ต้องการความช่วยเหลือ และจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้ผู้คนออกไปข้างนอกและเชื่อมโยงกับผู้อื่น เช่น ทำสวน เล่นกีฬา อ่านหนังสือ และอื่นๆ
ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นว่ามาตราการดังกล่าวถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมอีก เพราะ ‘ความเหงา’ ในเกาหลี มีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมเกาหลีบางส่วนที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่เกาหลีใต้เท่านั้นที่เผชิญปัญหาความโดดเดี่ยว แต่ยังมีประเทศอื่นๆ อีกด้วย เช่น ปรากฏการณ์ที่คนหนุ่มสาวแยกตัวออกจากโลกภายนอกและใช้ชีวิตโดดเดี่ยวที่บ้านเป็นเวลานานหลายเดือน ซึ่งเรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘ฮิคิโคโมริ’ (hikikomori) โดยเกาหลีใต้มีผู้โดดเดี่ยวมากถึง 244,000 รายในปี 2022 ตามการประมาณการ
จำนวนผู้เสียชีวิตจากความโดดเดี่ยวยังเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเพิ่มขึ้นเป็น 3,661 รายในปี 2023 จาก 3,559 รายในปี 2022 และ 3,378 รายในปี 2021 ตามตัวเลขล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งในอดีต การเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวนิยามถึงผู้ที่เสียชีวิตและกว่าจะค้นพบก็ใช้ระยะเวลาหนึ่ง แต่ปัจจุบันศัพท์ใช้กับผู้ที่โดดเดี่ยวทางสังคม ถูกตัดขาดจากครอบครัวหรือญาติ และเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายหรือเจ็บป่วย
ปัจจัยหนึ่งอาจมาจากวิกฤตประชากรของประเทศ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เกาหลีใต้มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าการเกิดอย่างสม่ำเสมอ สะท้อนวิกฤตสังคมผู้สูงอายุ
อัน ซู-จอง (An Soo-jung) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยมยองจี อธิบายว่า แม้ความเหงาจะไม่ได้เกิดแค่ในเกาหลีใต้ แต่หากเปรียบเทียบประเทศอื่นๆ ก็มีปัจจัยบางอย่างที่ต่างออกไป “ในเกาหลี ผู้คนบอกว่าพวกเขารู้สึกเหงามากเมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอหรือไม่มีจุดมุ่งหมายในชีวิต” อัน กล่าว
การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังระบุถึงปัจจัยอื่นๆ เช่น จำนวนครัวเรือนที่มีบุคคลเดียวเพิ่มขึ้น การลดลงของปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนอกเหนือจากงานและครอบครัว การครอบงำของโซเชียลมีเดียและวิธีที่โซเชียลมีเดียส่งเสริมความรู้สึกว่า ‘ไม่ดีพอ’ และวัฒนธรรมการแข่งขันที่ ‘มุ่งเน้นความสำเร็จ’ ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นแรงผลักดันความรู้สึกโดดเดี่ยวในกลุ่มคนที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายของตนเองได้
ทางการเกาหลีใต้ได้ริเริ่มโครงการต่างๆ มากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ รวมถึงพระราชบัญญัติป้องกันและจัดการความตายโดยลำพัง ซึ่งสั่งให้รัฐบาลจัดทำแผนป้องกันที่ครอบคลุมและรายงานสถานการณ์ทุก 5 ปี
และในปี 2023 รัฐบาลได้ผ่านกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อให้เยาวชนที่โดดเดี่ยวบางคนมีสิทธิได้รับการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงค่าครองชีพสูงสุด 650,000 วอน (ประมาณ 15,800 บาท) ต่อเดือน เพื่อช่วยให้พวกเขากลับเข้าสู่สังคมได้อีกครั้ง
วิกฤตความโดดเดี่ยวที่แพร่กระจายไปในหลายประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ตอนนี้เกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา และปัจจัยใดกันแน่ที่ภาครัฐควรเร่งแก้ไข เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
อ้างอิงจาก