เรื่องราวของเภสัชกรรายหนึ่งที่แบกรับแรงกดดันจากที่ทำงาน จนตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง ได้ถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดียเมื่อวันก่อน จนเกิดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ ทั้งข้อความจากหัวหน้างานที่เภสัชกรรายนี้ได้รับ และข้อความสุดท้ายที่เภสัชรายนี้ทิ้งไว้ให้กับคนที่รักและครอบครัว
ในข้อความสุดท้ายเภสัชกรรายนี้เล่าถึงความเหนื่อยล้าในการทำงาน และการไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้าที่คอยกดดันให้ลาออก
ล่าสุดช่วงเช้าของวันนี้ (31 ตุลาคม) โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ออกแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ดังกล่าว โดยระบุขอแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของบุคลากรในโรงพยาบาล และยืนยันถึงความรับผิดชอบและจะดำเนินไปตามขั้นตอนอย่างยุติธรรม
เรื่องราวนี้ทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความสำคัญของสุขภาพจิตในที่ทำงาน รวมถึงสุขภาพจิตของบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานบริการคนไข้ ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่าสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษส่งผลกระทบต่อจิตใจของพนักงานอย่างรุนแรงเพียงใด
เหตุการณ์นี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงความหนักหนาของภาระบนบ่าที่เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญ ซึ่งข่าวการสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์ในวันนี้ไม่ใช่ ‘ครั้งแรก’ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ย้อนกลับไปในปี 2021 เคยมีข่าวบุคลากรทางการแพทย์รายหนึ่งที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเนื่องจากภาระงาน และความเครียดในการทำงาน อีกทั้งยังมีกรณีของกลุ่มนักศึกษาแพทย์ที่เคยออกมาพูดถึงสังคมการทำงานที่เป็นพิษ และภาระงานที่หนักเกินไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ความสูญเสียนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทยเท่านั้น เมื่อปีที่แล้วแพทย์ญี่ปุ่นวัย 26 ปีตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเนื่องจากทำงานหนักมากเกินไป และครอบครัวของเขาได้ออกมาตั้งคำถามถึงปัญหาที่เกิดจากวัฒนธรรมการทำงานหนักที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ซึ่งนำไปสู่การจบชีวิตของแพทย์รายนี้
เมื่อขยับออกมามองภาพรวมในมุมที่กว้างขึ้น ‘สหรัฐฯ’ เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการจบชีวิตตัวเองของประชากรแพทย์สูงจนน่าตกใจ สถิติจากปี 2018 โดย medscape แสดงให้เห็นว่า อัตราการจบชีวิตตัวเองในกลุ่มแพทย์ สูงกว่ากลุ่มประชากรทั่วไปถึง 2 เท่า โดยแพทย์ในสหรัฐฯ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองเฉลี่ยแล้ววันละ 1 คน และแพทย์ในบางสาขาวิชาชีพมีอัตราจบชีวิตตัวเองสูงที่สุดในสหรัฐฯ ด้วย
ดร.ดีปิกา ทันวาร์ ผู้ทำการศึกษาแผนกจิตเวชในนิวยอร์ก บอกกับ Medscape ว่า แพทย์ที่จบชีวิตตัวเองมักมีอาการซึมเศร้าหรือโรคทางจิตอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการรักษา หรือรักษาไม่เพียงพอ ซึ่งน่าแปลกใจมากที่อัตราการเสียชีวิตในหมู่แพทย์นั้นสูงกว่าคนที่ทำงานในกองทัพซึ่งเป็นงานที่มีความเครียดมากกว่า
กลับมามองที่สังคมไทย มีข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตของไทย ที่ชี้ให้เห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์หลายคนเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตจากการทำงานหนัก ด้วยภาระงบประมาณ ความอ่อนล้าทางกายและใจ และการขาดแคลนบุคลากรทำให้แพทย์หลายคนต้องทำงานเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้หยุดพัก
กรมสุขภาพจิตได้เสนอการแก้ปัญหาโดยการให้เพิ่มจำนวนบุคลากรให้เพียงพอต่อจำนวนคนไข้ รวมถึงสนับสนุนการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ค่าดูแลรักษาจิตใจ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรได้พักผ่อนอย่างเพียงพอด้วย
จากเหตุการณ์นี้ทำให้สังคมส่วนหนึ่งได้ตระหนักว่ายังมีบุคลากรและนักศึกษาแพทย์อีกหลายรายที่ยังเผชิญกับความกดดันทางสังคมในที่ทำงาน และภาระงานที่หนักอึ้ง จนนำไปสู่การจบชีวิตตัวเองลงเช่นกรณีดังกล่าว ซึ่งทางครอบครัวของผู้เสียชีวิตหวังว่าเหตุการณ์นี้จะเป็นอุทาหรณ์สำหรับทุกคนต่อไป
อ้างอิงจาก