ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เรามักจะได้ยินศัพท์แสลงจากเด็กเจนอัลฟ่า (Gen Alpha) มากมายตั้งแต่เฟล็ค (Flex), ริช (Rizz) ไปจนถึงสกิบีดี (Skibidi) ซึ่งการถือกำเนิดของคำศัพท์เหล่านี้ก็ดูท่าจะยังไม่มีที่สิ้นสุด!
ล่าสุดคำว่า ‘แชท – (Chat)’ กลายเป็นอีกคำแสลงที่เกิดขึ้นในหมู่เด็กวัยรุ่น ที่สามารถพูดกับใครในสถานการณ์ใดก็ได้ คำว่าแชท เป็นทั้งเอกพจน์และพหูพจน์ เป็นทั้งบุคคลที่สองและที่สาม คำนี้ถือกำเนิดมาจากโซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์อย่าง Twitch และ Discord ที่สตรีมเมอร์ใช้คุยกับผู้สนับสนุนโดยจะเรียกพวกเขาว่า ‘แชท’ แต่ในปัจจุบันมันถูกนำมาใช้ทั่วไป ในบริบทใดก็ได้
ย้อนกลับไปในปี 2023 ‘แชท’ ได้รับความนิยมในหมู่เกมเมอร์อย่าง iShowSpeed ที่สร้างคอนเทนต์ขอให้ผู้ติดตามแชร์คอนเทนต์หรือเนื้อหาที่ถูกสร้างโดย AI ระหว่างกำลังทำการสตรีม จนเกิดเป็นวลี ‘Chat is this real? – แชท นี่เรื่องจริงเหรอ/เอาจริงเหรอ?’
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน ก่อนหน้านี้คำว่า ‘Ohio – โอไฮโอ’ เป็นอีกคำที่เอาไว้ใช้เรียกสิ่งแปลกๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่เด็กเจนอัลฟ่า
อาจารย์สังคมภาษาศาสตร์ที่ CUNY Graduate Center บอกกับเว็บไซต์ Slate ว่า คำแสลงมักจะช่วยพัฒนาความรู้สึก และการเข้าสังคมในหมู่เพื่อนได้ นอกจากนี้คำศัพท์ใหม่ๆ เช่นคำว่า แชท ยังสื่อถึงบรรทัดฐานทางวัฒนธรรมที่หล่อหลอมคนรุ่นใหม่ด้วย โดยอาจารย์คนนี้คิดว่า สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้คุณค่ากับการมีส่วนร่วมกับการพูดคุยกันในแบบกลุ่ม
นอกจากนี้ Peralta ยังบอกอีกว่า ได้สังเกตุเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่นักเรียน โดยทั้งไหวพริบ อารมณ์ขัน และบุคลิกภาพจะผสมปนเปไปตามใครก็ตามที่มีอิทธิพลมากๆ เช่น ได้ยอดไลก์สูงสุด และไม่ใช่เรื่องใหม่ที่พวกเขาต่อสู้กันเพื่อให้ได้รับความนิยมบนอินเตอร์เน็ต และพูดสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่อกันเพื่อให้ได้มาเพื่อสิ่งเหล่านั้น
ก่อนหน้านี้เคยมีบทความจาก The New York Times ที่พูดถึงความเปลี่ยนแปลงเชิงภาษาในแต่ละช่วงวัยว่า ถึงแม้ศัพท์แสลงจะเกิดขึ้นได้เรื่อยๆ เป็นสิ่งปกติของภาษาอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลังๆ มานี้ โซเชียลมีเดียถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดศัพท์แสลงได้ง่ายขึ้น ทั้งในแง่ศัพท์ที่ถูกใช้ในโซเชียลมีเดียเอง รวมถึงการที่โซเชียลมีเดียได้กลายเป็นช่องทางที่ทำให้ศัพท์เหล่านั้นได้รับความนิยมมากขึ้น
อ้างอิงจาก
nytimes.com