ทำงานหนักไม่เคยทำร้ายใครจริงหรือ? เมื่อครอบครัวชาวญี่ปุ่นออกมาแชร์เรื่องราวของลูกชายที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเอง หลังทำงานล่วงเวลา (OT) มากกว่า 200 ชั่วโมงต่อเดือนหรือตีเป็นทำงานเพิ่มอีก 7 ชั่วโมงต่อวัน
เมื่อไม่นานมานี้ ครอบครัวของชินโก ทาคาชิมะ (Shingo Takashima) แพทย์วัย 26 ปีที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว พยายามร้องขอให้สังคมญี่ปุ่นหันมาสนใจปัญหาจากวัฒนธรรมการทำงานหนักที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน เพราะพวกเขาเชื่อว่าชินโกน่าจะเครียดสะสมจากการทำงานหนักเกิน 10 ชั่วโมงต่อวันจนนำไปสู่การปลิดชีพตัวเอง
โดยทนายความของครอบครัวระบุว่า “ก่อนที่ชินโกจะเสียชีวิต เขาทำงานล่วงเวลามากกว่า 207 ชั่วโมงต่อเดือนและยังไม่มีวันหยุดเลยเป็นเวลาตลอด 3 เดือน” อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นต่อสู้กับวัฒนธรรมการทำงานหนักมาเป็นเวลานาน โดยพนักงานในภาคส่วนต่างๆ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาประสบกับความเครียดที่เกิดจากการทำงานหนัก ความกดดันสูงจากหัวหน้างาน และระบบอาวุโสในที่ทำงานล้วนสร้างผลกระทบทางจิตใจแก่พวกเขา
จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘คาโรชิ’ หรือการเสียชีวิตจากการทำงานหนัก ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากการทำงานที่มากเกินไปในประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การรณรงค์หรือกฎหมายดังกล่าวยังไม่ค่อยมีผลมากนัก “ก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายเขาบอกกับฉันอยู่เสมอว่า ‘ไม่มีใครสนใจผม’ ดังนั้น ฉันคิดว่าสิ่งที่เขาประสบอยู่เกินกว่าที่เขาจะทนไหว” จุนโกะ ทาคาชิมะ (Junko Takashima) แม่ของชินโกกล่าว
เธอยังเสริมอีกว่า “ลูกชายของฉันจะไม่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยหรือช่วยเหลือสังคมอีกต่อไปแล้ว ..อย่างไรก็ตาม ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานของแพทย์จะดีขึ้นหลังจากนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่คล้ายกันอีกในอนาคต”
อย่างไรก็ดี ศูนย์การแพทย์โคนันได้โต้กลับว่า “บ่อยครั้งที่แพทย์สามารถพักและนอนหลับตามความต้องการของพวกเขาได้ ดังนั้น จึงไม่สามารถการันตีจำนวนเวลาที่พวกเขาทำงานได้อย่างแน่ชัด ..ทำให้เราไม่สามารถยอมรับว่ากรณีนี้เป็นการทำงานล่วงเวลา นอกจากนี้ เราจะหยุดแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว”
ทั้งนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีข่าวแรงงานชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตจากการทำงานหนักเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานเกี่ยวกับด้านสุขภาพ การศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2016 พบว่าแพทย์ในโรงพยาบาลมากกว่า 1 ใน 4 ทำงานมากถึง 60 ชั่วโมง ในขณะที่ 5% ทำงานมากถึง 90 ชั่วโมง และ 2.3% ทำงานมากถึง 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และพบว่าแพทย์มากกว่า 34% ต้องทำงานล่วงเวลาในระดับที่เกินขีดจำกัดสูงสุดถึง 960 ชั่วโมงต่อปี
อ้างอิงจาก